โดย หนังสือพิมพ์ มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1353
คอลัมน์ โบ๊ตอะฮอย โดย พล.ร.อ.ประเสริฐ บุญทรง PRASERT@NAVY.MI.TH
“ผมอยากจะเน้นย้ำอีกเรื่องคือรัฐธรรมนูญมาตรา 70 บอกว่าบุคคลผู้เป็นข้าราชการพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชน แต่วันนี้หลายฝ่ายไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง ที่มันมีปัญหาก็เพราะไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง และเอาให้ชัดอีกข้อหนึ่งก็คือมาตรา 215 บอกว่ากรณีรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งอันเกิดจากการยุบสภาก็ดี หรือหมดวาระก็ดี ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ รัฐธรรมนูญใช้คำว่าต้อง เพราะฉะนั้น ไล่เราไปไม่ได้ เพราะต้องอยู่ นี่คือระบอบประชาธิปไตย…
…ความวุ่นวายเกิดจากหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือเมื่อใดองค์กรตามปกติ ถูกองค์กรที่นอกระบบครอบงำหรือมีอิทธิพลมากกว่าองค์กรปกตินั้นก็จะวุ่นวาย หรือถ้าจะแปลเป็นไทยชัดๆ ก็คือว่า วันนี้องค์กรนอกรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ในรัฐธรรมนูญ คือบุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญเข้ามาวุ่นวายองค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญมากไป
…บางคนไม่พอใจกติกา แต่จะขอให้แก้กติกานอกระบอบประชาธิปไตย นอกระบบรัฐธรรมนูญ เป็นไปไม่ได้ ผู้เสียผลประโยชน์ใช้กฎหมู่ แต่ไม่มีคนบังคับใช้กฎหมาย ในที่สุดก็กลายเป็นการสร้างความวุ่นวาย และสร้างปัญหา
เรายังขาดการเคารพในระบอบประชาธิปไตย เรื่องหนึ่งเสียงต่อหนึ่งคน บางคนยังเข้าใจว่าตัวเองมีความสำคัญมากกว่าคนจำนวนมาก เพราะฉะนั้น เสียงของตัวเองต้องดัง และมีความหมายมากกว่าเสียงคนอื่น ไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชน มีคนอยากเป็น นายกฯ มาตรา 7 ทั้งๆ ที่มีพระราชดำรัสบอกแล้วว่า มาตรา 7 นั้นไม่เป็นประชาธิปไตย ก็เลยทำให้วุ่นวายกัน…”
ส่วนหนึ่งจากการประชุมมอบนโยบายปฏิบัติราชการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการ นายกรัฐมนตรีให้แก่หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการระดับ 10 ขึ้นไป เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 เวลา 14.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล (ผู้จัดการออนไลน์ 29 มิ.ย.2549 19.08 น.)
หลังจากนโยบาย 29 มิถุนายน 2549 ได้แพร่ออกไป สถานการณ์ทางการเมืองได้เกิดความวุ่นวายและสับสนมากขึ้น เสมือนจุดประกายไฟใกล้วัตถุระเบิดที่พร้อมที่จะระเบิดขึ้นได้ทุกขณะ เมื่อหลายฝ่ายแสดงความไม่พอใจคำกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณข้างต้น โดยส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและนำไปสู่การแตกแยกทางความคิดของสังคม พรรคการเมืองฝ่ายค้านรวมทั้งนักวิชาการได้เรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณระบุถึงบุคคลดังกล่าวให้ชัดเจนว่าเป็นผู้ใด
ขณะที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิเสธไม่เคยมีใครขอร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง และ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ ก็ยืนยันว่า การลาออกจากตำแหน่งของตนเป็นการลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับผู้มีบารมีและไม่รู้ด้วยว่าใครคือผู้มีบารมี
ต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณได้กล่าวย้ำในที่ประชุม ครม. และที่ประชุมพรรคไทยรักไทยอีกครั้งว่าจะขอรักษาระบอบประชาธิปไตยด้วยชีวิต ซึ่งรู้ตัวดีว่ากำลังทำอะไรอยู่และจะเกิดผลอะไรตามมา กับให้สัมภาษณ์ว่าสื่อมวลชนนั่นเองคือผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ส่วนบุคคลในรัฐบาลรักษาการนี้ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า ผู้มีบารมีเป็นสามัญชน บ้างก็ว่า เป็นหน่วยงานต่างๆ ที่ออกมาโจมตีพรรคไทยรักไทย โดยไม่ยอมรับกติกาและกฎหมายนั่นเอง ขอให้ทุกคน
ช่วยกันประคับประคองให้บ้านเมืองเป็นปกติสุขซึ่งคล้ายๆ กับว่า “มีผู้ใช้เท้ากวนน้ำให้ขุ่น แต่กลับบอกว่าตะกอนจงอย่าขุ่น แทนที่จะตำหนิหรือมัดขาคนที่กวนน้ำอยู่”
ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 55 ปีที่แล้วในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 โดยไม่มีใครคาดฝัน เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ไปเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุด “แมนฮัตตัน” ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบให้แก่ไทย ตามโครงการว่าด้วยการช่วยเหลือร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยรัฐบาลจะได้นำเรือขุดนี้ไปใช้ในการขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา พิธีอันทรงเกียรติเพื่อรับเรือขุดแมนฮัตตันนี้ กระทำกันที่ท่าราชวรดิฐ ได้มี
ทูตานุทูตของประเทศต่างๆ ได้ร่วมเป็นเกียรติเป็นจำนวนมาก
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ภายหลังจากพิธีรับมอบเรือเรียบร้อยแล้ว จอมพล ป. ก็ได้รับเชิญให้ขึ้นไปชมเรือแมนฮัตตัน เมื่อย่างเหยียบขึ้นเรือ ทหารเรือกลุ่มหนึ่งพร้อมปืนกลมือ ภายใต้การนำของ นาวาตรี มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัย ก็ปราดเข้าประชิดตัว จอมพล ป. และบังคับให้ไปลงเรือยังกองเรือรบ ท่ามกลางการตกตะลึงของบรรดาทูตานุทูตต่างประเทศ และผู้ติดตามจอมพล ป. ทั้งหมดได้แต่มอง นาวาตรีมนัส จารุภา นำตัว จอมพล ป. ไปยังเรือรบหลวงศรีอยุธยากลางแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเป็นตัวประกัน ในการตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมือง
ต่อมารัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ประกาศให้ประชาชนได้ตระหนักว่า การเรียกร้องใดๆ ของฝ่ายกบฏนั้นทางรัฐบาลจะไม่ยินยอมด้วยประการทั้งปวง และยังได้ประกาศให้พวกกบฏปล่อยตัว จอมพล ป. ให้เป็นอิสรภาพโดยเร็วที่สุด ถ้าไม่ปล่อย จอมพล ป. ทางรัฐบาลจะจัดการโดยเด็ดขาดและรุนแรงต่อไป
คำแถลงการณ์ไม่เป็นผล ฝ่ายทหารเรือไม่ยอมปล่อยตัว จอมพล ป. เพราะมีความมั่นใจอยู่อย่างหนึ่งว่า การควบคุมตัว จอมพล ป. ไว้เป็นตัวประกันนั้น จะสามารถเรียกร้องสิทธิ์ทางการเมืองได้เป็นอย่างดี และยังเข้าใจต่อไปอีกว่า คงจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น
แต่ผิดถนัด คณะรัฐประหารมิได้มีความห่วงใยกับชีวิตของ จอมพล ป. แม้แต่น้อย ความเลื่อมใสศรัทธาในตัว จอมพล ป. นั้นเกือบจะไม่มีอยู่ในคณะรัฐประหารแล้ว ดังนั้น คณะรัฐประหารจึงได้ส่งกำลังรบเข้าปราบปรามทหารเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา การต่อสู้เกิดขึ้น และทหารบกสามารถยึดสถานที่สำคัญๆ ไว้ได้ และตีทหารเรือแตกพ่ายไป จนไม่สามารถจะควบคุมการต่อสู้ไว้ได้
ในวันรุ่งขึ้นที่ 30 มิถุนายน 2494 นั้นเอง รัฐบาลได้ส่งเครื่องบินจากกองทัพอากาศมาทิ้งระเบิดเรือรบหลวงศรีอยุธยา เพื่อเป็นการคุกคามให้ทหารเรือปล่อย จอมพล ป. แต่ นาวาตรีมนัส ยังยืนกรานที่จะไม่ยอมปล่อย จอมพล ป. จนกว่าจะมีการเจรจา คณะรัฐบาลจึงได้ตัดสินใจจะทิ้งระเบิดเรือรบหลวงศรีอยุธยา โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของจอมพล ป. และความเสียหายที่จะเกิดแก่เรือรบหลวงศรีอยุธยา
เรือหลวงศรีอยุธยา
เสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว ภายในไม่กี่วินาทีเรือรบหลวงศรีอยุธยาก็เริ่มเอียง ภายในเรือรบหลวงศรีอยุธยาเกิดการโกลาหลวุ่นวาย ทหารเรือบางส่วนพากันกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาว่ายเข้าหาฝั่ง โดยมีทหารเรือคนหนึ่งได้ช่วยชีวิต จอมพล ป. ให้กระโดดน้ำหนีรอดมาได้อย่างหวุดหวิด
สำหรับ นาวาตรีมนัส จารุภา เมื่อเอาตัวรอดมาได้แล้วก็หนีออกนอกประเทศ โดยขอลี้ภัยการเมืองอยู่ในกัมพูชา
การปะทะกันครั้งนี้ มีคนตายถึง 68 คน และบาดเจ็บกว่า 1 พันคน มีการยิงปืนใหญ่เรือขึ้นมาบนฝั่งเป็นเหมือนสงครามกลางเมือง เนื่องจากทหารเรือได้ระดมกำลังมาร่วมรบอย่างเต็มที่ โดยได้มีคำสั่งให้กองเรือที่กำลังฝึกซ้อมอยู่ในทะเลกลับเข้ามาร่วมรบ ขณะที่กองทัพบกได้มีการนำรถถังเข้ามาช่วยในการปราบปรามด้วย
หลังจากกบฏแมนฮัตตันแล้ว กองทัพเรือได้มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จนเกือบจะกล่าวได้ว่ากองทัพเรือนั้นไม่มีอิทธิพลใดอีกแล้ว รัฐบาลได้ส่งพวกของคณะรัฐประหารที่วางใจได้ เข้าสวมตำแหน่งสำคัญๆ ไว้โดยสิ้นเชิง ส่วนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ถูกปลดออกจากตำแหน่งหมด
เมื่อพวกของนายปรีดีในกองทัพเรือหมดอำนาจลง อิทธิพลในทางการเมืองของนายปรีดี ก็หมดลงไปด้วย
มีผู้ทำนายดวงของบ้านเมืองขณะนั้นไว้ว่า ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2492 – เดือนตุลาคม พ.ศ.2494 เป็นช่วงเวลาที่ดาวเสาร์ได้โคจรเข้าไปทำมุม 90 องศากับดาวเสาร์เดิม เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศเสื่อมโทรม ผู้บริหารของประเทศมีการเล่นพรรคเล่นพวกเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง คอร์รัปชั่นจนกระทั่งคณะทหารเรือกลุ่มหนึ่งทนดูต่อไปไม่ได้
จึงทำการปฏิวัติแต่ไม่สำเร็จครั้งนี้ (โดย พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ จาก http://www.dabos.or.th/pr24.html )
ถ้าดวงชะตาของบ้านเมืองในช่วงมิถุนายน-ตุลาคม 2549 อยู่ในเกณฑ์ดาวเสาร์ เล็งมุมเดียวกันกับเมื่อปี 2494 แล้วละก็ คงจะแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายได้ยาก นอกจากจะอาศัยการสร้างบันไดทองแห่งชีวิตตามแนวทางของ มงคลสูตร 38 ประการ (โดย รังสรรค์ แสงสุข, ปราชญา กล้าผจญ, พีระ เกริงกำจร) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผู้บริหารประเทศรู้จักมงคลชีวิตข้อ 23 มีความถ่อมตน นิวาโต จ ซึ่งแปลได้ว่า ความไม่เย่อหยิ่ง จองหอง ความไม่ทะนงตน ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น เป็นผู้ไม่แข็งกระด้าง
บุคคลที่หลงตัวเอง ถือว่าตัวดี มีอยู่ 6 อย่าง ได้แก่ ชาติตระกูล ทรัพย์สมบัติ รูปร่างหน้าตาความรู้ความสามารถ ยศตำแหน่งและบริวาร บุคคลใดมีแต่อวดดื้อถือดี ขาดความถ่อมตนจะมีโทษ 4 ประการ คือ ทำให้เสียคน เป็นคนดีได้ยาก ทำให้เสียมิตร ทำให้เสียหมู่คณะ และเป็นคนรับความดีไม่ได้ เสมือนเป็น “น้ำชาล้นถ้วย”
ความถ่อมตนนี้ ขยายความออกได้เป็นถ่อมกาย ถ่อมวาจา ถ่อมใจมีลักษณะอยู่ 3 ประการ คือ กิริยาอ่อนน้อม วาจาอ่อนหวาน และใจอ่อนโยน ซึ่งมีความหมายว่าใจนอบน้อมละมุน ละม่อม ถ่อมตัว สงบเสงี่ยม สุภาพเรียบร้อย มีเมตตา กรุณาปรานี โอบอ้อมอารี ไม่แสวงหาประโยชน์ในทางที่ผิดศีลธรรม เป็นผู้ตั้งอยู่ในความเที่ยงตรง ไม่คิดทำลายผู้อื่นเพื่อประโยชน์ตน เมื่อใครเขาไม่เห็นพ้องกับตนก็ไม่ด่วนโกรธเช่นนี้ชื่อว่า มีใจอ่อนโยน ผู้ที่ยึดถือมงคลข้อนี้จะได้ชื่อว่าเป็นมงคลสูงสุด เพราะเป็นเหตุให้ผู้ประพฤติมีผู้คนยกย่องเชิดชู และดำรงชีวิตของตนไปสู่ความเจริญก้าวหน้า โดยสวัสดีในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ
คงจะยังไม่สายเกินไปที่ผู้บริหารประเทศจะลดความตึงเครียดของบ้านเมือง หลีกเลี่ยงการเกิดเหตุการณ์รุนแรง แม้ว่าดาวเสาร์จะอยู่ในมุมที่ไม่ดี โดยอาศัยมงคลสูตรข้อนี้
:: บทความประกอบเพิ่มเติม ::
ในหนังสือ “เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล” ของ น.ต.มนัส จารุภา ได้เขียนบรรยายสถานการณ์ช่วงนั้นว่า
“การที่ต้องมาแกร่วเตรียมพร้อมอยู่วันแล้ววันเล่า พวกเราซึ่งมีนายทหารหนุ่มหลายคนได้มีโอกาสพบปะพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์พฤติการณ์เหลวแหลกต่างๆของรัฐบาลระยะนั้นอยู่เสมอ ผสมกับความเบื่อหน่ายต่อการคุมเชิงคาราคาซัง อยากให้แตกหักลงไปอย่างเด็ดขาด เพราะพวกเราเชื่อมั่นในความสามัคคีรักหมู่คณะ ซึ่งได้แสดงให้เห็นมาแล้วในกรณี ๒๖ ก.พ.(กบฏวังหลวง) แต่เราไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ในขณะนั้น เพราะเรายังไม่มีการรวบรวมกันเป็นกลุ่มก้อน จึงได้แต่เฝ้าดูสภาพการณ์ที่เลวร้ายเรื่อยๆมา”
อย่างไรก็ตาม กลุ่มทหารหนุ่มในกองทัพเรือต้องการให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีและผู้นำประเทศคนใหม่ เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป. ขณะนั้นมีข่าวคอรัปชั่นอยู่เนืองๆ
กลุ่มทหารหนุ่มที่คิดก่อการในขณะนั้นประกอบด้วย
น.อ.อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับกองกำลังหมู่รบ
น.ต. มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงรัตนโกสินทร์
น.ต.ประกาย พุทธารี กรมนาวิกโยธิน
น.ต.สุภทร ตันตยาภรณ์ กรมนาวิกโยธิน
สองคนหลังได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทำให้มีการติดต่อคิดก่อการขยายวงต่อไปยังบุคคลอื่นๆในกองทัพบกและกองทัพอากาศ กลุ่มก่อการคิดลงมือปฏิบัติการหลายครั้ง แต่มักมีเหตุความไม่พร้อมเข้ามาสอดแทรกอยู่เสมอ
ครั้งแรก คิดจะควบคุมตัวจอมพล ป. และนายทหารระดับผู้ใหญ่ของกองทัพบกที่คุมกองกำลังสำคัญ ในงานพิธีส่งทหารไปราชการสงคราม ณ ประเทศเกาหลี วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๓แต่ก่อนลงมือกระทำการหนึ่งวัน ผู้ก่อการได้ประชุมหารือกันพบว่า ทหารนาวิกโยธินหน่วยที่ ๔ และ ๕ ไม่สามารถเคลื่อนกำลังออกจากที่ตั้งได้ จำเป็นต้องระงับแผนการทั้งหมดเป็นการด่วนและยังมาทราบภายหลังอีกด้วยว่า ความลับที่จะก่อการเกิดรั่วไหลไปถึงหูของท่านผู้บัญชาการทหารเรือ ท่านจึงมีบัญชาให้หน่วยสารวัตรทหารเรือติดอาวุธรักษาการอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันเหตุร้าย การรวมกลุ่มผู้ก่อการหรือที่เรียกตนเองว่า “คณะกู้ชาติ” ได้พยายามทำงานรัดกุมขึ้น พากันวางตนสงบเรียบร้อยเพื่อรอโอกาสต่อไป
ครั้งต่อมา วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ มีการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลระหว่างทีมกองทัพบกกับทีมกองทัพเรือ มีนายทหารผู้ใหญ่ของสามเหล่าทัพไปร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงที่สนามกีฬาแห่งชาติ ผู้ก่อการวางแผนที่จะควบคุมตัวบุคคลสำคัญต่างๆอย่างเช่นครั้งก่อน แต่มีเหตุเป็นไปอีก เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. ก่อนหน้าการแข่งขันเพียงสองชั่วโมง มีสายรายงานมาที่กองเรือรบว่า มีกำลังจากโรงเรียนตำรวจปทุมวันเคลื่อนไหวผิดปกติ คือ ได้เห็นหน่วยกำลังตำรวจประมาณสองกองร้อยมีอาวุธพร้อม เคลื่อนตัวไปตามถนนเพลินจิตจนถึงถนนหลังสวนการปฏิบัติการครั้งนี้จึงต้องยกเลิกไปอีกครั้ง
ถึงต้นปี ๒๔๙๔ คณะผู้ก่อการยังไม่ล้มเลิกที่จะทำการปฏิวัติ เพราะทางกระทรวงกลาโหมจะทำการแจกเข็มเสนาธิปัตย์ ซึ่งงานนี้จอมพล ป. เป็นประธานในพิธี มีการตกลงกันว่า เรื่องการควบคุมตัวภายในกระทรวงกลาโหม มอบให้เป็นหน้าที่สายงานของฝ่ายทหารบก กำลังทหารเรือจากกองเรือรบจะจู่โจมเข้าปลดอาวุธจากทหารรักษาการณ์ ทหารบกอีกส่วนหนึ่งจะเคลื่อนกำลังจาก ร.พัน ๑ รักษาพระองค์ เข้าตรึงพื้นที่รอบๆกระทรวงกลาโหม การก่อการครั้งนี้จะเริ่มเวลา ๑๔.๐๐ น. แต่ถึงวันนัดหมายทุกอย่างผิดพลาดหมด เพราะสายทหารบกบางส่วนที่จะเข้าควบคุมกระทรวงกลาโหมไม่กล้าเคลื่อนกำลังออกมา คงมีกำลังทหาร ร.พัน ๑ รักษาพระองค์สองหมวด เคลื่อนกำลังทำทีท่าฝึกซ้อมการใช้ปืนกลหนัก แต่ได้ขนเอาลูกปืนจริงออกมาฝึก เมื่อปฏิวัติต้องล้มกลางคัน ผู้บังคับบัญชาทหารหน่วยนี้เลยถูกเพ่งเล็งจากกองทัพบกเป็นอย่างมาก กลิ่นของผู้ก่อการโชยเข้าจมูกรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง ปรากฏว่าที่บ้าน น.อ.อานนท์ ปุณฑริกาภา ตรงแยกราชวิถี และที่บ้าน น.ต.มนัส จารุภา ที่ศรีย่าน มีตำรวจนอกเครื่องแบบไปซุ่มจับตาการเคลื่อนไหวอยู่บ่อยๆ
ความพยายามยังไม่สิ้น……กลุ่มทหารเรือหนุ่มได้กำหนดวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๙๔ เป็นวันก่อการ เพราะวันนั้นเป็นวันประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจะบุกเข้าทำเนียบควบคุมตัวนายทหารชั้นผู้ใหญ่ จู่โจมยึดวังปารุสกวัน จากนั้นจะใช้กำลังจากนาวิกโยธินหน่วยที่ ๔ และ ๕ เข้าสมทบกับกำลังหมู่รบจากกองเรือยึดพื้นที่สำคัญต่างๆของทางราชการ
ครั้นใกล้เวลา ๑๑.๐๐ น. น.ต.ประกาย ไม่สามารถนำนาวิกโยธินทั้งสองหน่วยออกจากที่ตั้งได้ ทั้งที่หน่วยอื่นๆพากันขนอาวุธยุทธภัณฑ์ออกจากกรมกองแล้ว จึงจำเป็นต้องสลายกำลังทุกหน่วยออกเป็นการด่วน ส่วนอาวุธต้องรอถึงกลางคืนจึงนำเข้าไปเก็บในคลังโดยไม่มีผู้สงสัย ความผิดพลาดครั้งนี้ ทำให้ทหารจากหน่วยต่างๆเฉพาะอย่างยิ่งจากกองทัพบก ขอถอนตัวออกจากขบวนการ จน น.อ.อานนท์ และน.ต. มนัส ต้องชี้แจงให้ทราบว่า ผู้ใหญ่ทางรัฐบาลยังไม่รู้เรื่อง ขอให้อดทนและยึดมั่นในอุดมการ กระนั้นก็ตามสำหรับที่ทัดทานไม่อยู่ก็จากไปด้วยความเข้าใจอันดี
คณะผู้ก่อการได้ตระหนักดีว่า หากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไป ข่าวของคณะกู้ชาติคงจะต้องเข้าหูรัฐบาลในไม่ช้านี้ ต้องเร่งลงมือทำการโดยเร็ว และเห็นว่าถัดไปอีกไม่กี่วัน คือ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะประกอบพิธีรับมอบเรือขุดแมนฮัตตัน ที่ท่าราชวรดิษฐ์ ซึ่งเหตุผลที่คิดก่อการในวันนั้น น.ต.มนัส จารุภา ได้กล่าวอ้างไว้ในหนังสือ “เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล” ความว่า
ประการแรก กำลังฝ่ายรัฐบาลจะใช้ออกมาสู้รบนั้นมีจำนวนลดลง เพราะได้ปล่อยทหารกลับภูมิลำเนา ไม่มีกำลังพอจะออกมาทันท่วงที ต้องใช้เวลาถึง ๓ ชั่วโมงในการเคลื่อนกำลัง ผิดกับฝ่ายก่อการที่มีกำลังทหารนาวิกโยธินใช้เป็นกำลังหลักครบตามอัตรา เพราะยังไม่ได้ปลดปล่อยทหารไป
ประการที่สอง การควบคุมตัวบุคคลที่เราต้องการทำได้ง่าย เพราะอยู่ในพื้นที่ที่ น.อ.อานนท์ สามารถสั่งการได้สะดวก
และแล้ว….วันสำคัญก็มาถึง….
พิธีรับมอบเรือขุด “แมนฮัตตัน” (29 มิถุนายน 2494) จากองค์การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้มอบ มีบรรดาทูตานุทูตประเทศต่างๆมาร่วมงานมากมาย เมื่อพิธีเสร็จสิ้น จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ก็ขึ้นไปชมเรือ
น.ต.มนัส พร้อมด้วยหน่วยรบจำนวนหนึ่งรออยู่ตรงโคนต้นมะขามริมเขื่อนที่หมู่รบ แต่ละคนติดอาวุธปืนกลมือแมด กองกำลังทั้งหมดต่างกรูถึงสะพานขึ้นเรือแมนฮัตตัน ท่ามกลางความประหลาดใจของแขกเหรื่อทั้งไทยและเทศ หน่วยรบปิดสะพานไม่ให้คนขึ้นหรือลงในท่าจังก้า พร้อมยิงหากมีคนฝ่าฝืน
ในข้อเขียน “เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล” ได้ให้รายละเอียดตอนนี้ว่า…
ข้าพเจ้าวิ่งขึ้นสะพานที่ทอดลงมาจากเรือแมนฮัตตัน ที่ปลายสะพานด้านล่าง ข้าพเจ้าได้พบกับท่านพลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวัน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ ท่านยืนตะลึงขวางทางขึ้นอยู่ ข้าพเจ้าจึงทำความเคารพท่านและเรียนขอทาง ท่านรับการเคารพอย่างงงๆพร้อมกับหลีกทางให้ เมื่อวิ่งขึ้นไปบนเรือแมนฮัตตันแล้วก็หยุดยืนอยู่ตรงนั้น ข้าพเจ้าหันมองไปรอบๆตัวเพื่อสำรวจดูว่า มีใครถืออาวุธอยู่ใกล้หรือไม่….เมื่อไม่มีอะไรส่อเค้าให้เห็นว่าจะเป็นภัยต่อข้าพเจ้าแล้ว ตกลงใจยืนรอจอมพล ป. พิบูลสงคราม ณ จุดนั้นในไม่ช้าก็แลเห็นท่านนายกรัฐมนตรีและผู้ติดตามเดินมาจากหัวเรือ มีชาวอเมริกันติดตามมาด้วยคนหนึ่ง เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีเดินเข้ามาใกล้ ข้าพเจ้าจึงร้องบอกไปว่า
“เราต้องการแต่ตัวท่านจอมพล คนอื่นไม่เกี่ยวถอยออกไป ขอเชิญท่านจอมพลทางนี้”
ชาวอเมริกันผู้นั้นเข้ากั้นกลางตัวท่านนายกฯไว้ ข้าพเจ้าเห็นท่าไม่ได้การ จึงยกปืนขึ้นประทับและสำทับอีกว่า “อเมริกาถอยออกไป” เขาเห็นว่าเอาจริงจึงหลีกห่างออกไป
ท่านนายกรัฐมนตรีถามว่าจะให้ไปทางไหน ข้าพเจ้าก็บอกให้เดินลงบันไดไปและข้าพเจ้าก็ติดตามไป ผู้ติดตามจอมพลนายกรัฐมนตรีสองนาย แต่งกายพลเรือนหนึ่งนาย ทราบชื่อภายหลังว่า พ.ท.สนิท หงส์ประสงค์ และอีกนายหนึ่งเป็นนายตำรวจ แต่งเครื่องแบบสีกากี ทราบภายหลังชื่อ ร.ต.อ.สิงห์โต สังกาส ทั้งสองนายเดินตามหลังข้าพเจ้ามา เมื่อเดินมาเกือบถึงโคนท่าราชวรดิษฐ์ข้าพเจ้าฉุกคิดขึ้นมาว่า ผู้ติดตามทั้งสองนายอาจมีอาวุธปืนพกติดตัวอยู่ จึงหันกลับไปที่ ร.ต.อ.สิงห์โต เอามือตบที่บริเวณสะโพกทั้งสองข้าง ที่สะโพกขวาข้าพเจ้าพบปืนพกแบบรีวอลเวอร์หนึ่งกระบอก จึงชักออกมาถือที่มือซ้าย ส่วน พ.ท.สนิท ไม่มีอะไร
เรือหลวงศรีอยุธยา
นาวาตรีมนัส จารุภา ได้คุมตัวจอมพล ป. ลงจากเรือแมนฮัตตันไปขึ้นเรือเปิดหัวที่จอดเตรียมไว้ที่ท่ากองเรือรบ แล้วแล่นไปยังเรือรบหลวงศรีอยุธยาซึ่งจอดอยู่ที่หน้าวัดราชาธิวาส จากนั้นจึงควบคุมจอมพล ป. ขึ้นเรือรบหลวงศรีอยุธยา โดยให้พักผ่อนที่ห้องโถงนายพล ส่วนผู้ติดตามสองนาย ให้แยกไปพักบริเวณป้อมปืนหัวเรือ
เรือรบหลวงศรีอยุธยาได้ล่องตามลำน้ำเจ้าพระยาลงมาถึงบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อมุ่งหน้าสู่สะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อไปจอดบริเวณหน้าสรรพวุธทหารเรือ บางนา แต่สะพานพุทธฯไม่เปิด ผิดแผนที่ตกลงกันไว้ เนื่องจากกำลังจากกองพันนาวิกโยธินที่ ๔ และกองกำลังต่อสู้อากาศยานที่จะเคลื่อนมาจากบริเวณสวนอนันต์ ธนบุรี ยังมิได้ยกกำลังข้ามสะพานมารับมอบหน้าที่
สะพานพระพุทธยอดฟ้า ถ่ายเมื่อวันพระราชพิธีเปิดสะพาน
ขณะที่ น.ต.มนัส จี้เอาตัวจอมพล ป. มานั้น ทหารเรือส่วนหนึ่งได้จู่โจมเข้าโรงไฟฟ้าและโทรศัพท์กลางวัดเลียบ ทำการยึดไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วแต่สถานการณ์ไม่ได้เป็นต่อฝ่ายรัฐบาล เมื่อน.ต. ประกาย แจ้งให้ทราบว่ากำลังกองพันนาวิกโยธินที่ ๕ ไม่สามารถออกมาจากที่ตั้งได้ เพราะว่านาวาสุ่น มาศยากุล ผู้บังคับกองพัน น.ย.๕ ไม่ยอมให้นำกำลังออกมาใช้ และขู่ว่าหาก น.ต.ประกาย เข้าไปจะยิงเอา
เมื่อนาวิกโยธินที่ ๕ ออกไม่ได้ นาวิกโยธินที่ ๔ ก็ออกไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น จึงมีทหารจากกองเรือรบเป็นหน่วยหลัก ส่วนหน่วยอื่นๆหาตัวช่วยได้ยาก ถึงมีก็นับว่าน้อยยิ่งกว่าน้อย
สรุปแล้ว ฝ่ายคณะกู้ชาติไม่ได้เป็นฝ่ายรุกเข้ายึดพื้นที่ เพื่อทำการบีบบังคับให้ฝ่ายรัฐบาลยอมจำนน กลับเป็นฝ่ายตั้งรับและรอเวลาที่จะถูกโจมตีจากกำลังฝ่ายรัฐบาล น.อ.อานนท์ ระดมกำลังตั้งรับในบริเวณพื้นที่ของกองเรือรบท่าราชวรดิษฐ์และบริเวณท่าช้างวังหลวง
ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าและโทรศัพท์กลางวัดเลียบ ถูกกำลังตำรวจรถถังยึดคืนไปแล้ว และกำลังถูกล้อมไว้ ทางกองเรือรบจึงจัดส่งหน่วยรบสองหมู่เดินทางไปช่วย และทำการยึดโรงไฟฟ้าและโทรศัพท์คืน แต่ถูกสกัดกั้นอยู่ที่ท่ากลางและถูกล้อมไว้อีก กองเรือรบจึงได้จัดส่งเรือ ต. ซึ่งมีอาวุธปืนกลขนาด ๒๐ มม. เข้าช่วยยิงคุ้มกัน ปรากฏว่าได้ผลดี สามารถถอนกำลังมาได้หมด ไม่มีอันตรายใดๆ
การปฏิวัติของฝ่ายที่เรียกตนว่า คณะกู้ชาติ ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองได้ให้ความเห็นว่า ผู้ที่ก่อการขึ้นเป็นเพียงทหารเรือบางส่วน โดยคิดว่าเมื่อเกิดการสู้รบกันขึ้นแล้ว นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บัญชาการทหารเรือ คงจะเข้าช่วยเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงๆกองทัพเรือขาดความพร้อมเพรียง เข้าทำนอง “ดอกประดู่คนละต้นบานไม่พร้อมกัน” จะเห็นได้จากข้อเขียนของ น.ต.มนัส จารุภา ในหนังสือ “เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล” ตอนหนึ่งว่า…..
ข้าพเจ้าเดินเข้าไปทางช่องทางเดินด้านขวาของฉากไม้ ทันใดก็เห็นท่านผู้บัญชาการนั่งอยู่ที่โต๊ะประชุม มีนายทหารชั้นนายพลเรือนั่งอยู่แน่นขนัด ทุกๆท่านมองดูข้าพเจ้าด้วยสายตาที่เกือบจะเป็นอันเดียวกัน
ข้าพเจ้าเดินไปที่ริมผนังห้องปลดปืนกลมือออกมาจากไหล่ เอาปืนพกออกจากเอววางกับพื้นห้อง…ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงความคารวะต่อท่านผู้ใหญ่ แล้วสาวเท้าเข้าไปกระทำความเคารพและรายงานว่า ข้าพเจ้ามาแทน น.อ.อานนท์ ท่านผู้บัญชาการรับการเคารพ แล้วถามว่าเหตุการณ์ทางฝั่งพระนครเป็นยังไง ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้เรียนไปตามตรง…
ท่านผู้บัญชาการบอกกับข้าพเจ้าว่า มีกำลังทหารบกเคลื่อนมาตามเส้นทางกรุงเทพฯ – นครปฐม ท่านได้ส่งกำลังทหารนาวิกโยธินส่วนหนึ่งไปตรึงไว้ เพื่อเป็นการป้องกันอันตราย ข้าพเจ้าจึงเรียนท่านว่า กำลังทหารบกนั้นมาจากจังหวัดเพชรบุรีและราชบุรี เป็นฝ่ายเดียวกับข้าพเจ้า กำลังเคลื่อนกำลังเข้ามาสมทบ ขอให้ท่านกรุณาสั่งการถอนกำลังทหารนาวิกโยธินกลับไปเสีย ท่านผู้บัญชาการรับฟังแล้วก็นิ่ง
สุดท้ายท่านถามขึ้นว่า “ทำไม?“
ข้าพเจ้าจึงเรียนให้ท่านทราบว่า พวกข้าพเจ้าไม่พอใจในความเหลวแหลกของคณะรัฐบาลที่เป็นอยู่ขณะนี้ ต้องการให้มีการปรับปรุงคณะรัฐบาล
ในข้อเขียนอันเดียวกันนี้ยังได้อธิบายต่อไปว่า ผู้บัญชาการทหารเรือได้สั่งให้ น.ต.มนัส จารุภา ออกไปคอยนอกห้อง สักครู่ท่านก็เดินตามออกมา น.ต. มนัส จึงขอกำลังจากท่านเพื่อไปยึดเอาโรงไฟฟ้าคืนมา และเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯให้เรือรบหลวงศรีอยุธยาแล่นผ่านออกไป แต่ผู้บัญชาการให้ไปตกลงกับพลเรือตรีกนก นพคุณ ผบ.มณฑล ทร.๑ เอาเอง
น.ต.มนัสจึงทำความเคารพและกลับออกมา รีบมุ่งไปที่ท่าช้าง ราชนาวิกสภาตรงไป บก.มณฑล ทร.๑ เข้าพบกับ พล.ร.ต.กนก นพคุณ แจ้งความประสงค์ให้ทราบ ซึ่งในหนังสือเล่มเดียวกัน น.ต.มนัส ได้บรรยายไว้ว่า
ผบ.มณฑล ทร.๑ ตอบปฏิเสธ ไม่สามารถจัดกำลังคนให้ตามที่ข้าพเจ้าขอ ข้าพเจ้าก็เรียนท่านอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าไม่มีกำลังทหารพอ ก็ขอแต่เรื่องอาวุธแล้วไปจัดหากำลังทหารเอาเอง ท่าน ผบ.มณฑล ทร.๑ ก็คงยืนกรานปฏิเสธ……”
เมื่อทหารเรือหนุ่มควบคุมตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงเรือรบหลวงศรีอยุธยาแล้ว จากนั้น “คณะกู้ชาติ” ได้ออกประกาศบีบบังคับรัฐบาลให้ลาออกโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นตัวประกัน นอกจากนี้ยังได้บันทึกเสียงจอมพล ป. ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงของกองสัญญาณทหารเรือ (ร.น.๒)
ใจความปราศรัยของท่านจอมพล ป. ให้ทหารหน่วยต่างๆในกองทัพบกและตำรวจ อย่าเคลื่อนกำลังและปฏิบัติการใช้อาวุธ โดยทางผู้ใหญ่และผู้ใหญ่จะได้เจรจากันเองอย่างสันติ แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่….คณะรัฐประหารที่ปกครองประเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๐ ไม่ยอม มีการเรียกคณะรัฐมนตรีประชุมเป็นการด่วน พร้อมกับแต่งตั้งนายวรการ บัญชา รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของฝ่ายกบฏอย่างสิ้นเชิง พร้อมกับเสนอเงื่อนไขสามประการให้ฝ่ายกบฏยอมจำนนดังนี้
ให้ส่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับคืนมาอย่างไม่มีเงื่อนไข
ให้ฝ่ายกบฏที่ออกปฏิบัติการวางอาวุธแล้วกลับเข้าที่ตั้งตามเดิน
ให้ผู้ก่อการระดับหัวหน้าเข้ามอบตัวกับรัฐบาล
นักวิชาการทางการเมืองได้วิจัยการกบฏครั้งนี้ว่า คณะรัฐประหารไม่สนใจใยดีกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม เท่าใดนักขอเพียงแต่รักษาอำนาจของคณะรัฐประหารเอาไว้ และพร้อมที่จะใช้กำลังรุนแรงเข้าปราบปรามฝ่ายกบฏ ถึงแม้จะสูญเสียจอมพล ป. ก็ตาม ซึ่งสังเกตได้จากการที่รัฐบาลไม่มีการประนีประนอมกับฝ่ายกบฏแม้แต่น้อยโดยยื่นคำขาดให้ยอมจำนนในตอนรุ่งเช้า มิเช่นนั้นจะใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นจริงตามที่รัฐบาลประกาศทุกอย่าง
ฝ่ายทหารหนุ่มของทหารเรือก็รู้สภาพการณ์เช่นนี้ เพราะตั้งแต่เวลา ๔ นาฬิกา ทหารบกและทหารอากาศฝ่ายรัฐบาลเตรียมพร้อมอย่างเต็มอัตรา ฝ่ายทหารเรือก็ทราบข่าวนี้เช่นกัน และแล้ว…..
๐๖.๐๐ น. รุ่งอรุณของวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๙๔ อาวุธหนักของฝ่ายรัฐบาลได้โจมตีฝ่ายทหารเรือ กระสุนปืนใหญ่ของรัฐบาลทำลายโรงเก็บรถยนต์ของกองบังคับการเรือรบ ระเบิดกลุ่มที่สองได้เผาผลาญคลังเชื้อเพลิงของกองทัพเรือ จากนั้นกระสุนหนักเบาได้เข้าถล่มเรือรบหลวงศรีอยุธยาเป็นระยะๆพอสายหน่อยก็มีเครื่องบินสองสามลำบินตรงมาทางเรือรบหลวงศรีอยุธยา ปืนกลต่อสู้อากาศยานขนาด ๔๐ มม.ได้ยิงสกัดกั้นไปชุดสองชุด เครื่องบินเหล่านั้นจึงหันเหออกไป ถึงตรงนี้ฝ่ายรัฐบาลซึ่งอยู่ฝั่งพระนคร และฝ่ายกบฏได้ยึดพระราชวังเดิมฝั่งธนบุรีเป็นฐานที่มั่นสาดกระสุนใส่กันตั้งแต่รุ่งอรุณจนถึงเที่ยง ด้วยอาวุธนานาชนิดเข้าใส่กัน เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายจำนวนมากแต่สถานการณ์ทุกอย่าง ฝ่ายก่อการ คือ ทหารเรือเสียเปรียบทุกกรณี การสูญเสียมีอยู่ทุกด้าน จนกระทั่งผ่านไปถึงเวลา ๑๕.๐๐ น. การสู้รบค่อนข้างชี้ขาดไปแล้วว่าฝ่ายกบฏหมดทางสู้ทุกประตู….เมื่อจอมพล ฟื้น ฤทธาคนี ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้สั่งให้เครื่องบินทิ้งระเบิดบอมเรือศรีอยุธยา ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้แล้วลามไปถึงลูกปืนที่เอาไปกองไว้หน้าห้องพักนายพลเกิดระเบิดขึ้น ทำการดับเพลิงไม่ทัน เป็นเหตุให้เรือรบหลวงลำนี้ค่อยๆจมลงอย่างช้าๆ ทุกคนต้องสละเรืออย่างไม่มีเงื่อนไข
ในหนังสือ “เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล” น.ต.มนัส ได้เขียนไว้ว่า
พอกลุ่มคนเหล่านั้นว่ายน้ำพ้นหัวเรือ ก็ถูกปืนเล็กยาวและปืนกลยิงกระหน่ำ(จากฝ่ายรัฐบาล)…..ข้าพเจ้าร้องบอกให้ทุกคน (ทหารเรือที่อยู่วังหลวงฝั่งธนบุรี) ที่ประจำปืนอยู่บนป้อมยิงต้านทานไว้ โดยไม่ต้องเสียดายลูกปืน เราสามารถยังยั้งการยิงจากพื้นดินไว้ได้มาก แต่ไม่อาจยับยั้งการยิงกราดจากเครื่องบินที่เฝ้าโฉบลงมาอยู่เรื่อยๆ
ปืนกลต่อสู้อากาศยานขนาด ๔๐ มม. เรือหลวงศรีอยุธยา
เมื่อบรรดาคนว่ายน้ำเคลื่อนเข้ามาใกล้ป้อม จึงได้เห็นว่า จอมพล ป. ก็รวมอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย….
เย็นวันนั้นคณะผู้ก่อการก็รู้ตนเองว่าถึงกาลอวสาน ทุกคนต่างหลบหนีเอาตัวรอดทางวัดท้ายตลาด ส่วนทหารเรือหน่วยต่างๆก็หยุดยิงยอมวางอาวุธ โดยมีทหารบกและทหารอากาศเข้าเคลียร์พื้นที่
ชีวิตและเลือดเนื้อของทหารหาญชโลมลงแผ่นดิน………
รบเพื่อใคร…ไม่มีคำตอบ แต่ที่เห็น คือ คนไทยห้ำหั่นกันเอง!
ที่สุด….ฝ่ายรัฐบาลด้วยการประสานกำลังทั้งตำรวจ กองทัพบกกองทัพอากาศ สามารถปราบปรามฝ่ายกบฏอย่างราบคาบ ผลขอการกบฏครั้งนี้นับได้ว่าทำความเปลี่ยนแปลงให้กองทัพเรืออย่างใหญ่หลวง
ทหารเรือถูกสั่งปลดประจำการประมาณ ๗๐ นาย โดยเฉพาะในเขตเมืองหลวง กองทัพเรือไม่มีอำนาจใดแม้แต่น้อย รัฐบาลเข้าควบคุมกองทัพเรือไว้อย่างเด็ดขาด ไม่ต้องหวาดระแวงกองทัพเรืออีกต่อไป
ฝ่ายทหารเรือจึงหมดอำนาจทางการเมืองตั้งแต่นั้นมา !!!