marinerthai

คืนนั้นที่ “ฐานทัพยักษ์ลอยน้ำ”ในอ่าวไทย ชื่อ Abraham Lincoln

โดย กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2549

กาแฟดำ

ผมไปนอนค้างคืนบนเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดยักษ์ขับเคลื่อนด้วยพลังนิวเคลียร์ชื่อ USS Abraham Lincoln (ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 1) หรือย่อว่า CVN 72 ที่วิ่งวนเตรียมเข้าเทียบท่าแหลมฉบังคืนวันก่อน

USS Abraham Lincoln (CVN-72)

เป็นช่วงเดียวกับที่ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ของจีนไปเยือนจอร์จ ดับเบิลยู บุชที่วอชิงตันพอดี

สองเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกันโดยตรงหรอก, แต่เมื่อได้เห็นแสนยานุภาพทางทะเลของสหรัฐที่มาแสดงอยู่แถวๆ เอเชียอย่างนี้ ก็อดมองภาพรวมไม่ได้ว่ามะกันต้องการมาสกัดกั้นอิทธิพลทางทะเลของจีนที่กำลังสั่งสมพลังด้านนี้อย่างคึกคักหรือเปล่า

พลเรือตรี John W.Goodwin

Rear Admiral John W. Goodwin
Commander, Abraham Lincoln Strike Group

แน่นอนว่าคนระดับนำของเรือลำนี้อย่างพลเรือตรี John W.Goodwin (ตำแหน่งเป็น Commander ของกองเรือรวมที่เรียกว่า Strike Group) หรือ กัปตัน Andrew McCawley (ตำแหน่งเป็น commanding officer ของเรือลำนี้) ที่ผมสัมภาษณ์บนเรือย่อมไม่เอ่ยถึงจีนในฐานะเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ เพราะเขาต้องการเน้นการชูธงทางทะเลเพื่อรับมือศัตรูกับผู้หวังร้ายและเสริมความสัมพันธ์กับมิตรในแถบนี้

เขาระบุการก่อการร้ายที่อาจจะเกิดที่ไหนก็ได้, เมื่อไหร่ก็ได้…และเขาต้องพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามเช่นนี้ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม สหรัฐมีเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่น Nimitz ราคาเกือบสองแสนล้านบาทต่อลำทั้งหมด 10 ลำ (ล่าสุดที่กำลังสร้างชื่อ George H.W. Bush เป็นการให้เกียรติบุช ผู้พ่อ) เป็น “ฐานทัพลอยน้ำ” ที่ทำสงคราม และสร้างสันติภาพได้พอๆ กัน แล้วแต่ว่าใครนั่งกดปุ่มสั่งการอยู่ที่ทำเนียบขาว

เจ้า Abraham Lincoln เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินมะกันลำแรกที่เข้าเทียบท่าชายฝั่งไทย และปล่อยลูกเรือกว่า 5,500 คนขึ้นพักผ่อนชายฝั่งแถวพัทยาระหว่างวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาถึงวันอาทิตย์นี้

แต่ก่อนนี้เคยมีเรือรบของสหรัฐ หลายลำที่เคยแวะเวียนมาอ่าวไทย เช่น Kitty Hawk แต่เพียงแค่ทอดสมออยู่ห่างไปจากชายฝั่งเท่านั้นเอง

เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Kitty Hawk (CV 63)

เจ้า Abraham Lincoln ลำนี้ (ดาดฟ้ากว้างเท่ากับสนามฟุตบอล 3 สนาม) เคยไปร่วมรบสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1991 (Operation Desert Storm) มาแล้ว ส่งเครื่องบิน F-18 และเครื่องบินสอดแนมอย่าง E-2C ไปปฏิบัติการเหนืออิรักมาแล้วครั้งหนึ่ง และเมื่อ 3 ปีก่อน, ตอนบุช สั่งลุยอิรักอีกรอบ (Operation Iraqi Freedom) ก็ถูกสั่งให้เข้าร่วมทำสงครามในตะวันออกกลางอีกรอบ…

ภาพเรือรบ USS Mobile Bay (CG 53), เรือรบ USS Russell (DDG 59) และเรือรบ USS Shoup (DDG 86) แล่นขบวนผ่านเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Abraham Lincoln (CVN 72).

เพราะฝูงรบนี้มีทั้งกองบิน และกองเรือ, จึงถือเป็นหน่วยรบเคลื่อนที่ของอเมริกาที่จะปฏิบัติการที่จุดไหนของโลกก็ได้

แต่เขาก็ย้ำว่านี่ไม่ใช่มีไว้เพียง เพื่อทำสงครามเท่านั้น หากแต่ต้องการจะใช้กำลังป้องกันทั้งหมดนี้เพื่อสร้างสันติภาพให้กับภูมิภาคส่วนต่างๆ ของโลกด้วย

แน่นอนว่า คนที่มองสหรัฐด้วยความระแวงคลางแคลงก็จะบอกว่านี่เป็นการแสดงแสนยานุภาพเพื่อข่มขู่ และครอบงำประเทศอื่นๆ ทั้งหมด

ภาพท่านฑูตสหรัฐ  Mr. Ralph Boyce ได้รับการต้อนรับจากผู้บัญชาการกองเรือที่ 9 พลเรือตรี Bill Goodwin, และผู้บังคับการเรือ USS Abraham Lincoln (CVN 72) นาวาเอก C. A. McCawley บนดาดฟ้าเรือ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2549

ภาพนักข่าวที่ติดตามและถ่ายรูปบนดาดฟ้าเรือ

เรือพี่เลี้ยงในขบวน  USS Mobile Bay แล่นอยู่ด้านข้างเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Abraham Lincoln

ภาพเจ้าหน้าที่ลานบินกำลังส่งสัญญาณมือให้กับนักบินของเฮลิคอปเตอร์  MH-60S Seahawk

ขณะเกิดเหตุ “สึนามิ” ในเอเชียเมื่อปลายปี 2004 ลูกเรือกว่าห้าพันคนของ Abraham Lincoln เพิ่งเสร็จจากการพักผ่อนช่วงคริสต์มาส ที่ฮ่องกง และกำลังหันหัวเรือกลับสหรัฐ ได้รับคำสั่งจากผู้นำสหรัฐ ให้เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ก็กลับลำไปสู่นอกฝั่งอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย ทันที

ไปถึงที่นั่นวันที่ 1 มกราคม 2005 และใช้ทั้งเฮลิคอปเตอร์ หมอ พนักงานสาธารณสุข และทหารบนเรือนั้นเข้าไปช่วยเหลือผู้เป็นเหยื่อของภัยธรรมชาติครั้งนั้นอย่างแข็งขันเป็นเวลา 39 วันเต็ม

เครื่องบินลำเลียง C-2 Greyhound

ตอนออกจากกรุงเทพฯ ไปบนเรือลำนี้,ผมขึ้นเครื่องบินลำเลียง C-2 Greyhound ไปกับคณะ ได้สัมผัสด้วยตัวเองว่าการลงบนพื้นดาดฟ้าสั้นๆ ด้วยสายเคเบิลหนา 2 นิ้วที่กระชากให้เครื่องบินต้องหยุดกะทันหันด้วย arresting gear cables (จากความเร็ว 105 ไมล์ต่อชั่วโมงเหลือศูนย์ภายใน 2 วินาที) และตอนขึ้นต้องถูกระบบไอน้ำดันด้วยระบบ catapult ที่ให้ความเร็วของเครื่องบินจากศูนย์เร่งถึง 128 ไมล์ต่อชั่วโมงภายใน 3 วินาทีนั้นมีแรงกระชากรุนแรงและน่าตื่นเต้นหวาดเสียวเพียงใด

เห็นชัดอีกด้วยว่าด้วยพลังทหาร, เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างนี้ อเมริกา ยิ่งต้องแสดงความรับผิดชอบต่อชาวโลกคนอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีอำนาจต่อรองกับตนมากขึ้นหลายเท่าตัวนัก

เพราะหากใช้แสนยานุภาพอย่างนี้ไปทางที่ผิดเมื่อใด, ความปั่นป่วนกระจายไปทั่วโลกได้แน่นอน.

Share the Post: