คอลัมน์สยามประเทศไทย หนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙
เรือศักดิ์สิทธิ์สุวรรณภูมิ ที่เป็นต้นเค้าขบวนเรือพระราชพิธีสมัยหลังๆสืบจนปัจจุบัน เกี่ยวข้องกับยุคโลหะสัมฤทธิ์-เหล็ก ของสุวรรณภูมิราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีหลักฐานสำคัญคือมโหระทึกหรือกลองทอง อันเป็นลักษณะเฉพาะของสุวรรณภูมิที่ไม่พบในจีน-อินเดีย
ผู้ศึกษาค้นคว้าวิจัยเรื่องโลหะยุคดึกดำบรรพ์ต่อเนื่องมายาวนานมาก และได้รับยกย่องระดับนานาชาติ คือ อาจารย์สุรพล นาถะพินธุ คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ดังนั้น ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงเชิญอาจารย์สุรพลขึ้นเสวนาเรื่องเรือศักดิ์สิทธิ์สุวรรณภูมิ แล้วยังให้จัดนิทรรศการย่อยๆเกี่ยวกับเรือศักดิ์สิทธิ์ ด้วยลายเส้นที่พบในเมืองไทย รวมถึงจีนและเวียดนาม ในท้องพระโรงวังท่าพระ เพื่อให้สาธารณชนเห็นหลักฐานชัดเจน ถือเป็นบริการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่อย่างเพลิดเพลินเจริญปัญญาด้วย
เพื่อให้ครบเครื่องเรื่องเรือพระราชพิธี ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาจัดขึ้นเนื่องในมหามงคลสมัย “ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี” ในวันพฤหัสบดีที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๙ ตั้งแต่เช้าถึงย่ำค่ำ วันเดียวจบ อาจารย์สุพรรณีได้เชิญครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติจากอำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี พร้อมด้วยเรือเอกณัฐวัฏ อร่ามเกื้อ หัวหน้าแผนกเรือราชพิธี กองทัพเรือ มาร่วมเห่เรือ ให้รู้ตัวจริงได้ฟังเสียงจริง ในวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดฟรี ไม่ต้องมีบัตร แถมยังมีสูจิบัตรแจกอีกต่างหาก
อาจารย์สุพรรณีจัดให้มีกิจกรรมทางปัญญาอีกหลายอย่างตลอดวันพฤหัสบดีที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๙ แต่ไม่หมดแค่นั้น พอวันเสาร์ที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๙ ในนามสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ยังร่วมกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) โดยรองผู้ว่าฯ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จัดบรรยาย”กรุงเทพฯศึกษา” และเล่นโขนกลางแปลงของกรมศิลปากร บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า เพื่อ”ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี”ด้วย แต่ยังไม่มีรายละเอียดออกมาขณะนี้ หรือจะมีแล้ว แต่ผมยังไม่รู้ เลยบอกมากกว่านี้ไม่ได้
ผมยังไม่มั่นใจว่า กทม. จะมีความรักและศรัทธาต่อ”กรุงเทพฯศึกษา”อย่างแท้จริงและเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะจริงๆ แต่ก็ยกประโยชน์ให้เป็นเบื้องต้น จึงขอสรรเสริญน้ำใจไมตรีไว้ก่อน ยิ่งถ้าสถาบันวิจัยฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร กับ กทม. ร่วมกันสร้างสรรค์”กรุงเทพฯศึกษา” โดยเชื้อเชิญปรมาจารย์อย่างอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม มาเป็นหลักทางปัญญาวิชาความรู้ ผมคิดว่าน่าจะงามละม่อมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์แน่ๆ
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา หลายคนคงเฝ้ารอการแสดงเรือพระราชพิธี อันเป็นความงดงามอันวิจิตรบนสายน้ำ ‘เจ้าพระยา’ อย่างปลาบปลื้มปีตี
เมื่อพูดถึงพิธีกรรมการล่องเรือศักดิ์สิทธิ์ จินตภาพที่ฝังหัวจากการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทยอันคับแคบทางมุมมองคงพาเราไปได้ไม่ไกลเกินกว่า 700 ปี เท่านั้น หรือพูดง่ายๆคือมักหยุดทุกอย่างแค่สมัย ‘สุโขทัย’ เท่านั้น
แต่ รศ.สุรพล นาถะพินธุ คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จะพาคุณย้อนกลับไปสู่อดีตที่ไกลกว่านั้น ไกลจนถึงยุคที่มองไม่เห็นเส้นแดนของรัฐหรืออาณาจักรใดๆทั้งสิ้น ไกลจนถึงยุคสมัยที่ยังไม่มีอักษรให้เขียน ไกลจนถึงยุคที่ยังไม่มีคำว่า ‘สยาม’หรือ ‘ไทย’ ไกลไปถึงยุคที่มนุษย์ยังมีมิติทางวิญญาณที่ผูกพันกับสายน้ำอย่างแท้จริง แต่ยุคนั้นมี ‘เรือพิธีอันศักดิ์สิทธิ์รุ่นแรก’
รศ.สุรพล นาถะพินธุ คณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
นับแสนปีมาแล้วที่มนุษย์เลือกอยู่อาศัยใกล้กับน้ำ และเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำทรัพยากรนานาชนิดรวมทั้งสัตว์ต่างๆ จนกระทั่งวันหนึ่งซึ่งไม่มีใครรู้ว่าวันไหน มนุษย์ก็สามารถสร้างพาหนะที่สามารถเดินทางในน้ำได้
หลักฐานที่ทำให้รู้ว่าบรรพบุรุษมนุษย์สามารถสร้างพาหนะเพื่อเดินทางทางน้ำสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 30,000 ปีมาแล้ว พบที่ทวีปออสเตรเลียและพื้นที่แถบภูเขาเกาะนิวกินี เนื่องจากทั้งสองดินแดนนี้ไม่พบหลักฐานการมีมนุษย์เก่ากว่านั้นอยู่ก่อน ซึ่งต่างจากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือแผ่นดินใหญ่ที่มีการพบฟอสซิลหรือซากดึกดำบรรพ์ของมนุษย์วานรอายุนับแสนๆ ปี
แต่กลับปรากฏว่ามีการค้นพบหลักฐานการมีอยู่ของมนุษย์ที่พัฒนาแล้วในดินแดนออสเตรเลียและนิวกีนี ซึ่งนั่นแสดงว่ามนุษย์เหล่านั้นต้องเดินทางไปจากพื้นที่ที่มีบรรพบุรุษของมนุษย์
จากการศึกษาพบว่า ในบางครั้งโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศทำให้มีอุณหภูมิลดลง เกิดเป็นยุคน้ำแข็งขึ้น ระดับน้ำทะเลจึงลดลง พื้นที่บางส่วนกลายเป็นผืนแผ่นดิน
เมื่อประมาณ 18,000 ล้านปีมาแล้ว ระดับน้ำทะเลลดลงต่ำกว่าปัจจุบันประมาณ 120 เมตร ตอนนั้นกรุงเทพฯคือที่สูง แต่แม้จะมีปรากฏการณ์แบบนั้น ออสเตรเลียและนิวกีนีก็ไม่เคยเชื่อมกับแผ่นดินใหญ่พอที่จะให้เดินเท้าข้ามไปได้ คงจะต้องมีการเดินทางข้ามน้ำประมาณ 20 – 30 กิโลเมตรเป็นอย่างน้อย มนุษย์ที่มีอายุ 20,000 –30,000 ปีก่อนจึงต้องมีการเดินทางไปโดยพาหนะบางอย่างอย่างแน่นอน
การเดินทางจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปออสเตรเลียนั้น มีการศึกษาอย่างมากมาย แต่ที่ได้รับการยอมรับที่สุดคือที่นักโบราณคดีชาวออสเตรเลียได้ทำการทดลองพิสูจน์จากพาหนะหลายแบบ สุดท้ายพบว่าการใช้ไม้ไผ่มัดเป็นแพสามารถเดินทางไปได้ไกลที่สุด จึงได้เสนอว่าคนกลุ่มเหล่านี้อาจใช้แพไม้ไผ่ในการเดินทาง นี่เป็นข้อมูลของพาหนะเดินทางทางน้ำที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีในขณะนี้
ส่วนที่พบเป็นเรือที่เก่าแก่ที่สุดนั้นพบที่เมืองเสี่ยวซาน มณฑลเจ๋อเจียง ประเทศจีน จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบเรือขุดมีความยาว 2 เมตร กว้าง 75 เซนติเมตร อายุประมาณ 7,500 ปีมาแล้ว ส่วนที่มีอายุใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว พบที่ประเทศจีนเช่นกันในบริเวณที่ไม่ไกลกันนัก
ส่วนเรือต่อจากแผ่นไม้กระดานพบครั้งแรกในอารยธรรมอิยิปต์ ที่แหล่งโบราณคดีอบิโดส เป็นเมืองสำคัญในสมัยราชวงศ์อิยิปต์ในช่วงต้นๆ เป็นเรือขนาดใหญ่มากยาวประมาณ 22.5 เมตร จำนวน 14 ลำ ฝังเรียงกัน
จากข้อมูลทั้งหมดทำให้พอจะสรุปได้ว่า อารยธรรมในรุ่นแรกๆของโลกหลายแห่งมีการใช้เรือ ยิ่งในกรณีของอิยิปต์ก็มีการใช้เรือหลายชนิดมากทั้งเรือเล็กๆในการประมง เรือขนส่ง และเรือที่ใช้พิธีกรรม ซึ่งเรือประเภทหลังนี้ปรากฏหลักฐานชัดเจนเป็นภาพเขียนและภาพแกะสลักในสุสานของกษัตริย์อิยิปต์และในหนังสือเกี่ยวกับความตายบรรยายว่า การนำศพหรือสิ่งของลงเรือเป็นความหมายของการนำวิญญาณไปสู่โลกหน้า
ในกรณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีข้อมูลทางอ้อมที่ชี้ว่าน่าจะมีการใช้เรือหรือแพในการเดินทางไกลไม่ต่ำกว่า 5,000 – 6,000 ปีมาแล้ว ได้ข้อมูลมาจากการแปลความโบราณวัตถุบางอย่างที่ทำมาจากเปลือกหอยทะเลชนิดที่มาจากทะเลลึก ซึ่งต้องเอาเรือออกไปดำดำน้ำไปนำมาทำเครื่องประดับ นอกจากนั้นก็มีกระดองเต่าทะเลบางชนิดที่ต้องไปจับมาจากกลางทะเลเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลที่น่าจะมีการใช้เรือในสุวรรณภูมิ
ส่วนหลักฐานที่ปรากฏค่อนข้างชัดเจนขึ้นคือ รูปลักษณ์ที่ปรากฏเป็นรูปเรือบนกลองมโหระทึกและภาชนะสำริดใส่กระดูกของวัฒนธรรมใหญ่ 3 วัฒนธรรมในอุษาคเนย์หรือสุวรรณภูมิ ได้แก่ วัฒนธรรมดองซอนบริเวณเวียดนาม วัฒนธรรมกวางตุ้ง กวางสี และวัฒนธรรมเดียนหรือเตียนที่มณฑลยูนนาน
ทั้ง 3 วัฒนธรรมนี้เป็นวัฒนธรรมใหญ่ที่ผลิตและใช้ภาชนะสำริดบรรจุกระดูกรวมทั้งกลองมโหระทึกจำนวนมากและแพร่กระจายไปในหลายดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยพบทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนใต้ หรือแม้แต่ที่บาหลีประเทศอินโดนีเซียก็พบเช่นกัน เป็นสิ่งที่สะท้อนความเชี่ยวชาญในการเดินเรือของเจ้าของวัฒนธรรมผู้ผลิตกลองมโหระทึกและภาชนะสำริดบรรจุกระดูกเหล่านี้
รูปลักษณ์บนภาชนะบรรจุกระดูกสำริดและกลองมโหระทึกบางใบเป็นลวดลายรูปเรือหัวงอนท้ายงอน บางลำเห็นชัดว่าตกแต่งเป็นลายอย่างประณีตบรรจง บางลำก็ดูไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร บางลำก็เป็นรูปหัวสัตว์ บางลำเป็นเรือยาวมีคนนั่งในลักษณะของฝีพาย บางคนก็ยืนในมือถือวัตถุยาวในแนวตั้ง ที่น่าสนใจคือบางลำกลางเรือเห็นสิ่งสร้างเล็กๆ ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมมีขาสูงขึ้นมา คล้ายบัลลังก์เล็กๆ บางครั้งจะมีคนนั่งโดยในมือถืออะไรบางอย่าง ภาพที่กลองบางใบเห็นชัดขึ้นว่าเป็นคันธนูน้าวศร ที่น่าสนใจกว่านั้นคือบางครั้งใต้บัลลังก์จะมีวัตถุคล้ายกลองมโหระทึกหรือรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายภาชนะบรรจุกระดูกตั้งอยู่
ค่อนข้างชัดว่าเรือเหล่านี้ใช้ในพิธีกรรมที่น่าจะเกี่ยวข้องกับความตายหรือสะท้อนความคิดเรื่องเรือส่งวิญญาณเหมือนกับในวัฒนธรรมอิยิปต์ รูปของคนบนเรือเห็นชัดว่าบนศีรษะคล้ายมีเครื่องประดับคล้ายขนนกสวยงาม จากบันทึกของจีนในราชวงศ์โจวบอกว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสินค้าที่ต้องการมากคือขนนกสี เพื่อนำไปเป็นที่ประดับของขุนนาง จึงเชื่อว่าขนนกนี้น่าจะเป็นเครื่องประดับศีรษะของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์
วัฒนธรรมดองซอน กวางสี และเตียน จะมีอายุใกล้เคียงกันคือ 2300 – 2500 ปีมาแล้วอาจสรุปได้ว่า หลักฐานที่แสดงการใช้เรือขนาดใหญ่และเรือที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายในสมัยโบราณนั้นคือพิธีศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ เพราะในสมัยนั้นศาสนาที่เป็นรูปแบบยังไม่มี สิ่งสำคัญของเขาก็คือวิญญาณของบรรพบุรุษ เรือพวกนี้จึงน่าจะถูกมองว่าใช้ในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์
แนวคิดเรือศักดิ์สิทธิ์ที่มีหัวเรือพิเศษจะถูกใช้เป็นหน้าที่เฉพาะเจาะจง ขอขยายแนวคิดนี้จากการศึกษาประเพณีและความเชื่อว่า ในหลายอารยธรรมของโลกนับพันปี สามารถแยกเรือได้เป็น 3 ประเภท
1. เรือเล็ก ทำมาจากหญ้าปาปิรัส หรือไม้ หัวงอนท้ายงอน ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือการประมง
2. เรือใหญ่ต่อด้วยไม้ ใช้ในการขนส่งสินค้าหรือหิน เช่น หินที่ใช้ในการสร้างพิระมิด และใช้เดินสมุทรด้วย
3. เรือต่อจากไม้รักษารูปทรงแบบเรือดั้งเดิม หัวงอนท้ายงอน ในบันทึกของอิยิปต์ระบุชัดว่าใช้สำหรับราชวงศ์เท่านั้น เช่น ท่องเที่ยว พิธีกรรมทำศพ หรือพิธีศักดิ์สิทธิ์คือในการเคลื่อนย้ายเทวรูปเท่านั้น
ดังนั้นในหลายวัฒนธรรมเรือที่มีลักษณะเฉพาะจะมีหน้าที่เฉพาะเจาะจง ในกรณีของบ้านเราตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันเราพบว่ามีเรือหลากหลายชนิด แต่เรือที่มีหัวเรือเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดีหรือในคัมภีร์ศาสนาจะเป็นเรือที่มีหน้าที่พิเศษตามเรื่องเกี่ยวกับศาสนาความเชื่อทั้งสิ้น น่าจะเรียกเรือพวกนี้รวมๆกันได้ว่า ‘เรือศักดิ์สิทธิ์’
ภาพที่ 1 เรือศักดิ์สิทธิ์สุวรรณภูมิ อายุประมาณ 3000 ปีมาแล้วเป็นลวดลายสลักด้านข้างกลองมโหระทึก พบที่วัดมัชฌิมวาส (วัดกลาง) ตำบลดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร (ภาพจาก กลองมโหระทึกในประเทศไทย.เมธินี จิระวัฒนา.สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ,2546)
ภาพที่ 2 เรือศักดิ์สิทธิ์บนภาชนะสำริดใส่กระดูกคนตาย อายุประมาณ 3000 ปีมาแล้ว พบที่เวียดนาม(ภาพจาก จ้วง:เครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่ คนไทยอยู่ที่นี่อุษาคเนย์.สุจิตต์ วงษ์เทศ.ศิลปวัฒนธรรม,2537)
ภาพที่ 3 รูปทั้ง 5 เป็นภาพบนกลองมโหระทึกในวัฒนธรรมดองซอน พบที่เวียดนาม (ภาพจากการศึกษาเรื่องสภาพแวดล้อมของวัฒนธรรมดองซอนจากลวดลายบนมโหระทึก.คงศักดิ์ งังเหงี่ยมบุญ.สารนิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาหลักสูตรปริญญาศศิลปศาสตร์บัณฑิต(โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ปีการศึกษา 2540)
ภาพที่ 4 เรือศักดิ์สิทธิ์สุวรรณภูมิ ราว 3,000 ปีมาแล้ว ลายสลักด้านข้างกลองมโหระลึก พบที่บ้านนาย เสมอ อิ่มทะสาร ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด (ภาพจาก กลองมโหระทึกในประเทศไทย เมธินี จิระวัฒนา สำนักพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรมศิลปากร 2546)
ภาพที่ 5 เรือศักดิ์สิทธิ์สุวรรณภูมิ ราว 3,000 ปีมาแล้ว ลายสลักด้านข้างกลองมโหระลึก พบที่วัดตลิ่งพัง (ศีรีวงการาม) ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ภาพจาก กลองมโหระทึกในประเทศไทย เมธินี จิระวัฒนา สำนักพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรมศิลปากร 2546).
ภาพที่ 6 “เรือศักดิ์สิทธิ์” เป็นสัญญลักษณ์ของนาค ยังมีเป็นรูปร่างของโลงศพและระนาด ฆ้องวงแบบมอญและแบบเขมร ลาวไทย จะเข้ อุปกรณ์มีเสียงที่ใช้สื่อสารกับ “ผี” อำนาจที่เหนือธรรมชาติ คือ งู นาค จระเข้
ภาพที่ 7 ลายสลักรูปเรือบนหน้ากลองมโหระทึกราว 3,000 ปีมาแล้ว พบที่เวียดนาม (ภาพจาก Encyclopedia HANOIVIETNAM, 2000)
ภาพที่ 8 พิธีพระบรมศพของกษัตริย์เวียดนามสมัยก่อน ด้านบนเป็นลายเส้นกระบวนเรือในพิธีพระบรมศพ (เขียนเมื่อ ค.ศ.1782 (พ.ศ.2325) จาก Encyclopedia HANOIVIETNAM, 2000)
ภาพที่ 9 เรือศักดิ์สิทธิ์ ลายเส้นบนมโหระทึก ราว 3,000 ปีมาแล้ว พบที่มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
ภาพที่ 10 เรือศักดิ์สิทธิ์ ลายเส้นบนมโหระทึก ราว 3,000 ปีมาแล้ว พบที่มณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน
ภาพที่ 11 กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค และเรือพระราชพิธีสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (ลายเส้นฝีมือชาวยุโรป พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1688 (พ.ศ. 2231)
ภาพที่ 12 เรือพระราชพิธีสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (ลายเส้นฝีมือชาวยุโรป พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1693 (พ.ศ. 2236)
ภาพที่ 13 ริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารค สมเด็จพระนารายณ์ฯ เขียนลงสมุดไทยขาวยาวต่อเป็นแผ่นเดียวกัน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ
หมายเหตุ
รศ.สุรพล นาถะพินธุ บรรยาย เนื่องในมหามงคลสมัย ‘ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี’ จัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ ท้องพระโรง วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549