marinerthai

เรือปิศาจ Flying Dutchman และ Rescue

เรื่องแปลจากข้อเขียนเว็บไซค์ต่างประเทศ

โดย กัปตัน นีโอ

เมื่อพูดถึงเรือปิศาจ หรือ เรือผีสิง ที่ขึ้นชื่อว่าโด่งดังที่สุดก็คงไม่พ้นเรื่องของ เรือ ฟลายอิ้ง ดัทช์แมน Flying Dutchman (“De Vliegende Hollander”)  ตามตำนานว่ากันว่าเป็นเรือผีสิงที่ต้องท่องไปในน่านน้ำไม่มีวันสิ้นสุด หรือไม่ก็จนกว่าโลกจะแตกไปข้างหนึ่ง วันดีคืนดีอาจมาปรากฏให้นักเดินทะเลสยองเล่นๆ ตามน่านน้ำต่างๆ ในรูปของเรือสำเภาสามใบเสา และกัปตันผู้ซึ่งยังแต่งกายในแบบศตวรรษเก่า ยกตัวอย่างก็เมื่อปี ค.ศ. 1892 ที่อ่าวเวสตัน ในเท็กซัส มีผู้เห็นเรือ ฟลายอิ้ง ดัทช์แมน ถึงสองครั้ง เป็นเรือที่มีแสงเรืองน่ากลัว ที่หัวเรือมีกัปตันเรือยืนอยู่ ใบหน้าของเขาบิดเบี้ยว กรีดเสียงหัวเราะบ้าคลั่งชวนขนลุก

เรือ Flying Dutchman หรือมีชื่อเรียกในภาษาดัชท์คือ “De Vliegende Hollander” เป็นเรือปิศาจที่พบเห็นได้มากที่สุดในบริเวณแหลมกู๊ดโฮบ Cape of Good Hope ทวีปอัพฟริกาใต้ เรื่องเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เรือ Flying Dutchman เป็นเรือของบริษัท Dutch East India Company เป็นเรือบรรทุกสินค้าอยู่ภายใต้การควบคุมของกัปตันเรือ van der Decken ที่มีจิตใจเหี้ยมโหดและไม่นับถือพระเจ้า ในปี ค.ศ. 1680 ได้เดินทางไปถึงดินแดนทางตะวันออกซึ่งสมัยนั้นถือว่าไกลมาก ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี และกำลังนำเรือกลับประเทศฮอลแลนด์เมืองบ้านเกิด ขณะแล่นผ่านมาถึงบริเวณแหลมกู๊ดโฮบ ได้เกิดพายุขนาดใหญ่ขึ้น เรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนได้ถูกพายุพัดถล่มอย่างหนัก  หลังจากที่เรือต่อสู้กับพายุได้ประมาณหนึ่งชั่วโมงจนเรือออกไปนอกเส้นทางเดินเรือและกระแทกหินโสโครกจมลงหายไปพร้อมกับชีวิตคนบนเรือทั้งหมด ทุกคนเชื่อว่าพระเป็นเจ้าได้พิพากษาลงโทษกัปตันและเรือลำนั้นด้วยพายุที่เกิดขึ้นลูกนั้น เล่ากันว่า ระหว่างที่อยู่ในพายุนั้นกัปตัน van der Decken ซึ่งไม่ยอมแพ้ต่อพายุได้ตะโกนขึ้นว่า “I will round this Cape even if I have to keep sailing until doomsday! ( ข้าจะวนเวียนอยู่บริเวณแหลมนี้ ถึงแม้ว่าข้าจะต้องล่องเรือจนถึงวันสิ้นสุดของโลกก็ตาม )

ได้มีตำนานเล่าขานต่อมาว่าเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนได้กลับมาปรากฏตัวให้คนเห็นหลายๆ ครั้ง อย่างเช่นในปี ค.ศ. 1881 คนประจำเรือของ เจ้าชายจอรจ์ Prince George (ต่อมาเจ้าชายจอรจ์ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ใช้พระนามว่าพระเจ้าจอร์จ์ที่ 5) ได้มองเห็นเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนปรากฎตัวขึ้นด้านหัวเรือ และหลังจากนั้นไม่กี่วันเขาก็เสียชีวิตด้วยการพลัดตกจนเสากระโดงเรือ ในปี ค.ศ. 1881 เช่นกัน มีเรือสินค้าชาติสวีเดนลำหนึ่งแล่นผ่านบริเวณที่เรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนจม ทันทีที่คนประจำเรือบนเสากระโดงได้เห็น เรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมน ปรากฎตัวขึ้น เขาก็พลัดตกจากเสากระโดงเรือลงมาตาย ก่อนตายเขาได้พูดว่าเขาได้เห็น เรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมน กัปตันเรือได้ส่งคนประจำเรือคนที่สองปีนขึ้นเสากระโดงเพื่อขึ้นไปดูและเขาก็เสียชีวิตในสองวันต่อมา หลายปีต่อมามีเรือสัญชาติอเมริกาแล่นผ่านเข้ามาในบริเวณแหลมกู๊ดโฮป เรือลำนี้ชื่อ Relentless และพบกับเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมน กัปตันเรือได้ออกคำสั่งให้นายท้ายเรือหันหัวเรือไปยังเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนเพื่อเข้าไปดูให้เห็นชัดขึ้น แต่นายท้ายเรือก็ไม่ได้หันหัวเรือไปตามคำสั่ง กัปตันไปดูกลับพบนายท้ายเรือนอนตายอยู่ที่พังงาถือท้ายเรือ และในคืนนั้นยังพบว่าคนประจำเรือสามคนได้หายตัวไปจากเรืออีกด้วย

ยังมีตำนานเล่าขานถึงการปรากฏตัวเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนอีกว่า ในปี ค.ศ. 1911โดยเรือชื่อ Orkney Belle เป็นผู้พบเห็นขณะเดินทางข้ามแหลมกู๊ดโฮป ต่อมาในปี ค.ศ.  1939 มีคนมากกว่า 60 คนเห็นเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนแล่นออกจากชายหาดผ่านพวกเขาไปและวิ่งหายไปในความมืดของทะเล  ปี  ค.ศ. 1942  ผู้บังคับการเรือดำน้ำ U boats พลเรือตรี  Karl Doenitz แห่งราชนาวีเยอรมัน ได้บันทึกในปูมเรือว่าพบเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนแล่นผ่านเรือของเขาไป และในปี ค.ศ. 1942 เรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนได้ถูกพบโดยเรือรบหลวง H.M.S. Jubilee ผู้บังคับการเรือ Nicholas Monsarrat ได้พบและพยายามส่งสัญญาณไปยังเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนแต่ไม่มีสัญญาณใดๆ ตอบกลับมา เขาได้บันทึกไว้ในปูมเรือว่าพบเรือใบไม่ทราบประเภทชั้นเรือแล่นผ่านไปภายใต้สภาวะที่ไม่มีกระแสลมพัดอยู่เลย  ในปี ค.ศ. 1943 คนจำนวน 4 คนในเมือง Cape Town ได้เห็นเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนแล่นหายไปทางด้านหลังของเกาะ ในปี ค.ศ. 1959 กัปตันเรือ Staat Magelhaen พบว่าเรือกำลังมุ่งหน้าพุ่งเข้าชนกับเรืออีกลำหนึ่ง เรือลำนั้นก็คือเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมน แต่พอเรือเข้าใกล้จะชนปรากฏว่าเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนได้หายตัวไป และยังมีอีกหลายครั้งที่เกิดพายุใหญ่บริเวณประภาคาร Cape light house มีบันทึกรายงานว่าได้พบเจอเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนมาปรากฎให้เห็น (เมือง Cape Town สร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 17 โดย Jan van Riebeeck ตัวแทนของบริษัท Dutch East India Company เหตุที่สร้าง Cape Town ขึ้นมา เพราะมีแผนจะแยกแหลม Cape ออกจากทวีปแอฟริกาด้วยการขุดคลองตัดผ่านคาบสมุทร แต่ในท้ายที่สุดเขาก็ต้องยอมยุติแผนดังกล่าว ปัจจุบันจึงมีเพียงแนวป่าต้นอัลมอนด์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความพยายามแยกตัวในครั้งนั้นหลงเหลือไว้เป็นอนุสรณ์)

การปรากฏตัวของ เรือ ฟลายอิ้ง ดัทช์แมน

 ตามตำนานยังกล่าวกันว่า เรือลำนี้มีตำนานมาจากเรื่องเล่าสองเรื่อง  เรื่องแรกเป็นเรื่องของผีและกัปตันที่มีชื่อว่า แวนเดอเดคเคน (Captain Van Der Decken) ซึ่งเป็นคนที่นอกจากจะไม่นับถือพระเจ้าแล้วยังลบหลู่อย่างร้ายกาจอีกด้วย ส่วนเรื่องที่สองเป็นของนักเดินเรือที่ชื่อว่า เบอร์นาร์ด โฟคค์ คนนี้ทำสัญญากับปิศาจว่าจะยอมอยู่ในอาณัติของมันหากช่วยให้เขาเดินทางไปถึงอีสต์อินดีส์ใน 90 วัน สองเรื่องที่ว่าเชื่อกันว่าเป็นเหตุให้เรือและกัปตันต้องระหกระเหินไปทั่วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำไปชั่วกาลนิรันดร…..

อย่าเพิ่งคิดว่าจะมีแค่เรื่องของเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนเท่านั้น ยังมีอีกเรื่องที่จะเล่าให้ฟัง

เรื่องนี้เป็นเรื่องของเรือล่าปลาวาฬอเมริกันชื่อ จอร์จ เฮนรี่ ซึ่งกำลังมุ่งหน้าขึ้นเหนือ ออกเดินทางตามหาคณะเดินทางเคราะห์ร้ายนำโดย เซอร์ จอร์น แฟรงคลิน ที่หายไปจากเส้นทางสู่ขั้วโลกอย่างไร้ร่องรอย แต่ว่าภารกิจนี้เรือจอร์จ เฮนรี่ไม่ได้มาเพียงลำเดียว ยังมีเรืออีกลำชื่อว่า เรือเรสคิว ตามมาเป็นเรือบรรทุกสัมภาระด้วย เรื่องของเรื่องมันก็อยู่ที่เรือลำนี้แหละ เพราะว่าเรือเรสคิวเป็นเรือประหลาดหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นเรืออัปมงคลก็ว่าได้ เมื่อออกเดินทางทุกครั้ง ก็จะต้องลงเอยด้วยการมีคนตายอย่างน้อยหนึ่งคนเสมอ

คืนวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1860 เรือทั้งสองลำจอดทอดสมอหลบพายุอยู่ที่อ่าวโฟรบิสเชอร์ เกาะแบฟฟิน แต่ยิ่งเวลาผ่านไป พายุก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดกำลังลง กลับเพิ่มแรงลมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกัปตันฮอลล์ กัปตันเรือของจอร์จ เฮนรี่ตัดสินใจสั่งให้ถ่ายลูกเรือเรสคิวมาขึ้นเรือของเขาให้หมด นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะเพียงชั่วอึดใจต่อจากนั้น สมอเรือของเรสคิวถูกแรงกระแสน้ำลากออกจากที่ ค่อยๆ ลอยเข้าหาฝั่งที่น้ำทะเลกระแทกหินอย่างรุนแรง ดูเหมือนจะมีอำนาจบางอย่างที่พยายามดึง เรือเรสคิว เอาไว้ไม่ให้เข้ากระแทกหินโสโครกชายฝั่งง่ายดายเกินไป แต่กระนั้น เรือเรสคิว ซึ่งไร้คนบังคับก็ต้องพ่ายต่อแรงธรรมชาติในอีกหลายชั่วโมงต่อมา มันถูกคลื่นยักษ์โถมกระหน่ำหนุนให้เรือพุ่งเข้าหากองหินอย่างแรงจนไม้กราบเรือฉีก หิมะซึ่งโปรยปรายต่อมาหลังจากนั้นดูราวกับผ้าห่อศพก็ไม่ปาน

ช้าวันต่อมา เรือเรสคิว หายไป เป็นไปได้ว่าอาจถูกหิมะถมทับจนหายไปสนิท แต่ลูกเรือหลายคนก็เชื่อว่ามันโดนคลื่นลมพาเข้ากระแทกกับหินจนแหลกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เรือจอร์จ เฮนรี่ต้องเดินต่อไปลำเดียว

กรกฎาคม 1861 สิบเดือนต่อมา เรือจอร์จ เฮนรี่เดินทางมาที่เกาะแบฟฟินอีกครั้ง ทันทีที่มาถึงลูกเรือที่มองดูอยู่บนยอดเสากระโดงก็ร้องเสียงหลงชี้มือไปที่ขอบฟ้า ห่างออกไปราว 2 ไมล์ มีเรือลำหนึ่งปรากฏขึ้นเป็นเงาลางในม่านหมอก แต่ก็สามารถบอกได้จากกราบเรือที่ฉีกแตกว่านั่นคือ เรือเรสคิว มันแล่นเป็นเส้นตรงเหมือนกับมีมือที่มั่นคงบังคับหางเสือ ทั้งๆ ที่ไม่มีสัญญาณของสิ่งมีชีวิตบนดาดฟ้า ลูกเรือของ เรือจอร์จเฮนรี่ มองภาพข้างหน้าอย่างขนลุกขนชัน ครู่เดียวมันก็หายไปในหมอกอีกครั้ง

เย็นวันนั้นเรือจอร์จเฮนรี่ทอดสมอเรือไว้ที่อ่าวโฟรบิสเชอร์ ไม่ห่างจากจุดที่เรือเรสคิวประสบเหตุอับปางเมื่อปีก่อน ไม่กี่ชั่วโมงต่อจากนั้น ลมแรงจัดก็พัดมาจากทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ พาน้ำแข็งก้อนมหึมาข้ามทะเลตรงมายังเรือจอร์จเฮนรี่ ลูกเรือต่างรีบหาไม้มาช่วยกันยันก้อนน้ำแข็งออกไปก่อนที่มันจะมาชนเรือ ทว่าเพียงแค่ก้อนน้ำแข็งเบี่ยงทางไป แสงจันทร์ซีดเซียวก็จับไปยังสิ่งหนึ่งที่ทำให้ลูกเรือจอร์จเฮนรี่ตาค้าง

มันคือเรือเรสคิว !!!

เรือนั้นอยู่ห่างออกไปเพียงไมล์เดียว ที่สำคัญคือมันกำลังไถลวิ่งตรงเข้ามาหา ไม่มีทางที่เรือจอร์จเฮนรี่จะหลีกพ้น มันอาจจะเป็นชะตากรรมหรืออาจเป็นความเคียดแค้นที่ถูกทิ้งอยู่เดียวดาย แต่จะอะไรก็ตาม ลูกเรือจอร์จเฮนรี่เตรียมใจรอรับการพุ่งชนในอึดใจข้างหน้า จู่ๆ ณ จุดที่เรือกำลังจะสัมผัสกันแค่เส้นยาแดงผ่าแปด เรือเรสคิวก็หันหัวเรือเปลี่ยนทิศ มันอาจติดก้อนน้ำแข็งจนหัวเรือต้องเปลี่ยนทางไป แต่ในความรู้สึกของลูกเรือดูเหมือนกับผีที่คุมพังงาเรือ เปลี่ยนใจในวินาทีสุดท้าย

วันต่อมา กัปตันฮอลล์ถอนสมอเรือและแล่นเรือออกจากอ่าว ไม่มีสัญญาณใดบอกให้เห็นเรือเรสคิว แต่ลูกเรือก็พากันเงียบงันตลอดทั้งวัน พวกเขาจับตาอยู่ที่ขอบฟ้าด้วยความหวาดกลัว และแล้วมันก็มาตามเวลาในตอนเย็น ตรงจุดที่มันถูกทิ้งอีกครั้ง แล้วก็อีกครั้งในตอนเช้าของอีกวันหนึ่ง คราวนี้มันลอยออกไปทางทะเลปิด หายไปในเวลาร่วมชั่วโมง

ไม่มีใครรู้ว่าที่สุดแล้ว เรือเรสคิว ลงเอยอย่างไร บางคนเชื่อว่ามันสิงอยู่ในทะเลเกาะแบฟฟิน แต่ไม่ว่าจะเชื่ออย่างไร ผีเรือเรสคิวก็มีอิทธิพลต่อความเชื่อของชาวเรือในย่านนั้น จนมีใครหลายคนหวังว่าจะได้เห็นมันสักครั้ง…

Share the Post: