marinerthai

ขยายคลองปานามา

หนังสือพิมพ์ ข่าวสด วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 16 ฉบับที่ 5809

คอลัมน์ รุ้งตัดแวง

สปาย-กลาส

คลองปานามามีอายุย่างเข้า 92 ปี ทำหน้าที่เป็นคลองให้เรือสินค้าเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิกแล่นผ่านมานาน จึงได้เวลาต้องปรับปรุง เพื่อรองรับเรือสินค้าที่ปัจจุบันมีขนาดใหญ่มากขึ้นและบรรทุกสินค้าได้มากขึ้น

รัฐบาลประธานาธิบดีมาร์ติน ทอร์ริฮอส เสนอให้ชาวปานามาลงประชามติขยายคลอง โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 2.1 แสนล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี

ทอร์ริฮอสชี้ว่า คลองปานามามีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องขยาย พร้อมเพิ่มเลนล่องเรือจาก 2 เลนเป็น 3 เลน เนื่องจากคลองมีขนาดเล็กไปเสียแล้ว

เพราะเรือขนาดใหญ่ที่สุดที่คลองให้แล่นผ่านได้เป็นเรือที่บรรทุกตู้สินค้าได้ไม่เกิน 4,000 ตู้

ขณะที่เรือ 27% ในโลกเป็นเรือที่บรรทุกสินค้าได้ 8,000 ตู้ หรือสองเท่าของเรือที่ใหญ่ที่สุดที่สามารถข้ามคลองปานามา และอีกเพียง 5 ปีข้างหน้าเรือสินค้าขนาด 8,000 ตู้ก็จะเพิ่มจำนวนเป็น 37%

ส่วนที่ต้องเพิ่มเลนเป็นเพราะการคมนาคมมีความหนาแน่นมาก เรือที่จองคิวไว้ต้องรอเวลาผ่านประมาณ 16 ชั่วโมง ส่วนเรือที่ไม่ได้จองต้องรอประมาณ 28 ชั่วโมง

เวลาที่ช้าไปแต่ละวันทำให้บริษัทเดินเรือต้องเสียเงินวันละ 2 ล้านบาท

คลองปานามาเป็นหัวใจด้านเศรษฐกิจของปานามา รายได้มวลรวมโดยส่วนใหญ่ของชาติเกี่ยวข้องกับคลองแห่งนี้ โดยมีเรือสินค้าของสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น แล่นผ่านมากที่สุด

เมื่อปานามาขยายคลองรายได้เข้าประเทศย่อมเพิ่มขึ้น

แม้รัฐบาลจะให้เหตุผลความจำเป็นของการขยายคลอง แต่ประชาชนบางส่วนกลับไม่อยากให้ขยาย เพราะปานามามีหนี้ก้อนโตอยู่แล้วถึง 4 แสนล้านบาท

รวมทั้งเกรงว่าค่าใช้จ่ายจะเกินงบประมาณ และเปิดโอกาสให้นักการเมืองกินนอกกินใน

ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาต่อรัฐบาลที่ไม่โปร่งใสทุกรัฐบาล

แผนที่แสดงส่วนขยายคลองปานามาและประตูกั้นน้ำใหม่ด้านทะเลแอตแลนติดและทะเลแปซิฟิก

ภาพหน้าตัดแสดงระบบประตูกั้นน้ำใหม่ที่สามารถรับเรือขนาด 12,000 TEU ได้

แผนที่แสดงจุดที่ตั้งประตูกั้นน้ำทางด้านทะเลแอตแลนติก

ระบบประตูกั้นน้ำใหม่ที่ใช้ Rolling Gates ใช้เรือ Tugboat ในการประคองและช่วยเหลือเรือในขณะปรับระดับน้ำ

ภาพแสดงการถ่ายเทน้ำเข้าเก็บในบ่อเบซินรับน้ำด้านข้าง ประตูกั้นน้ำใหม่จะมีบ่อรับน้ำจำนวน 3 บ่อ ซึ่งสามารถรับน้ำได้ถึง 60%

ภาพแสดงจุดที่ก่อสร้างประตูกั้นน้ำใหม่

เบื้องลึกอภิโปรเจ็กต์ 5 พัน ล. ขยายคลองปานามา

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3840 (3040)

กรณีการลงประชามติทั่วประเทศของชาวปานามา เพื่อตัดสินโครงการขยายคลองปานามา และพัฒนาสาธารณูปโภคที่ทันสมัย มูลค่ากว่า 5,250 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์บทหนึ่งของประเทศนี้ และของโลก นับจากคลองแห่งนี้ได้รับการขุดเมื่อ 92 ปีก่อน เพื่อเชื่อมเส้นทางการเดินทางของมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก

ตรรกะของโครงการนั้น มีความชัดเจนในตัวเอง และหากมองคะแนนประชามติที่ออกมา โดยเกือบ 80% สนับสนุนมากกว่าเสียงโหวตไม่เห็นด้วยมากกว่า 20% อย่างขาดลอย ถือว่าชาวปานามา “ซื้อ” โปรเจ็กต์นี้ด้วยความเต็มใจ เพราะมองเห็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศจะได้รับ หากโครงการขยายคลองและปรับปรุงสาธารณูปโภคให้สอดรับความต้องการใหม่ๆ โดยเฉพาะเรือบรรทุกสินค้า ที่สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต จำนวน 8,000 ตู้ และแทงเกอร์ขนาดใหญ่โตขึ้นกว่าเดิมมาก

นี่คือวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการนี้ เพราะปัจจุบันคลองปานามามีขนาดกว้าง 33 เมตร ทำให้ไม่สามารถรองรับเรือขนส่งขนาดใหญ่รุ่นใหม่ๆ ได้ทั้งหมด โดยการขยายคลองปานามาจะเริ่มดำเนินการอย่างเร็วที่สุดในปี 2550 และใช้เวลา 8 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ

ประชามติผ่านพ้นไปแล้ว หมายความว่าโครงการนี้เดินหน้าแน่ แม้จะมีความวิตกว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และปัญหาคอร์รัปชั่นที่อาจจะตามมา เพราะมูลค่าการก่อสร้างสูงมากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากตีเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะมากถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าจีดีพี 20,000 ล้านดอลลาร์

หากพิจารณาตัวเลขค่าใช้จ่ายดังกล่าว ถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขโครงการก็ไม่นิ่ง เพราะสมาคมก่อสร้างและสถาปนิกแห่งปานามาประเมินว่าจะสูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เอกอัครราชทูตปานามาประจำอินโดนีเซีย คาดการณ์ว่าตัวเลขค่าใช้จ่ายอาจสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์

นั่นหมายความว่า หากปานามาตัดสินใจลงทุนเพียงลำพัง การลงทุนครั้งนี้จะกระทบต่อฐานะการคลังอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่หากปานามาไม่ตัดสินใจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อปรับปรุงคลองหลักของประเทศ ก็อาจจะเผชิญกับคู่แข่งรายใหม่ๆ ในอนาคต อาทิ นิการากัว ที่มีโครงการจะตัดคลองที่มีขนาดใหญ่กว่า และลึกกว่าคลองปานามา ภายในปี 2562

อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายอาจบรรเทาลง เมื่อมีหลายประเทศแสดงความสนใจจะให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในโครงการขยายคลองปานามา อาทิ ประเทศเบลารุส ที่แสดงความจำนงจะจัดหาเครื่องจักรและยานยนต์สำหรับการก่อสร้าง รวมถึงอีกหลายๆ ประเทศ ที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการนี้ อาทิ สหรัฐ และสิงคโปร์

ดังกรณีของสิงคโปร์ ซึ่งเพิ่งลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับปานามา นายจอร์จ เหยียว รัฐมนตรีต่างประเทศ ได้กล่าวสนับสนุนโครงการนี้ ระหว่างเดินทางเยือนมาพร้อมคณะ โดยให้เหตุผลว่า ความที่สิงคโปร์ก็เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลแห่งหนึ่ง ตระหนักดีถึงผลประโยชน์ในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจจากการค้า ยิ่งมีการเปิดกว้างให้โลกสามารถเดินเรือสมุทรได้อย่างเสรีมากขึ้นเท่าใด ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสิงคโปร์ และเป็นผลดีต่อระบบโดยรวม

ในขณะที่ท่าทีของสหรัฐก็ไม่แตกต่างกัน มองในแง่ของการค้าระหว่างประเทศ การขยายคลองจะเป็นผลดีต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของสหรัฐมากยิ่งขึ้น

เหตุผลหนึ่ง คือ เป็นผลดีต่อท่าเรือตามแนวชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ หากมีการขยายคลอง เพราะทำให้เรือบรรทุกสินค้า และแทงเกอร์บรรทุกน้ำมันและผลิตภัณฑ์อื่นๆ สามารถใช้ศักยภาพใหม่ของคลองปานามาได้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะคลองเก่าแก่ ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี 2457 นั้น ทั้งแคบ และตื้นเขิน เมื่อเทียบกับขนาดของเรือเดินสมุทรรุ่นใหม่ๆ ยิ่งปัจจุบันการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศในแถบเอเชียเพิ่มขึ้นทุกขณะ ความต้องการช่องทางการขนส่งถือเป็นประเด็นสำคัญ

ประกอบกับที่ผ่านมาท่าเรือบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันตกมักจะเผชิญปัญหาเรื่องการสไตรก์ของแรงงานอยู่บ่อยครั้ง ทำให้การขนส่งทางทะเลชะงักงัน หนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้คือ ค่ายวอล-มาร์ต ยักษ์ใหญ่แห่งวงการค้าปลีก ดังนั้นการขยายคลองปานามาจะเพิ่มทางเลือกให้กับบริษัทได้อีกหนึ่งทางเลือก โดยผ่านเส้นทางเรือจากท่าเรือฝั่งตะวันออก ผ่านคลองปานามา

ปัจจุบันเรือเดินสมุทรของสหรัฐถือเป็นลูกค้าที่ใช้บริการคลองปานามามากที่สุด การขยายคลองในมุมมองของสหรัฐ จึงเป็นผลดีต่อการส่งออก เพราะเมื่อการขนส่งด้วยเรือขนาดใหญ่ผ่านคลองนี้ได้ ค่าขนถ่ายสินค้าก็น่าจะถูกลง และส่งผลดีต่อตลาด

ส่วนสินค้าส่งออกของสหรัฐที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการขยายคลองปานามา คือ สินค้าเกษตร เนื่องจากปัจจุบันผู้ผลิตอเมริกันส่งออกข้าวโพดโดยผ่านช่องทางคลองปานามากว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งประเทศ โดยที่สินค้าเกษตรประเภทนี้มีสัดส่วนในตลาดโลกประมาณ 4%

แต่ประเด็นด้านลบที่บางประเทศกังวลว่าจะตามมาพร้อมกับการขยายคลองปานามา ก็คือ การปรับค่าใช้บริการผ่านคลองปานามาที่คาดว่าจะสูงขึ้นจากเดิม

Share the Post: