marinerthai

ในอ้อมแขน ‘ราชินีแห่งท้องทะเล’

คอลัมน์ จุดประกาย

นักธุรกิจ มหาเศรษฐี ดาราดัง รวมถึงคนในแวดวงบันเทิงจำนวนมาก นิยมล่องเรือเพื่อความเพลิดเพลิน คนรวยในอดีตซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในฮอลลีวู้ดสามารถมีบ้านสวยๆ และใช้ชีวิตสนุกสนานไปกับการดูม้าแข่ง

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมควักกระเป๋าซื้อเรือยอชท์ เพราะนอกจากจะต้องมีเงินแล้วยังต้องมีหัวใจของการผจญภัยด้วย เหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้งานแสดงเรือครั้งล่าสุดที่สิงคโปร์เป็นที่ดึงดูดความสนใจคนจากทั่วโลก ทวีวัฒนา ทุนคุ้มทอง รายงาน

ชื่อเสียงเรียงนามของเรือสามารถบ่งบอกความรู้สึกของเจ้าของต่อเรือลำนั้นได้ เรือใบแข่งของ ฮัมฟรีย์ โบการ์ด นั้น ถูกขนานนามว่า Santana ตามชื่อของลมทะเลทรายที่พัดผ่านลอสแองเจลิส ซึ่งว่ากันว่าสามารถพัดพาให้ผู้ชายสติดีๆ คนหนึ่งถึงกับคลุ้มคลั่งได้ จอห์น แบร์รีมอร์ ตั้งชื่อเรือยอชท์บังคับด้วยมอเตอร์ขนาด 120 ฟุต ว่า Infanta ซึ่งเป็นภาษาสเปนหมายความว่า เจ้าหญิง เพื่อมอบให้กับเจ้าหญิงในชีวิตจริง นั่นคือภรรยา

“เรือก็เหมือนม้านั่นแหละ” เรือทุกลำมีบุคลิกของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นทีเด็ดหรือข้อบกพร่อง และหากเรือสามารถพูดได้ คงจะเอ่ยปากเล่าแต่เรื่องของเจ้าของ คนดังในแวดวงฮอลลีวู้ดถือว่าการล่องเรือเปรียบเสมือนการหลีกหนีโลกแห่งความจริง จากคนเจ้ากี้เจ้าการในกองถ่าย นักข่าว และบรรดาแฟนๆ ที่ห้อมล้อม

แต่สำหรับนักร้องชื่อดังอย่าง แฟรงค์ สินาตรา เจ้าของเรือ Queen Mary ซึ่งบังคับด้วยใบพัด พร้อมตกแต่งเพียบพร้อมด้วยเครื่องมือทำมาหากินอย่างเปียโน และที่ขาดไม่ได้เลยคือบรรดาสาวงามทั้งหลาย แม้สินาตราจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรือแม้แต่น้อย แต่เขาก็ได้โชว์ความสามารถที่ตัวเองถนัด นั่นคือขับกล่อมบทเพลงหลังอาหารค่ำ เสียงทุ้มหวานของสินาตราแผ่กระจาย จนทำให้ท่าเรือบริเวณนั้นหยุดนิ่ง แม้แต่คนในเรือยอชท์ลำอื่นยังต้องลงเรือบดเข้ามาร่วมงานเลี้ยงของนักร้องดัง และเมื่อบทเพลงจบลง ผู้ร่วมงานก็เปี่ยมด้วยความสุข พร้อมได้สาวงามจากทะเลติดตัวกลับไปด้วย

…………………………

ยอชท์ (Yatch) หรือที่เราเรียกว่า เรือสำราญ มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาดัตช์ ว่า JAGT เป็นคำกริยา หมายถึง รีบ เร่ง หรือ การล่าสัตว์ เดิมใช้ในความหมายเกี่ยวกับการเดินทางของขบวนเรือของบรรดาเจ้าชายหรือทูตานุทูต ที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรอื่น

ราวศตวรรษที่ 16 ชาวดัตช์เป็นชาติแรกๆ ที่เห็นประโยชน์ของการออกเรือเพื่อความสำราญและการพักผ่อนหย่อนใจ และฮอลแลนด์ก็เป็นประเทศผู้นำในการผลิตเรือเมกะยอชท์นับจากนั้นมา สมัยก่อนเรือที่จะได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมกะยอชท์ได้ต้องมีความยาวกว่า 150 ฟุตขึ้นไป ต่อมาก็มีเรือของชาวยุโรปชาติอื่นๆ ออกทะเลเพื่อความสำราญมากขึ้น เรือยอชท์ จึงได้ชื่อว่า ‘ราชินีแห่งท้องทะเล’ (Queen of the Sea)

ปัจจุบัน มีผู้สนใจล่องเรือยอชท์เพื่อชื่นชมธรรมชาติของท้องทะเลมากขึ้น และความนิยมแบบเดียวกันนี้ก็ขยายจากยุโรปมาสู่เอเชีย เห็นได้จากความสำเร็จของงาน Boat Asia 2006 ที่จัดขึ้นที่ เซนโตซา โคฟ มารีนา ประเทศสิงคโปร์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีแหล่งที่จอดพักเรือสำราญที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย งานนี้จัดขึ้นระหว่าง 21 -23 เมษายน ที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้าร่วมงานและชมงานมากถึงกว่า 7,000 ราย เพิ่มขึ้นจาก 6,125 รายเมื่อปีที่แล้ว และ 4,377 คนในปีแรก นับว่าเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจสำหรับธุรกิจนี้ที่ยังค่อนข้างจำกัดเนื่องจากอุปกรณ์สำคัญคือเรือมีราคาค่อนข้างสูง

ปีนี้ มีเรือเมกะยอชท์ ที่ผลิตจากอู่ต่อเรือในฮอลแลนด์ และเรือยอชท์รุ่นใหม่ๆ จาก เฟอร์เรตติ อิตาลี, ริเวียรา ออสเตรเลีย, ฮอไรซัน ไต้หวัน, ฌองโน ฝรั่งเศส, อังกฤษ และอเมริกา และหลากหลายยี่ห้อมาประชันโฉมกันไม่น้อยกว่า 25 ลำ รวมถึงอุปกรณ์และธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ รวมกันทั้งสิ้นถึง 115 ราย จาก 19 ประเทศ

วาย. พี. โล้ค กรรมการผู้จัดการบริษัทสปินเนเกอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ปรึกษาในการจัดงานโบต เอเชีย ครั้งนี้ให้ความเห็นว่า ธุรกิจเกี่ยวกับท่าจอดเรือสำราญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ มารีนา มีแนวโน้มจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง “การขยายตัวของเศรษฐกิจทำให้คนมีรายได้มากขึ้นและยอมลงทุนจ่ายเงินเพื่อซื้อความบันเทิงตามที่ตัวเองใฝ่ฝันได้ง่ายขึ้น” การใช้ชีวิตบนเรือสำราญก็เป็นกิจกรรมวันว่างที่ได้รับความสนใจจากคนที่มีรายได้สูงจึงเพิ่มขึ้นเป็นเงา

เซนโตซา ดีเวลล็อปเม้นท์ บริษัทที่จัดการธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ของเกาะเซนโตซา ก็ร่วมเสนอโครงการบ้านพักตากอากาศพร้อมท่าจอดเรือสำราญส่วนตัว เปิดให้ผู้ที่สนใจ (และมีเงิน) จับจองเป็นเจ้าของได้มากถึง 2,600 ยูนิต สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของธุรกิจนี้ได้อย่างชัดเจน

ดับเบิ้ลยู. ดี. แม็ค แวน วาย กรรมการผู้จัดการบริษัทฮอลแลนด์ คัสตอม ยอชท์ ตัวแทนจำหน่ายเรือสำราญของฮอลแลนด์ซึ่งตั้งอยู่ในฮ่องกง กล่าวว่า “แต่ละปีบริษัทผู้ต่อเรือจะผลิตเรือสำราญขนาดใหญ่ แบบที่เรียกว่า เมกะยอชท์ ซึ่งปัจจุบันหมายถึงเรือที่ยาวกว่า 100 ฟุต ขึ้นไป ให้ลูกค้าได้ปีละประมาณ 475 ลำ และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”

แม็ค ให้ความเห็นว่า “สำหรับชาวเอเชียส่วนใหญ่นิยมเรือแบบพาวเวอร์ โบต มากกว่า เพราะคนเอเชียส่วนใหญ่อาจจะกลัวเรื่องผิวดำ และไม่ค่อยชอบแดดเหมือนคนยุโรปที่ชอบตากแดดจนตัวเป็นสีแทน” อันนี้เข้าใจได้ เพราะปีหนึ่งชาวเอเชียเราอยู่ใต้แสงแดด 8-10 เดือน ถือว่ามากพอแล้ว เวลาที่จะพักผ่อนจึงชอบแบบเย็นสบายมากกว่าร้อนเปรี้ยงในเปลวแดด

ในปัจจุบัน เรือแบบ พาวเวอร์ โบต (Power Boat) มีสัดส่วนราว 80% ของตลาดเรือสำราญทั่วโลก กลุ่มนี้คือผู้ที่ชอบอยู่สบายเวลากลางวัน ค่อยออกไปชมทะเลตอนเช้าๆ และเย็นๆ และอีกเหตุผลคือพาวเวอร์ โบต ไม่ต้องใช้คนดูแลมากเหมือนแบบเรือใบ (Sail Boat) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 20% คนที่ชอบ Sailboat คือเสน่ห์ตรงที่เป็นความสวยงามของใบเรือยามเมื่อกินลมเต็มที่แล่นตัดคลื่นน้ำไปตามแรงลม แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นเรือแบบไหน ก็สะดวกมากขึ้นด้วยอุปกรณ์ประจำเรือทั้งเรดาห์ และจีพีเอส บอกตำแหน่ง

บาร์ท เจ. คิมแมน วัย 54 ปี ผู้บริหารร่วมของฮอลแลนด์ คัสตอม ยอชท์ ผู้มีบ้านเรือ อยู่ที่ฮ่องกง ซึ่งเขาอยู่มานานกว่า 10 ปีแล้ว เล่าว่าทุกวันนี้เขายังออกเรือบ่อยๆ ทุกครั้งที่โอกาสอำนวย “จะว่าเป็นความลุ่มหลงก็ได้ ผมหลงใหลการอยู่ใกล้ๆ น้ำ เหนือจากความรู้สึกอิสระเสรีในการใช้ชีวิตแบบนี้”

บาร์ท พูดคุยด้วยท่าทีสบายๆ ตามสไตล์คนที่ได้ใช้ชีวิตอิสระแต่สามารถทำธุรกิจไปด้วยว่า “การล่องเรือเป็นกิจกรรมที่ใครๆ ทำก็ได้ และการเป็นเจ้าของเรือก็ไม่ใช่สิ่งที่เกินเอื้อม เรือมีหลายแบบและราคาให้เลือกได้

“ราคาเรือยอชท์ เริ่มต้นที่ประมาณ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงเป็นแสนๆ ดอลลาร์ แต่ผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้ลูกค้าพิจารณาจากความต้องการ ก่อนที่จะตัดสินใจด้วยราคา เพราะเรือแต่ละลำมีอายุการใช้งานนาน ถ้าดูแลดีๆ อาจเป็นร้อยปี จึงควรเลือกแบบที่ชอบและตรงวัตถุประสงค์ที่ต้องการที่สุด” บาร์ทให้ความเห็น

สำหรับการขับหรือบังคับเรือ บาร์ทบอกว่าความจริงก็ไม่ยากนักเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแบบ Power Boat หรือ Sail boat เขาบอกว่าที่จริงเขาชอบเรือใบมากกว่าเรือที่ใช้เครื่องยนต์ เพราะให้ความรู้สึกที่เป็นอิสระใกล้ชิดธรรมชาติและท้องทะเลมากกว่ากันเยอะเลย เขามั่นใจว่าถ้าใครได้ลองหัดขับเรือเข้าแล้วละก็เป็นส่วนใหญ่จะติดใจกันทุกคน เพราะทั้งสนุกและท้าทายตลอดเวลา

พูดถึงเรื่องธุรกิจ “ตลาดใหม่ที่ท้าทายในตอนนี้คือที่จีน” เขากล่าว ซึ่งก็ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นที่กำลังจับจ้องมองจีนตาเป็นมัน ธุรกิจเรือยอชท์ก็เช่นกัน เพราะจำนวนชาวจีนที่พร้อมจ่ายเงินซื้อเรือสำราญดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น แม้ว่าการเป็นเจ้าของเรือไม่ใช่ต้องห่วงเรื่องค่าเรือที่แพงลิบอย่างเดียว ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและหาที่จอดเรืออีกต่างหาก

แม็ค ให้ความเห็นว่า “ปัญหาสำคัญในการเปิดตลาดจีน อยู่ที่กฎหมายที่ระบุว่า ห้ามคนทั่วไปนำเรือไปล่องลอยเล่นในทะเลโดยเด็ดขาด” ซึ่งคงจะเป็นเหตุผลด้านความมั่นคง แต่ก็คาดอีกประมาณ 2 ปี กฎหมายฉบับนี้จะเปลี่ยนไปและชาวจีนจะได้แล่นเรือในทะเลได้โดยเสรี

ในงานโบตเอเชียครั้งนี้ มีเรือที่เป็นดาวเด่น คือ Jongert 40T เป็นเรือเมกะยอชท์ ลำหรูขนาด 136 ฟุต หรือ 41.6 เมตร ราคาประมาณ 24 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (576 ล้านบาท ที่อัตราแลกเปลี่ยน 24 บาท ต่อดอลลาร์สิงคโปร์) ออกแบบตามความต้องการเจ้าของ (Custom) เรือลำนี้ประมาณด้วยตาแล้วก็คฤหาสน์ลอยน้ำเราดีๆ นี่เอง ภายในมีห้องนอนใหญ่ ห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น มีครัวพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งเพิ่งมาเปิดตัวเป็นครั้งแรกในเอเชียที่งานนี้

กัปตันเรือ Jongert 40T บอกว่า เขาโชคดีที่เลือกเส้นทางนี้ เพราะได้ทำทั้งสิ่งที่รักและเป็นการประกอบอาชีพไปพร้อมกัน” ส่วนแม็ค บอกว่า “ถ้าเห็นเรือลำนี้แล้วไม่ชอบ คุณคงไม่มีวันชอบเรือลำไหนอีกแล้วละ”

บาร์ท สาธยายให้ฟังว่าเรือแบบนี้ ปัจจุบันกำลังต่ออยู่ที่อู่ต่อเรือในฮอลแลนด์ อีก 2 ลำ ผู้สั่งซื้อเป็นชาวสิงคโปร์ทั้งสองลำ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 18 เดือนเรือทั้งสองลำก็พร้อมจะส่งมอบให้ลูกค้าได้

ส่วนเรืออื่นๆ ที่มาอวดโฉมกันเช่น เฟอร์เรตติ 731, เรือฮอไรซัน ผลิตในไต้หวัน ซี เรย์ (SeaRay) ของอเมริกา เบเนโต กรันชิ, คริสต์ คราฟ์, เกรดี้ ไวท์, ลากูน, แกรนด์ แบงค์ และอีกหลายลำ เมื่อจบงานปรากฏว่าเรือที่มีคนสนใจมากและมีคนจองไปแล้ว คือ อีแลน 42 ตัวแทนจำหน่ายคือเดรานี ยอชท์ ซึ่งตั้งอยู่ในไทย เรือจะส่งมอบได้ประมาณกลางปีนี้ เช่นเดียวกับลี มารีนซึ่งเป็นบริษัทของชาวออสเตรเลียที่มาตั้งอยู่ในภูเก็ต ตัวแทนจำหน่ายเรือ ริเวียรา ของออสเตรเลีย ก็บอกว่า มีผู้สั่งจองเรือริเวียรา 2 ลำ คือ M400 สปอร์ต ครุยเซอร์ และ 3600 สปอร์ต ยอชท์ ไปแล้วเช่นกัน

โรเอล แวน ลูเวน ผู้อำนวยการการจัดงาน ประกาศว่าปีหน้างาน Asia Boat 2007 จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายน่าจะเป็นนักธุรกิจหรือผู้มีรสนิยมในการแล่นเรือ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ จึงจะสะดวกมากกว่าที่จะไปจัดที่อื่น รูปแบบการจัดงาน คาดว่าจะมุ่งเน้น การเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อได้พบกับตัวแทนจำหน่ายหรือแม้แต่ผู้ผลิตมากขึ้น ทั้งเรือและอุปกรณ์ต่างๆ นอกเหนือจากเป็นการเปิดตัวเรือยอชท์รุ่นและขนาดใหม่ๆ ที่เพิ่งผลิตออกมา

ในงานจะมีการนำเรือส่วนหนึ่งที่ยกขึ้นบกไปจัดแสดงที่ไบเทค ส่วนผู้สนใจอยากเห็นเรือที่จอดในน้ำจริงๆ จะมีเฮลิคอปเตอร์รับ-ส่งให้ไปดูเรือที่พัทยาได้ด้วย เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สนใจ

…………………………

ข้อมูลจาก : Suntec Integrated Media ผู้จัดงาน Boat Asia 2006 และ Asia Dive Expo 2006

จากเรือลงสู่ใต้น้ำ กับ ADEX

นอกจากงานเรือแล้วที่ศูนย์ประชุมซันเทค กลางกรุงสิงคโปร์แล้ว ยังมีการจัดงานมหกรรมการดำน้ำแห่ง (Asia Dive Expo 2006 – ADEX) มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าและบริการกว่า 175 ราย จาก 25 ประเทศ ซึ่งถือเป็นการชุมนุมของผู้ประกอบการด้านการดำน้ำ เช่น อุปกรณ์ดำน้ำและแหล่งดำน้ำครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในเอเชีย

ในงานดำน้ำครั้งนี้ นอกจากพวกอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการดำน้ำ เช่น พวกเรกูเลเตอร์ (Regulator) หรือ เว็ทสูท (Wet Suit) ตลอดจนถึงแพ็คเกจดำน้ำที่น่าสนใจสำหรับแหล่งดำน้ำที่ขึ้นชื่อด้านความสมบูรณ์และสวยงามแล้ว ยังมีเครื่องประดับและของที่ระลึกจากการดำน้ำ ทำจากเงินและอัญมณีหลากหลายราคา ซึ่งโรงงานผลิตอยู่แถวสมุทรปราการของเรานี่เอง ปีเตอร์ ซี คอสโลสกี เจ้าของร้านมีโรงงานผลิตอยู่ที่สมุทรปราการ แต่บอกว่าส่วนใหญ่ส่งออกไปยุโรป และอเมริกามากกว่าขายในเอเชีย

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจแห่งความประทับใจที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ บริษัทรับจัดพิธีแต่งงานใต้น้ำมาจากประเทศมาเลเซีย รับจัดทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดได้ทุกวัน ฟาโยล ชาน ผู้จัดการร้านบอกว่ามีลูกค้าที่ผ่านมา มีทั้งชาวญี่ปุ่นและสิงคโปร์ แต่คนไทยไม่ไปเป็นลูกค้าเพราะรอวันวาเลนไทน์ จะไปแต่งงานใต้ทะเลที่ตรังเท่านั้น

จะอย่างไรก็ตาม การได้มีโอกาสไปดำน้ำถือเป็นมูลค่าเพิ่มสำหรับการเที่ยวทะเลแต่ละครั้งให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เพราะการดำน้ำจะทำให้เราได้สัมผัสกับโลกอีกโลกหนึ่ง ที่ใต้น้ำซึ่งแสนจะสงบและสวยงามเป็นเลิศ แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับโลกบนดินที่แสนจะวุ่นวายสับสน

ในงานนี้ มีกิจกรรมที่เรียกว่า ADEX Sea Star Programme สนับสนุนโดยองค์กรหลักด้านการดำน้ำ PADI, Project Aware และ Blue Water Volunteers โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นต่อไปในเรื่องการดำน้ำแบบมีจิตสำนึก ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมของท้องทะเล ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ โดยการสอนและเวิร์คชอบให้นักดำน้ำรุ่นใหม่ๆ เรียนรู้เรื่องราวอันหลากหลายของชีวิตในท้องทะเลและวิธีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทะเลที่ถูกต้อง ซึ่งมีนักเรียนสนใจเข้าร่วมโครงการนี้แล้วกว่า 400 คน หวังว่ารุ่นนี้เมื่อเติบโตขึ้นจะเป็นนักดำน้ำที่รักสิ่งแวดล้อมและช่วยกันอนุรักษ์ความงดงามของท้องทะเลให้คงความงดงามและเป็นธรรมชาติอยู่ได้ต่อไป

สำหรับ 7 แหล่งดำน้ำที่ได้รับการจัดอันดับว่าสวยที่สุด ได้แก่ ทะเลอันดามัน ภูเก็ต ที่ยังคงความงดงามไม่เสื่อมคลาย แม้ว่าจะโดนพิษสึนามิ เมื่อเดือนธันวาคม 2547 แต่ปะการังก็ไม่ได้เสียหายมากที่หวั่นวิตกกัน Biak อินโดนีเซีย ชายฝั่งตะวันออก ของเขตเวสต์ ปาปัว อินโดนีเซีย ว่ากันว่าเวลาที่นี่เชื่องช้ากว่าที่อื่นใด

บอร์เนียวและซาราวัค มาเลเซีย โดยเฉพาะจุดที่ขึ้นชื่อคือ สิปาดัน มาบู คาปาไล นอกชายฝั่งซาบาห์ บรูไน ซึ่งแม้ว่าโลกจะไม่รู้จักมากนัก แต่ที่นี่ถือเป็นโอเอซิส สำหรับสัตว์ทะเลเขตร้อนที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง หมู่เกาะคริสต์มาส ในเวสเทิร์น ออสเตรเลีย จุดเด่นคือท่านจะได้ประสบการณ์การว่ายน้ำเคียงข้างปลาฉลามวาฬ หรือจะแค่ไปดำดูปะการังผิวน้ำแบบสน็อกเกิลก็เกินคุ้มแล้ว

ปาปัว นิวกินี แหล่งดำน้ำแบบผจญภัยขึ้นชื่อ ไม่ใช่เพียงเรื่องราวอันเป็นตำนานเกี่ยวกับมนุษย์กินคน เขตแดนสุดท้ายของโลกยุคดึกดำบรรพ์ เพราะความหลากหลายเกินบรรยาย ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตผู้คน ชีวิตสัตว์น้ำสัตว์บกหรือพืชพรรณธรรมชาติ และสุดท้ายคือที่ฟิลิปปินส์ ดินแดนแห่งหมู่เกาะน้อยใหญ่ประกอบกันถึง 7,101 เกาะ มีแนวปะการังครอบคลุมพื้นที่ 27,000 ตารางกิโลเมตร ดำน้ำยังไงก็ไม่มีวันเบื่อ

Share the Post: