marinerthai

นักสมุทรศาสตร์ นักวิจัยกลางทะเลลึก

หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน วันที่ 10 กันยายน 2549

 เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน

นักสำรวจกำลังหย่อนเครื่อง CTD ลงไปในทะเลเพื่อวัดอุณหภูมิ ความเค็ม และความลึกของน้ำ

ใครจะเชื่อว่าผู้หญิงตัวเล็กๆจะอดทนรอนแรมกลางทะเลอันกว้างใหญ่เป็นเวลาแรมเดือน บางครั้งต้องระแวดระวังโจรสลัดที่ซุ่มโจมตีตามแนวช่องแคบมะละกา เธอถูกฝึกให้พร้อมรับมือกับอุบัติภัยทางทะเลที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพียงเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลทางทะเลอันจะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ไปรู้จักกับบทบาทของ’นักสมุทรศาสตร์’อีกอาชีพหนึ่งที่ชวนท้าทายและค้นหา

สำรวจทะเลในหลายประเทศ

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ป่าไม้ แม่น้ำลำธาร สัตว์ป่า หรือบรรดาสัตว์น้ำน้อยใหญ่ แต่คงมีไม่กี่คนนักที่เคยได้ยินหรือรู้จักการวิจัยทะเลที่ต้องลอยเรือเพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสภาพน้ำทะเลและสัตว์ทะเลต่างๆ ซึ่งเราเรียกผู้ที่ทำงานด้านนี้ว่า ‘นักสมุทรศาสตร์’

ป้อม’ สุกัญญา อบรมวรรณ สาวน้อยหน้าใสวัย 25 ปี ก็เป็นหนึ่งในทีมงานดังกล่าว เธอเป็นนักสมุทรศาสตร์การประมง (Fisheries Oceanographer) 1 ใน 4 คนของศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย โดยมีหน้าที่สำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพน้ำทะเลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเธอจะเดินทางไปกับเรือซึ่งล่องไปในทะเลอันกว้างใหญ่ ผ่านน่านน้ำของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย พม่า บังกลาเทศ ไปจนถึงอินเดีย

เรือที่ใช้ในการสำรวจ

“เราจะลงเรือสำรวจไปกับเจ้าหน้าที่ของกรมประมงซึ่งทำงานร่วมกัน โดยเราทำงานในส่วนของการวิจัยคือจะสำรวจข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับน้ำทะเล เช่น ความเค็ม อุณหภูมิ และธาตุต่างๆที่อยู่ในน้ำ นอกจากนั้นยังสำรวจเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของสัตว์น้ำที่อยู่ในทะเลบริเวณต่างๆด้วย สำหรับการสำรวจน้ำทะเลนั้นเราจะมีเครื่องมือที่ใช้ในการสำรวจและวัดผลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเค็ม ความลึก อุณหภูมิ คลอโรฟีลล์ในน้ำ สารอาหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพน้ำ ส่วนการสำรวจชนิดและปริมาณสัตว์น้ำนั้นเราจะดูจากปลาหรือสัตว์น้ำที่ติดมากับอวนลากที่ทางเจ้าหน้าที่ของกรมประมงทำการลากอวนขึ้นมา โดยเราจะทำการบันทึกข้อมูลต่างๆเก็บไว้ เช่น ชนิด ขนาด จำนวนที่พบ”

ข้อมูลที่ทางนักสมุทรศาสตร์เก็บรวบรวมนั้นจะเป็นข้อมูลเชิงวิชาการที่ประเทศต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์คุณภาพน้ำซึ่งมีผลต่อทรัพยากรทางทะเลและการประมง ทำให้ทราบว่าปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นหรือลดลง ควรจะทำการประมงในลักษณะใด รวมทั้งรู้ว่าการทำประมงและการทำอุตสาหกรรมในประเทศนั้นๆ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลหรือไม่ และควรจะแก้ไขอย่างไร

นำน้ำทะเลที่ได้มาตรวจสอบคุณภาพ

เครื่องมือสุดไฮเทค

ทั้งนี้ การสำรวจสภาพน้ำทะเลและสัตว์น้ำนั้นผู้สำรวจจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือต่างๆ อันได้แก่ เครื่อง CTD ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัดอุณหภูมิ ความเค็ม และความลึกของน้ำทะเลในบริเวณต่างๆ โดยขณะสำรวจต้องจอดเรือเพื่อหย่อนเครื่องมือดังกล่าวลงไปในทะเล โดยจะมีการตั้งโปรแกรมว่าต้องการวัดค่าน้ำทะเลที่อยู่ในระดับความลึกเท่าไร เมื่อหย่อนเครื่องมือลงไปแล้วกระบอกเก็บน้ำจะทำการเก็บน้ำในระดับความลึกตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิ ความเค็ม และความลึกของระดับน้ำจะถูกส่งไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผล ส่วนตัวอย่างน้ำที่เก็บได้ทางเจ้าหน้าที่จะนำไปวิจัยเพื่อหาปริมาณแพลงก์ตอนและคลอโรฟิลในน้ำต่อไป

เครื่อง TD ใช้วัดอุณหภูมิและความลึกของน้ำทะเล โดยมีวิธีทำงานเช่นเดียวกับเครื่อง CTD แต่ต่างกันที่ไม่สามารถวัดความเค็มของน้ำได้ โดยเครื่องนี้จะใช้ทำการสำรวจในกรณีที่ไม่สามารถใช้เครื่อง CTD ได้เนื่องจากมีคลื่นลมแรง เพราะเครื่อง CTD มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากจึงอาจเกิดความเสียหายหากใช้งานในขณะที่เกิดมรสุมหรือมีคลื่นลมแรง

เครื่อง XBT เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสำรวจอุณหภูมิ ความเค็ม และความลึกของน้ำทะเลในลักษณะเดียวกับเครื่อง CTD แต่ต่างกันตรงที่เครื่อง XBT สามารถทำการสำรวจในขณะที่เรือวิ่งอยู่ได้โดยไม่ต้องจอดเรือเพื่อหย่อนเครื่องมือลงไปในน้ำ ซึ่งถึงแม้จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ก็มีหน่วยงานที่ใช้เครื่องดังกล่าวไม่มากนักเพราะเครื่องนี้มีค่าใช้จ่ายสูงด้วยเช่นกัน เนื่องจากตัวเซ็นเซอร์ที่ใช้ในเครื่องจะสามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

สุกัญญากำลังดูข้อมูลจาก CTD ที่ปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์

เครื่อง Thermo Salino Graph ใช้ในการเก็บข้อมูลอุณหภูมิและความเค็มบริเวณผิวน้ำตลอดเวลาที่เรือวิ่งไปในท้องทะเล , เครื่อง ADCP คือเครื่องมือที่ใช้ในการวัดกระแสน้ำ โดยเครื่องจะส่งคลื่นไปกระทบกับมวลน้ำ จากนั้นจะประมวลผลออกมาเป็นค่าความเร็วและทิศทางของกระแสน้ำได้อย่างแม่นยำ

Grab เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บตัวอย่างดินที่อยู่บริเวณก้นทะเล เพื่อนำดินที่ได้มาตรวจสอบคุณภาพและเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำที่อยู่บริเวณหน้าดิน โดยเมื่อดึงเครื่องมือดังกล่าวขึ้นมาจากทะเลแล้วเจ้าหน้าที่จะฉีดน้ำลงไปบนตะแกรงที่อยู่ในอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อร่อนสัตว์น้ำออกจากเนื้อดิน ซึ่งจะทำให้ทราบถึงชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวว่ามีมากน้อยเพียงใด ส่วนเนื้อดินก็จะนำไปตรวจสอบเพื่อดูว่ามีสารอาหารและแร่ธาตุชนิดใดอยู่บ้าง ซึ่งจะทำให้ทราบว่าท้องทะเลบริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณพอที่สัตว์น้ำจะอาศัยอยู่หรือไม่

ถุงลากแพลงก์ตอน

นอกจากนั้นยังมีถุงลากแพลงก์ตอน ซึ่งใช้ในการสำรวจชนิดและปริมาณของแพลงก์ตอนหรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่อยู่ในท้องทะเลบริเวณต่างๆ ซึ่งจะมี 3 ชนิดด้วยกัน คือ

1) Phyto Plankton ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนที่เป็นพืช

2) Zoo Plankton แพลงก์ตอนที่เป็นสัตว์ และ

3) Fish Larvae หรือลูกสัตว์น้ำเล็กๆ เช่น ลูกปลาหมึก ลูกปลา ที่เพิ่งเกิดและยังมีขนาดเล็กมากๆ

รอนแรมนานนับเดือน

นักสมุทรศาสตร์จัดเป็นงานที่ต้องทำด้วยใจรักจริงๆ เพราะต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และทุ่มเทเวลาในการทำงานชนิดที่เรียกว่าตัดตัวเองจากโลกภายนอกเลยทีเดียว เนื่องจากการล่องเรือสำรวจทะเลแต่ละครั้งนั้นต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ และบางโปรเจกต์อาจนานถึง 3 เดือน กว่าจะได้ขึ้นฝั่งไปเจอกับครอบครัวหรือสังสรรค์กับเพื่อนฝูง

ป้อมบอกว่า นอกจากงานสำรวจและวิจัยทะเลซึ่งถือเป็นงานหนักสำหรับผู้หญิงแล้ว หลายครั้งต้องต่อสู้กับความหวาดกลัวขณะเผชิญกับคลื่นลมที่โหมกระหน่ำ และความรู้สึกเหงาอ้างว้างเพราะหันหน้าไปทางไหนก็เจอแต่น้ำกับฟ้าสุดลูกหูลูกตา

บางโปรเจกมีทีมงานต่างๆ เข้าร่วมด้วย

“ระยะเวลาในการเดินเรือแต่ละครั้งก็ขึ้นอยู่กับโครงการ บางครั้งก็แค่ 1-2 สัปดาห์ แต่บางโครงการอาจกินเวลาถึง 2-3 เดือน คือเราสำรวจตั้งแต่ทะเลในอ่าวไทย ทะเลอันดามัน ไปจนถึงมหาสมุทรอินเดีย ลอยเรืออยู่ในทะเลนานๆก็มีเหงาบ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะช่วงแรกๆ แต่ที่รู้สึกว่าหนักมากคืออาการเมาเรือ (หัวเราะ) ขนาดเป็นคนที่ไม่เมาเรือนะ บางทีเรือโคลงมากๆก็แย่เหมือนกัน แม้แต่เจ้าหน้าที่ประมงที่เป็นผู้ชายบางคนยังถึงกับอาเจียน นอนแผ่ก็มีแต่งานนี้ก็ทำให้เรามีโอกาสหลายอย่างนะ มีโอกาสได้ไปต่างประเทศ เพราะเวลาไปสำรวจในน่านน้ำต่างๆนั้นเรือต้องเทียบท่าเพื่อซื้อเสบียงทุก 1-2 สัปดาห์ เราก็ได้ขึ้นฝั่งไปดูบ้านเมืองของประเทศนั้นประเทศนี้ ได้รู้จักเพื่อนต่างชาติ คือบางโปรเจกต์จะมีนักสมุทรศาสตร์จากประเทศสมาชิกเข้าร่วมด้วย “

ทำงานในหมู่ชายฉกรรจ์

แม้ว่านักสมุทรศาสตร์ของศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย 3 ใน 4 คนเป็นผู้หญิง แต่การออกสำรวจในทะเลแต่ละครั้ง พวกเธอต้องแยกย้ายกันไปทำงานและกลายเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวในหมู่ชายหนุ่มที่ล่องเรือสำรวจทะเลกว้างเป็นเวลาแรมเดือน แต่พวกเธอกลับยืนยันตรงกันว่า สามารถทำงานได้อย่างสบายใจโดยไม่หวั่นเกรงอันตรายแม้แต่น้อย

‘จุ๊ย’เพ็ญจันทร์ ละอองมณี หัวหน้าทีมสมุทรศาสตร์ (เสื้อแขนสั้น)

‘จุ๊ย’ เพ็ญจันทร์ ละอองมณี หัวหน้าทีมสมุทรศาสตร์ (Fishing ground and Fishery Oceanography) ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานมากว่า 12 ปี บอกว่า

“ทีมงานส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกัปตันเรือ เจ้าหน้าที่ประมง หรือคนงาน แต่ไม่กลัวนะ(หัวเราะ) เพราะรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องกันหมด ถ้าจะกลัวก็กลัวในเรื่องอุบัติเหตุต่างๆมากกว่า คืองานที่ทำมันมีความเสี่ยงตลอด อย่างออกเรือไปมหาสมุทรอินเดีย อยู่ในทะเล 4-5 วันกว่าจะขึ้นฝั่ง ถ้าช่วงนั้นเกิดเจอมรสุม เรือล่มขึ้นมาก็คงลำบาก ที่ผ่านมาก็เจอลมมรสุมบ้างแต่ไม่หนักหนาอะไร เพราะเรือของเราจะมีแฟกซ์อากาศที่สามารถรับข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ส่งมาจากหน่วยงานด้านการพยากรณ์อากาศโดยตรง ทำให้ทราบว่าสภาพทะเลในช่วงนั้นเป็นอย่างไร ถ้ามีมรสุมกัปตันก็จะแล่นเรือหลบไปอีกด้านหนึ่ง”

ขณะที่ สุกัญญา พูดถึงเทคนิคในการทำงานท่ามกลางชายหนุ่ม ว่า

“เราต้องกินง่าย อยู่ง่าย แล้วก็ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน เราไม่ได้ถือตัวว่าเราเป็นนักวิชาการ เป็นนักวิจัยนะ ถึงแม้บางคนเขาเป็นแค่คนงานในเรือเราก็ถือว่าเขาเป็นเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง โดยรวมก็ไม่ลำบากอะไรนะ อาจต้องประหยัดในการใช้น้ำเพราะเราต้องล่องเรือไปในทะเลนานๆ แต่อาหารการกินก็จัดว่าใช้ได้เพราะพ่อครัวเขาเก่ง จับโน่นจับนี่มาปรุงเป็นสารพัดเมนู (หัวเราะ)”

ทีมงานกำลังแยกสัตว์น้ำเล็กๆออกจากเนื้อดินที่ได้จากก้นทะเล

อันตรายรอบด้าน

อย่างไรก็ดี พวกเธอยอมรับว่าการล่องเรือสำรวจกลางทะเลลึกนั้นมีอันตรายอยู่รอบด้าน ทั้งภัยอันตรายจากธรรมชาติ อย่างลมมรสุม หรือคลื่นยักษ์ที่ไม่รู้จะก่อตัวขึ้นเมื่อไร อันตรายจากอุบัติเหตุต่างๆ เช่น ไฟไหม้ เรือล่ม หรืออุบัติเหตุในการทำงาน และที่น่ากลัวไม่แพ้กันก็คือภัยจากโจรสลัดที่มักดักปล้นเรือตามแนวช่องแคบมะละกาซึ่งเป็นเส้นทางหนึ่งที่เรือสำรวจต้องแล่นผ่าน ดังนั้นพวกเธอจึงถูกฝึกให้เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับทุกสถานการณ์

เพ็ญจันทร์พูดถึงวิธีการรับมือกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทุกขณะว่า

“ทุกครั้งหลังจากลงเรือไปได้ 24 ชั่วโมงจะมีการซักซ้อมกรณีเกิดเรือล่ม หรือไฟไหม้ เช่น ซ้อมรวมพล ใส่ชูชีพ เตรียมลงเรือยางขนาดเล็ก เราต้องฟังและทำตามสัญญาณต่างๆ ช่วงที่เรือผ่านช่องแคบมะละกาซึ่งมีโจรสลัดชุกชุมพวกผู้ชายก็ต้องผลัดกันเข้าเวรเพื่อคอยดูรอบๆเรือว่ามีเรือลำไหนเข้ามาใกล้หรือไม่ คือช่องแคบมะละกาจะมีระยะทางไกลพอสมควรและเราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะวิ่งเรือผ่านในช่วงกลางวันหรือกลางคืน พวกโจรสลัดจะใช้วิธีส่งเรือเร็วลำเล็กเข้ามาจอดเทียบแล้วบุกขึ้นปล้นในช่วงกลางคืน เราก็ต้องคอยระวัง ที่ผ่านมายังไม่เคยเจอสถานการณ์ร้ายแรง เท่าที่รู้เคยมีกรณีเรือสำรวจของจีนล่ม แล้วหัวหน้าทีมสมุทรศาสตร์เสียชีวิต คือเขาเป็นเพื่อนกับหัวหน้าของเรา หัวหน้าทราบข่าวก็เศร้าไปหลายวันเหมือนกัน”

ด้านสุกัญญาบอกว่า “เราต้องเชื่อฟังกัปตัน เพราะเขาจะมีประสบการณ์และรู้สภาพดินฟ้าอากาศ ปกติก็จะมีการซ้อมรับมือตลอด เช่น ถ้ามีโจรสลัดขึ้นเรือก็ให้ฉีดน้ำใส่แบบเดียวกับที่เขาฉีดน้ำสลายม็อบ (หัวเราะ) เท่าที่ทำงานมา 2 ปีก็ยังไม่เคยเจออะไรร้ายแรงนะ ตอนที่เกิดสึนามิเราก็โชคดีที่เรือของเราเข้าฝั่งก่อนเกิดเหตุวันหนึ่ง”

เสน่ห์ที่ท้าทาย

แม้งานสำรวจวิจัยทะเลจะเป็นงานที่ยากลำบาก แต่ก็มีเสน่ห์ที่ทำให้พวกเธอหลงใหลและตัดสินใจที่จะล่องเรือในท้องทะเลอันกว้างใหญ่ต่อไป เพราะสำหรับผู้หญิงตัวเล็กๆอย่างพวกเธอแล้วงานนี้ดูจะเป็นงานที่ท้าทายและมีไม่กี่คนนักที่สามารถก้าวเข้ามารับหน้าที่นี้

สุกัญญาพูดถึงงานที่เธอทำว่า “คือป้อมมองว่าทะเลมันมีเสน่ห์นะ ไม่ใช่สวยอย่างเดียวแต่มันมีบางอย่างให้ค้นหา แล้วมันเป็นการค้นหาที่ไม่สิ้นสุด เราอาจจะเจออะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ได้เจอปลาวาฬ ปลาโลมา เจอปลาสายพันธุ์แปลกๆ แล้วข้อมูลที่เราได้ก็เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย”

จดบันทึกข้อมูลโดยละเอียด

ขณะที่เพ็ญจันทร์บอกว่า “มันเป็นงานที่ท้าทายนะ คิดดูสิจะมีสักกี่คนที่ได้มาทำงานอย่างเรา เท่าที่รู้ในประเทศไทยนี่นอกจากนักสมุทรศาสตร์ของศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4 คนแล้ว ก็มีนักสมุทรศาสตร์ของกรมประมงอีกประมาณ 6 คน เท่านั้น บางคนมองว่าทำงานรอนแรมอยู่ในทะเลจะมีโอกาสมีครอบครัวหรือ แต่ก็เห็นกันนะ เราเองก็มี บางคนก็มีมาก่อนที่จะเข้ามาทำด้านนี้ แต่บางคนก็มาพบรักกันกลางทะเล (หัวเราะ)

ต้องยอมรับว่างานของนักสมุทรศาสตร์นั้นนอกจากจะตื่นเต้น ท้าทายแล้ว ยังเป็นอีกงานหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไม่น้อยทีเดียว

หมายเหตุ : ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนาทางทะเล ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยได้รับเงินสนับสนุนหลักจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกอาเซียน

Share the Post: