บทความและรูปภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์ 10 มิถุนายน 2548
สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา พื้นที่ปริศนาที่วัตถุเฉียดใกล้หายไปอย่างลึกลับ
เมตาเรลิเจียน/วิกิพิเดีย-ความลึกลับของ “สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา” ยังคงเป็นที่กล่าวถึงในความ “อาถรรพ์” จากการหายไปอย่างลึกลับของเรือเดินสมุทร เครื่องบินหรือแม้แต่เรือพายขนาดเล็ก ที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ข้อสงสัยเกี่ยวกับ “สามเหลี่ยมปีศาจ” นี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายให้วิทยาศาสตร์หา “คำตอบ” เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถหาคำอธิบายได้
สามเหลี่ยมเบอร์มิวดาเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมในทะเลซึ่งมีเนื้อที่ 1.5 ล้านตารางไมล์ กินพื้นที่เบอร์มิวดาซึ่งเป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือไล่ไปยังฟลอริดาถึงเปอร์โตริโก พื้นที่แห่งปริศนานี้ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2493 โดย อี วี ดับเบิลยู โจนส์ (E.V.W.Jones) ที่เล่าถึงการหายไปอย่างลึกลับของเรือและเครื่องบินหลายลำ ผ่านการเผยแพร่ในข่าวล้อมกรอบของเอพี พร้อมกับขนานนามพื้นที่สามเหลี่ยมลึกลับนี้ให้เป็น “ทะเลของปีศาจ”
ปริศนาของสามเหลี่ยมลึกลับถูกกระพือด้วยแรงหนังสือ
หลังจากนั้นก็มีการรายงานถึงปริศนาของการหายไปในพื้นที่สามเหลี่ยมนี้อีกหลายครั้ง จนกระทั่ง พ.ศ.2517 ชารลส์ เบอร์ลิตซ์ (Charles Berlitz) ได้เขียนหนังสือเรื่อง “สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา” (the Bermuda Triangle) ซึ่งเป็นหนังสือขายดีติดอันดับ “เบสต์เซลเลอร์” (Best-seller) ทำให้สามเหลี่ยมปีศาจนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และ “เที่ยวบินที่ 19” (Flight 19) อันเป็นเที่ยวบินฝึกหัดทิ้งระเบิดของทหารอากาศสหรัฐ (U.S. Navy aircraft) ก็ได้กลายเป็นการหายไปที่โด่งดังที่สุด
เส้นแดงคือเส้นอะกอนิกที่มีจุดปลายอยู่ที่ทิศเหนือแม่เหล็กและใต้แม่เหล็ก ซึ่งอำนาจของสนามแม่เหล็กจะเบนให้เข็มทิศชี้ไปยังเกาะปรินซ์ออฟเวลส์ของแคนาดา
ภายในเที่ยวบินที่ 19 มีลูกเรือ 5 คน ซึ่งมีเพียงผู้บังคับการเพียงคนเดียวที่ไม่ใช่นักบินฝึกหัด พวกเขาเริ่มบินจากเมืองฟอร์ท ลอเดอร์เดล (Ft. Lauderdale) ของฟลอริดาในเวลาประมาณบ่าย 2 ของวันที่ 5 ธ.ค.2488 ซึ่งจากการสื่อสารทางวิทยุผู้บังคับการแจ้งว่าเข็มทิศไม่ทำงานและเชื่อว่าฝูงบินกำลังอยู่เหนือหมู่เกาะเล็กๆ ที่น่าจะเป็นฟลอริดา คีย์ (Florida Keys) นั่นหมายความว่าฝูงบินได้ห่างจุดหมายออกไปทางทิศตะวันตก โดยเขาคิดว่ากำลังนำฝูงบินไปยังฟลอริดามุ่งสู่ทิศเหนือ บัดนั้นสภาพอากาศก็ยิ่งเลวร้ายและการติดต่อก็ขาดหายไปเป็นช่วงๆ จากนั้นลูกเรือทั้ง 5 คนก็สาบสูญไป
ทั้งนี้เบอร์ลิตซ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าฝูงบินของเที่ยวบินทิ้งระเบิดเหล่านั้นถูกออกแบบให้ลอยน้ำได้เป็นเวลานาน ดังนั้นน่าจะพบพวกเขาในวันถัดมาซึ่งมีรายงานว่าเป็นวันที่ทะเลสงบ แต่ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่าเรือบินทิ้งระเบิดไม่อาจทนต่อสภาพทารุณของทะเลได้ ขณะเดียวกันเรือบินของหน่วยกู้ภัยและค้นหาที่พยายามตามหาพวกเขาโดยได้พยายามหาทั้งคืนของวันนั้นแต่ก็คว้าน้ำเหลว โดยทีมเรือบินค้นหาที่ชื่อ “มาร์ติน มารินเนอร์” (Martin Mariner) ซึ่งมีอยู่ 2 ลำ ก็มีลำหนึ่งหายไปอีก ส่วนอีกลำสามารถไปถึงยังเป้าหมายตามกำหนด
พร้อมกันนี้ความลึกลับของทีมค้นหาที่สาบสูญไปก็สร้างความสงสัยให้กับคนทั่วไปอีกไม่น้อย และเจ้าเรือบินดังกล่าวที่ถูกขนานนามว่า “ระเบิดบินได้” หรือ “ถังแก๊สบินได้” ก็ดูเหมือนจะระเบิดไประหว่างปฏิบัติภารกิจ โดยมีพยานรู้เห็นที่เป็นลูกเรือของเรือพาณิชย์ที่อ้างว่าพวกเขาเห็นการระเบิดกลางอากาศและได้ล่องผ่านซากที่พวกเขาคิดว่าน่าจะเป็นถังน้ำมันและเศษเครื่องบิน ความน่าสงสัยยิ่งเพิ่มเข้าไปอีกเมื่อรายงานของราชการทหารได้บันทึกถึงอุบัติเหตุครั้งนั้นว่าเป็น “สาเหตุหรือเหตุผลที่ไม่ทราบ”
สรรหาคำตอบมาไขความเร้นลับ
คนอ่านซึ่งเป็นแฟนๆ ของเบอร์ลิตซ์ต่างสรรหาคำอธิบายมากมายเพื่อจะให้คำตอบว่าทำไมเรือหรือยานบินต่างๆ จึงได้หายไปอย่างลึกลับ บ้างก็ว่าพายุได้พัดพาให้วัตถุใดๆ ที่เข้าใกล้จมหายไป บ้างก็ว่ามีการลำเลียงวัตถุที่เฉียดเข้าพื้นที่สามเหลี่ยมนี้ด้วยเทคโนโลยีจากนอกโลก บ้างก็สันนิษฐานว่าการคมนาคมที่หนาแน่นเกินไปทำให้เกิดอุบัติเหตุได้มาก หรือบางคนก็คิดไปไกลว่าสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาเป็นช่องทางที่ไปถึงอาณาจักรแอตแลนติสที่สูญหายไป และอีกหลายๆ เหตุผลทั้งปรากฏการณ์ธรรมชาติและเหนือธรรมชาติอีกมากมาย
จุดแดงในรูปคือจุดที่แสดงทิศเหนือจริง และทิศเหนือแม่เหล็กอยู่ห่างออกมาทางทิศใต้ของทิศเหนือจริง 1,500 ไมล์ และเส้นสีแดงคือเส้นอะกอนิกที่พุ่งไปทิศใต้แม่เหล็กยังทวีปแอนตาร์กติกา ขณะที่ชายฝั่งของฟลอริดาขั้วโลกเหนือและขั้วแม่เหล็กเหนือจะอยู่ในเส้นเดียวกัน เพราะทิศเหนือแม่เหล็กจะชี้จากขั้วเหนือและใต้จริงๆ ที่นี่
ท่ามกลางการสรรหาทฤษฎีมาแก้ปมปริศนานี้ ดูเหมือนว่าการใช้ทฤษฎีการผันแปรแม่เหล็กโลก (Magnetic Variation Theory) อธิบายความเร้นลับจะเป็นของ “เก๊” มากที่สุด โดยทฤษฎีดังกล่าวไม่มีใครรู้จักมาก่อน จนกระทั่งเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมายามชายฝั่งได้เขียนเป็นจดหมายน้อยๆ ที่ด่วนสรุปโดยไม่ได้ไตร่ตรองถึงความถูกต้อง และทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อีกทั้งการที่พวกเขาใส่ชื่อตัวเองลงไปยิ่งทำให้ความน่าเชื่อของทฤษฎีลดลงไปอีก ดูกันว่าพวกเขาอธิบายไว้ว่าอย่างไร
ทฤษฎีเข็มทิศผิดเพี้ยน บิดเบี้ยวไปจากความจริง
เข็มทิศไม่ว่าอยู่ที่ใดบนโลก็จะเบนเข็มไปยังแคนาดาไม่ใช่ทิศเหนือจริงที่พิจารณาจะเส้นลองติจูด
“ทฤษฎีอันนับไม่ถ้วนที่พยายามอธิบายการหายไปนั้นถูกประเคนให้กับพื้นที่ตลอดประวัติศาสตร์ แต่ที่ถูกต้องมากที่สุดดูจะเป็นความผิดปกติของสิ่งแวดล้อมและความผิดพลาดของมนุษย์ การหายไปส่วนใหญ่เชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะลักษณะทางสิ่งแวดล้อมที่ผิดไปจากพื้นที่อื่นในโลก อย่างแรก “สามเหลี่ยมปีศาจ” เป็น 1 ใน 2 ของสถานที่ซึ่งเข็มทิศไม่ได้ชี้ไปทางทิศเหนือจริงๆ ทั้งที่ปกติมันต้องชี้ไปทางทิศแม่เหล็กเหนือ”
“ความแตกต่างระหว่าง 2 จุดนี้รู้จักกันดีคือการผันแปรของเข็มทิศ (Compass Variation) ซึ่งจะทำให้คลาดเคลื่อนไปไกลถึง 20 องศาเมื่อเดินทางรอบโลกทุกๆ 1 องศา และถ้าการเปลี่ยนแปลงของเข็มทิศหรือความคลาดเคลื่อนนี้ไม่ได้รับการแก้ไข ผู้เดินเรือจะพบตัวเองห่างจากเส้นทางไปไกลโข”
คำกล่าวข้างต้นนี้อ้างเหตุผลโดยผิดหลักอย่างมาก เราคงต้องมาทำความเข้าใจถึงการผันแปรของแม่เหล็กโลกหรือเข็มทิศกันใหม่เพราะหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจ การเปลี่ยนแปลงของเข็มทิศไม่ได้หมายความว่าเข็มทิศจะชี้ไปผิดทิศผิดทางเพราะอย่างไรเสียเข็มทิศก็ชี้ไปยังทิศเหนือแม่เหล็กวันยังค่ำ ปัญหาของเรื่องนี้คือทิศเหนือแม่เหล็กไม่ได้อยู่ที่ขั้วโลกเหนือแต่อยู่ห่างออกไป 1,500 ไมล์
หากมุ่งตามเข็มทิศ จุดหมายก็จะอยู่ที่แคนาดาหาใช่กรีนแลนด์
เปรียบเทียบเข็มทิศในด้านขวาคือภาพเข็มทิศในจินตนาการของเรา แต่เอาเข้าจริงๆ ทิศเหนือจากเข็มทิศจะเบนไป 20 องศาหากพิจารณาที่เกาะอะซอร์ในบริเวณสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ดังรูปเข็มทิศด้านซ้าย
ถ้าตราบใดที่เรายังใช้เข็มทิศเป็นตัวบอกทิศตราบนั้นเข็มทิศก็จะเบนเข็มไปยังทิศเหนือของโลกที่ เกาะปรินซ์ออฟเวลส์ (Prince of Wales) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคนาดา โดยสนามแม่เหล็กของโลกสามารถเปรียบเทียบได้กับเส้นแม่เหล็กที่วิ่งผ่านโลกจากเหนือไปใต้ ซึ่งจุดปลายของเส้นแม่เหล็กทั้งสองด้านคือทิศเหนือแม่เหล็กเหนือและทิศใต้แม่เหล็ก ทั้งนี้ตัวเส้นแม่เหล็กเองเป็นแกนซึ่งทางธรณีฟิสิกส์เรียกว่า “เส้นอะกอนิก” (Agonic Line)
ดังนั้นขั้วโลกเหนือในทางภูมิศาสตร์ที่เราหลงเข้าใจกันว่าเป็นขั้วเหนือจริงๆ จึงมิได้เป็นจุดที่เข็มทิศชี้ไปแต่อย่างใด และจุด N ที่เข็มทิศชี้ไปก็ไม่ได้หมายความว่าจะนำทางเราไปยังขั้วโลกเหนือ แต่จะนำเราไปยังเกาะปรินซ์ออฟเวลส์ของแคนาดาต่างหาก และถ้าความจริงว่าทิศแม่เหล็กเหนือนั้นไม่ได้อยู่ห่างจากขั้วโลกเหนือไปไกล 1,500 ไมล์ ก็จะไม่สร้างปัญหาทำให้นักเดินทางต้องสับสนเลย
ต้องรู้องศาที่แตกต่าง จึงจะเดินทางถึงขั้วโลกเหนือ
การจะแก้ความคลาดเคลื่อนนี้นักเดินทางจะต้องรู้ความแตกต่างขององศาระหว่างทิศเหนือแม่เหล็กที่แม่เหล็กชี้ไปกับและทิศเหนือจริงที่พิจารณาจากจุดปลายของเส้นลองติจูด ยกตัวอย่างเช่นที่เกาะอะซอร์ส (Azores Island) มีความแตกต่างกัน 20 องศาระหว่างทิศเหนือแม่เหล็กและทิศเหนือจริง ซึ่งเราจะไม่สามารถเดินตาม N ในเข็มทิศได้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นปลายทางของเราจะไปจบที่แคนาดาแทนที่จะเป็นกรีนแลนด์ โดยเราจะมุ่งหน้าไปยังทิศที่ต่างออกไป 20 องศาสู่ทิศเหนือจริง
การหายไปของเรือบิน “มาร์ติน มารินเนอร์” ที่ตามหาฝูงบินที่ 19 ก็ยังคงเป็นปริศนาอีกเช่นกัน
นั่นคือความหมายของการผันแปรของเข็มทิศหรืออธิบายได้ว่าความแตกต่างระหว่างขั้วโลกเหนือกับขั้วเหนือแม่เหล็กนั้นขึ้นอยู่ที่ตั้งของแต่ละสถานที่ และเป็นเหตุผลว่าสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาก็ไม่มีทิศที่ผิดที่ผิดทางแตกต่างไปจากส่วนอื่นๆ ของโลก เพราะเข็มทิศก็ชี้ไปยังทิศแม่เหล็กเหนือไม่ใช่ขั้วโลกเหนือเหมือนกันหมดทั่วโลก
ส่วนสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาจะมีอาถรรพ์จริงหรือไม่ ก็คงต้องรอการพิสูจน์และหลักฐานที่เชื่อถือได้ต่อไป