โดย หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ วันที่ : 17 พฤศจิกายน 2549
อธิชา ชื่นใจ ทีมเดลินิวส์ 38
ทรัพยากรร่อยหรอ…ความจำเป็นที่ต้องข้ามน่านน้ำ
เคยรู้สึกว่ากุ้ง หอย ปู ปลาที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ตัวเล็กลงบ้างไหม นั่นไม่ใช่เพราะชาวประมงฝ่าฝืนจับพวกมันในฤดูวางไข่ หรือหลังจากนั้นไม่นาน แต่เป็นเพราะวันนี้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน ในเขตประเทศไทยกำลังมีปริมาณลดลงจนน่าใจหาย
ความจริงแล้วกุ้ง หอย ปู ปลาที่คนไทยบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้เป็นปริมาณเพียงส่วนน้อยที่ชาวประมงส่งขายต่อให้กับพ่อค้ารายย่อย เพราะผลผลิต หลัก ๆ ที่ได้ก็คือ การส่งเข้ายังโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูป ???
ปลาที่ถูกจับได้จะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ใหญ่ ๆ กลุ่มแรกคือ ปลาขนาดเล็กที่เรียกว่า ปลาเป็ด ปลาไก่ ซึ่งจะถูกส่งเข้าโรงงานทำปลาป่นเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ต่อไป
กลุ่มที่ 2 ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดก็คือ ส่วน ที่ส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูป ขณะที่กลุ่ม สุดท้ายก็คือปลาที่ถูกส่งต่อไปยังตลาดสดซึ่ง มีประมาณร้อยละ 30 ของปลาที่ถูกจับได้ทั้งหมด
ปู ปลา กุ้ง หอย เหล่านั้นเป็นสัตว์น้ำที่จับได้จากชายฝั่งทะเลไทย แต่หากเป็นสัตว์น้ำที่ถูกนำมาเพาะเลี้ยงในกระชัง ขนาดของรูปทรงอาจจะมีขนาดใหญ่โตกว่าตามที่ผู้เลี้ยงจะเป็น คนตัดสินว่าจะได้ราคาดีเพียงใด
กับอีกทางหนึ่งก็คือ การข้ามน่านน้ำไปจับในเขตทะเลของประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่พม่า เขมร เรื่อยไปจนถึงเวียดนาม อินโดนีเซีย โดยมีข่าวคราวการถูกจับกุมของบรรดาเรือประมงไทยที่ข้ามน่านน้ำอย่างผิดกฎหมายให้ได้ยินได้ฟังกันเป็นระยะ ๆ
“ตอนนี้ที่เราต้องออกไปจับอยู่เป็นน่านน้ำต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม ซึ่งเรืออวนลากที่เข้าไปส่วนใหญ่ก็ต้องแอบลักลอบลากกันเอง เรียกว่าเสี่ยงดวงเอา” หนึ่งในผู้ประกอบการเรือ ประมงขนาดใหญ่ที่กำลังประสบปัญหาระบุ
ความจริงผู้ประกอบการประมงไทยมีความพยายามที่จะประสานความร่วมมือกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการร่วมทุน แต่กลับเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติเมื่อเรือประมงไทยที่จับปลามาได้จะต้องไปถ่ายเทของที่ได้มาในอินโดนีเซียก่อนจะนำกลับมายังประเทศไทยได้
ต้นทุนที่เป็นจำนวนมหาศาลกับระยะเวลาในการทำงานที่จะต้องยืดออกไป เมื่อต้องเดินเรือกลับไปกลับมาทำให้ประมงไทยถอดใจ
ขณะที่เขมรเองก็เคยมีความพยายามที่จะร่วมมือกัน แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบไปเพราะขาดความชัดเจนและเป็นการตกลงกันแบบไม่เป็นทางการ
แต่จุดประสงค์หลักที่ประมงไทยต้องการข้ามน่านน้ำไปยังเขมรนั้นเป็นเพราะต้องการไปจับปลาต่อในเขตของเวียดนามที่อุดมสมบูรณ์กว่า
สหภาพพม่าเองก็เป็นอีกประเทศที่ประมงไทยเคยลักลอบข้ามน่านน้ำไปจับปลา ทว่าวันนี้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศได้ลงนามความร่วมมือที่ทำให้เรือประมงจากฝั่งไทยเข้าไปจับสัตว์น้ำในน่านน้ำพม่าได้อย่างถูกกฎหมาย
ความร่วมมือนั้นเรียกว่า FISHING-RIGHT PROGRAMM โดยเรือประมงไทยสามารถเข้าไปจับสัตว์น้ำในพม่าได้ถึง 500 ลำ ซึ่งมีผลทำให้ประมงไทยข้ามน่านน้ำไปอย่างถูกกฎหมายได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. 47 โดยเรือชุดแรกออกไปยังพม่าตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. 47
“ทีแรกมีเรือเข้ามาร่วมถึง 400 กว่าลำ แต่ต่อมาก็ลดลงเรื่อย ๆ ตอนนี้ที่มีอยู่ประจำประมาณ 130 ลำ แต่ก็มีเข้า ๆ ออก ๆ อยู่เรื่อย ๆ ” หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการระบุ
การทำสนธิสัญญาร่วมกันระหว่างไทยกับพม่าในครั้งนี้ถือเป็นการร่วมมือที่ถูกต้องสมบูรณ์มากที่สุด เพราะการที่เรือประมงไทยลำหนึ่งจะออกไปยังน่านน้ำพม่าโดยผ่านทางจังหวัดระนองนั้น จะต้องผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองของทั้งสองประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายก่อน
ซึ่งรวมทั้งต้องผ่านการตรวจสอบของศุลกากร ที่จะยกเว้นภาษีให้เป็นกรณีพิเศษ กรมเจ้าท่าที่ดูแลเรื่องการเดินเรือ และศูนย์ประสานงานของพม่า ซึ่งเรือประมงทุกลำจะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามระวางที่กำหนดไว้
อันที่จริงค่าธรรมเนียมที่จะต้องจ่ายหากเทียบกับผลผลิตจากทะเลที่จะได้มาแล้ว เรียกได้ว่าคุ้มกับค่าเหนื่อย แต่สำหรับวันนี้ประมงไทยก็ยังคงต้องประสบปัญหาต่อไป
เพราะปัญหาหลักของประมงไทยวันนี้ไม่ใช่แค่ทรัพยากรที่น้อยลง หรือการต้องเปลี่ยนที่ทำมาหากินไปยังน่านน้ำอื่น แต่เป็นราคาน้ำมันที่ไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาเหลือลิตรละ 10 บาทต้น ๆ เหมือนเดิม.
แก้ไขอย่างเป็นระบบคือทางออก
สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น อาจเป็นเรื่องหนักใจสำหรับคนมีรถที่ต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น แต่สำหรับชาวประมงแล้วนี่ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ต้องคิดหนักยิ่งกว่า
เพราะราคาน้ำมันสำหรับการทำประมงที่เคยมีราคาอยู่ที่ลิตรละประมาณ 10 บาท เกิดขึ้นพรวดพราดไปอีกเท่าตัวที่ลิตรละ 20 บาท หรือมากกว่านั้นในบางช่วง
“น้ำมันขึ้นหนักก็ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ขึ้นมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้น้ำมันเขียวที่ขายกันกลางทะเลอยู่ที่ลิตรละประมาณ 20 บาท ต้นทุนที่ชาวประมงจะต้องลงทุนจึงเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว” หนึ่งในผู้ประกอบการประมงที่ได้รับผลกระทบ ระบุ
ขณะที่ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น ราคาปลาที่ขายได้กลับยังคงเดิม หรือหากมีการเพิ่มขึ้นก็เทียบไม่ได้กับค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการประมงจะต้องลงทุนไป โดยเฉพาะปลาขนาดเล็กที่ส่งเข้าโรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยให้ชาวประมงอยู่รอดได้
“พวกปลาเป็ดปลาไก่กี่สิบปีก็ราคาเดิมที่ 4 บาทกว่า เมื่อไม่นานมานี้เคยขึ้นไปที่กิโลกรัมละ 7 บาท แต่ได้แค่วันเดียวราคาก็ลงมาอยู่ที่ 5 บาท ชาวประมงก็ต้องควักเนื้อส่วนเจ้าของโรงงานก็รวยขึ้นทุกวัน ๆ”
อันที่จริงการขายผลผลิตผู้ขายจะต้องเป็นผู้กำหนดราคา แต่สำหรับชาวประมงไทยผู้กำหนดราคาคือ โรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้รับซื้อ โดยไม่เคยคำนึงถึงต้นทุนที่ผู้ขายจะต้องจ่ายเลยสักนิดเดียว
เพราะหากไม่ขายให้กับโรงงานปลาขนาดเล็กเหล่านั้นก็ไม่สามารถเอาไปขายหรือทำอะไรได้ สุดท้ายคนที่ไม่มีทางเลือกก็คือชาวประมง !!??
และหากชาวประมงอยู่ไม่ได้ระบบทั้งหมดก็จะต้องรวนไป พร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจห้องเย็นที่มีอยู่มากมายตามแพปลาต่าง ๆ เรื่อยไปจนถึงโรงงานแปรรูปผลผลิต
เรือที่จอดลอยลำอยู่มากมายบริเวณท่าเรือทั้งที่ท่าปลาใหญ่ อย่างสมุทรสาคร หรือที่ระนองวันนี้จึงมีสภาพไม่แตกต่างกัน เพราะใน เมื่อไม่มีทุนมาลง ปลาก็มีน้อย การอยู่นิ่ง ๆ โดยไม่ต้องเสียอะไรเลยจึงกลายเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แม้จะต้องยอมเอาสมบัติเก่าออกมาใช้ไป พลาง ๆ ก็ตาม
เพราะถึงแม้จะมีทางเลือกอย่างการออกไปจับปลาในเขตประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า แต่ราคาที่จะขายได้ยังเท่าเดิม แน่นอนว่าการลงทุน ครั้งนี้จะต้องไม่คุ้ม
“ออกเรือไปแต่ละรอบถ้าขายของได้ 2 ล้านกว่าก็ถือว่าเฉียดฉิว แต่ถ้าจะอยู่ได้ก็ต้องขายได้อย่างน้อย 3 ล้านบาท เพราะแม้จะสามารถต่อรองกับพม่าขอยืดเวลาในการออกเรือแต่ละครั้งได้บ้างนิดหน่อย แต่ถ้าขายของไม่ได้ราคาก็คงอยู่ไม่ได้”
ยิ่งไปกว่านั้นการออกทะเลในแต่ละครั้งก็เหมือนกับการเสี่ยงโชค หากไต้ก๋งของเรือลำนั้น ๆ มีความเชี่ยวชาญชำนาญมากกว่าก็ย่อมที่จะทำให้ปลาได้มากกว่าเรือลำอื่น ๆ ที่แม้จะหาปลาอยู่ในละแวกเดียวกัน ???
“รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่เคยมองภาพทั้งระบบ จะมองแค่การส่งเสริมการส่งออก แต่ไม่เคยดูที่ต้นทาง ประมงก็ค่อย ๆ ตายลงทุกวัน”
ทางแก้ที่ผู้ประกอบการประมงต้องการให้รัฐบาลแก้ไข จึงไม่ใช่แค่การช่วยเหลือในเรื่องปัจจัยหลักอย่างน้ำมัน แต่เป็นการแก้ไขที่มองภาพรวมทั้งระบบตั้งแต่ระบบการผลิตเริ่มต้น
ไม่ว่าจะเป็นการเข้มงวดในเรื่องของกฎหมายการปิดอ่าวในฤดูวางไข่ ที่ควรมีมาตรการที่ทำอย่างจริงจังไม่มีการยกเว้นไม่ว่าจะเป็นการทำประมงประเภทใด !!!
การจัดตั้งสหกรณ์ที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีอำนาจต่อรองกับโรงงานอุตสาหกรรมที่เคยเป็นผู้กำหนดราคา โดยมีห้องเย็นเป็นของสหกรณ์เองเพื่อเก็บผลผลิตที่หามาได้เอง
นั่นหมายความว่า ถ้าคิดจะส่งเสริมการส่งออกก็ต้องมองการประมงเป็นศูนย์กลาง จะต้องไม่มองที่เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก และจะต้องมีการจัดระบบเรื่องความต้องการกับทรัพยากรที่อยู่ใหม่ ไม่ใช่ว่าพอมีปลาในตลาดเยอะก็กดราคาลง ถ้ามีเรือเข้าน้อยราคาก็จะเพิ่มขึ้นมา ทุกอย่างจะต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่มีมาตรฐาน
ถามว่ากุ้ง หอย ปู ปลาที่มีอยู่ในอันดามันและอ่าวไทยเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศหรือไม่ คำตอบก็คือ “พอ” แม้ว่าทรัพยากรทางทะเลจะถูกใช้ไปอย่างไร้ทิศทางมาก่อน
“เราควรเอาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทาง หากินเฉพาะในประเทศไม่ใช่หาปลาไปให้ฝรั่งกินอย่างทุกวันนี้ ทุกอย่างจึงต้องขึ้นอยู่กับต่างประเทศ เหมือนกับที่เราเป็นประเทศที่ผลิตสับปะรดกระป๋องส่งออกมากที่สุดในโลก แต่กลับไม่สามารถกำหนดราคาได้” ผู้ประกอบการประมงที่ประสบปัญหาทิ้งท้าย
แม้น้ำมันจะเป็นปัจจัยหลักของการทำประมง แต่การที่จะทำให้พวกเขาสามารถอยู่รอดต่อไปได้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำ หากว่ารัฐบาลลงมาดูแลอย่างจริงจังและเป็นระบบ.