จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 มิถุนายน 2553
เป็นเวลาร่วม 3 ปีแล้วที่ขบวนการลักลอบขนส่งวัสดุนิวเคลียร์ไปผลิตอาวุธต้องทำงานลำบากมากขึ้น เมื่อท่าเรือขนาดใหญ่ทั่วโลกติดตั้งระบบตรวจรังสีในโครงการ “เมกะพอร์ท” และ “ท่าเรือแหลมฉบัง” ของไทยก็เป็นหนึ่งในท่าเรือใหญ่ที่ติดตั้งระบบดังกล่าว
หลังเหตุการณ์ 911 สหรัฐฯ ซึ่งตกเป็นเป้าของกลุ่มก่อการร้ายได้ประสานขอความร่วมมือจากท่าเรือขนาดใหญ่ทั่วโลก 20 แห่ง เพื่อติดตั้งเครื่องตรวจจับกัมมันตภาพรังสีอาร์พีเอ็ม (Radiation portal monitors: RPM) ซึ่งเป็นด่านแรกของการสกัดกั้นวัสดุนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสีที่จะลักลอบเข้าสู่สหรัฐฯ และท่าเรือแหลมฉบังของไทยซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่อันดับที่ 19 ของโลกก็เป็นหนึ่งในท่าเรือที่ต้องติดตั้งเครื่องตรวจจับกัมมันตภาพรังสีดังกล่าว ซึ่งได้เริ่มติดตั้งเครื่องตรวจฯ ตั้งแต่ปี 2548 และเริ่มใช้งานในปี 2550 โดยสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ติดตั้งอุปกรณ์ และฝึกอบรมบุคลากร
“เมกะพอร์ท” ตรวจเข้ม “อิมพอร์ต-เอกซ์พอร์ต”
นายอำนวย หิรัญสาลี นักวิชาการศุลกากรภาคปฏิบัติการ ศูนย์เอกซเรย์ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อธิบายถึงโครงการเมกะพอร์ทว่า กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ได้ตั้งโครงการติดตั้งเครื่องตรวจจับกัมมันตภาพรังสีที่ท่าเรือ เพื่อเป็นการป้องกันอาวุธนิวเคลียร์ก่อนเข้าประเทศ และได้ให้ประโยชน์แก่ประเทศเจ้าของท่าเรือในการป้องกันวัสดุนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตภาพรังสีเข้าสู่ประเทศนั้นๆ ด้วย โดยจะตรวจสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดที่ผ่านเข้า-ออกท่าเรือ
ทั้งนี้ ระบบตรวจจับกัมมันตภาพรังสีเป็นระบบปิดที่ออกแบบมาให้รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ทุกคันต้องผ่านการตรวจ โดยมีการตรวจทั้งหมด 3 ขั้นตอน ซึ่งเป็นไปตามหลักการ “ดีเทกต์” (Detect) คือ หาให้เจอว่ามีรังสีหรือไม่ “โลเคต” (Locate) คือ หาว่าอยู่ตำแหน่งไหนของตู้คอนเทนเนอร์ “ไอเดนทิฟาย” (Identify) คือ หาให้ได้ว่าเป็นสารอะไร เนื่องจากวัสดุกัมมันตรังสีบางอย่างไม่เป็นอันตรายและมีอยู่ในธรรมชาติ แต่หากเป็นวัสดุอันตรายจะแจ้งไปยังสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ให้เข้าไปเก็บกู้
ฉายขั้นตอนการตรวจหา “วัสดุรังสีต้องสงสัย”
การตรวจขั้นแรก (Primary Inspection) นั้น มีชุดตรวจจับกัมมันตภาพรังสีทั้งหมด 20 ชุด ซึ่งแต่ละชุดเป็นเสาที่ตั้งขนาบข้างทาง ตรงจุดต่างๆ ที่รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขับผ่าน ทั้งขาเข้าและขาออกจากท่าเรือ หากไม่พบรังสีคนขับรถบรรทุกสามารถนำตู้คอนเทนเนอร์ผ่านไปยังท่าเรือได้ โดยจะได้รับ “ใบอนุญาตผ่าน” แสดงต่อเจ้าหน้าที่ก่อนลำเลียงตู้คอนเทนเนอร์ลงเรือ แต่หากพบว่ามีรังสีจากตู้คอนเทนเนอร์ สัญญาณไฟจะกระพริบ และรถบรรทุกต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจในขั้นที่สอง
อย่างไรก็ดี ในบางครั้งการตรวจพบรังสีในขั้นตอนแรกอาจเป็นผลจากคนขับรถบรรทุก กลืนรังสีเพื่อการรักษาโรคจากโรงพยาบาล และยังมีสารรังสีตกค้างในร่างกาย เมื่อตรวจสอบแน่ชัดแล้วรถบรรทุกจึงผ่านไปสู่ท่าเรือได้
ทั้งสินค้าที่สำแดงว่าไม่มีรังสีและสินค้าที่สำแดงว่าเป็นสินค้ามีรังสี เมื่อผ่านการตรวจขั้นตอนแรกแล้วพบว่ามีรังสี ต้องผ่านเข้าสู่การตรวจขั้นตอนที่สอง (Second Tertiary) ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจะตรวจว่าภายในตู้คอนเทนเนอร์นั้นมีรังสีอะไรบ้าง ปริมาณรังสีเท่าไร เกิดจากธาตุอะไร เพื่อเปรียบเทียบกับตารางรายการสินค้าที่มีรังสีกว่า 200 รายการ
“สารรังสีเหมือนลายพิมพ์นิ้วมือ ที่แต่ละชนิดให้ผลออกมาเป็นเส้นกราฟที่แตกต่างกัน” นายอำนวยกล่าว และบอกว่าสินค้าที่มีรังสีนั้นมีเยอะ แต่ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นสินค้าเกษตร เ่ช่น กล้วยหอมมีรังสีจากการดูดซึมไอโซโทปโพแทสเซียมที่แผ่รังสี หรือ สินค้าประเภทเซรามิกส์ ล้วนมีรังสีเพราะผลิตจากดินที่มีรังสี เป็นต้น
หากรังสีที่ตรวจวัดได้ตรงกับรายการสำแดงสินค้า รถบรรทุกจะผ่านไปยังท่าเรือได้ แต่หากรังสีไม่ตรงกับรายการสำแดงสินค้า หรือสำแดงว่าเป็นสินค้าไม่มีรังสีก็ผ่านสู่การตรวจขั้นตอนที่สาม (Tertiary inspection) ซึ่งในขั้นตอนนี้หากพบสารรังสีต้องสงสัยที่มีความแรงรังสีไม่มาก เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจะเป็นผู้เข้าเก็บกู้เอง แต่หากพบสารรังสีที่มีความแรงรังสีสูงหรือมีความแรงรังสีต่ำแต่เก็บกู้ได้ยากเนื่องจากฟุ้งกระจายหรือเปรอะเปื้อนได้ง่าย จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ปส. ที่จะเข้าตรวจและเก็บกู้
นายกิตติพงษ์ สายหยุด นักฟิสิกส์รังสี จากหน่วยประสานงานเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินทางรังสี สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี ปส.อธิบายวิธีการเข้าตรวจสอบในขั้นตอนที่สามนั้น เจ้าหน้าที่จะยึดหลักความปลอดภัยในการปฏิบัติงานทางรังสี คือ ใช้เวลาในการรับรังสีให้น้อยที่สุด โดยนำความแรงจากรังสีที่วัดได้ในเบื้องต้นไปคำนวณว่าเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้นานที่สุดเท่าไร ซึ่งปกติจะมีเวลาสั้นๆ ไม่กี่นาทีจนถึงไม่กี่วินาที
“การเข้าตรวจจะแบ่งเจ้าหน้าที่เป็น 3 ชุด โดยชุดแรกจะตรวจซ้ำว่าเป็นสารรังสีชนิดไหน มีความแรงรังสีเท่าไหร่ จากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดสองจะเข้าเก็บกู้เพื่อจัดการเป็นกากกัมมันตรังสี ซึ่งจะประสานงานให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) นำไปกำจัดต่อไป และเจ้าหน้าที่ชุดสามจะเข้าตรวจซ้ำอีกว่ายังมีรังสีอีกหรือไม่ หากมีอีกจะตรวจและเก็บกู้จนไม่พบรังสี โดยแต่ละชุดจะเข้าทำงานพร้อมกัน 2 คนและจะไม่ให้เจ้าหน้าที่ทำงานซ้ำ ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้ถึง 20 คน” นายกิตติพงษ์กล่าว
ในการเข้าตรวจวัดรังสีและเก็บกู้วัสดุนิวเคลียร์แต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่ต้องสวมชุดป้องกันการปนเปื้อนของสารรังสี แต่ไม่ป้องกันการได้รับรังสี และจะไม่สวมชุดป้องกันในกรณีที่ทราบว่าวัสดุนิวเคลียร์เหล่านั้นถูกปิดผนึกมิดชิด อย่างไรก็ดี กรณีที่ไม่ทราบเจ้าหน้าที่จะสันนิษฐานไว้ก่อนว่า วัสดุนิวเคลียร์เหล่านั้นฟุ้งกระจายหรือเปรอะเปื้อนได้ง่าย และสวมชุดเข้าปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ในการสาธิตเก็บกู้วัสดุนิวเคลียร์นั้น เจ้าหน้าที่ใช้แบริเลียมและไอโอดีน-131 ซึ่งมีความแรงรังสีต่ำ และมีเวลาเก็บกู้นานถึง 10 นาที แต่ในทางปฏิบัติจริงอาจมีเวลาสั้นกว่านี้มาก ซึ่งนายกิตติพงษ์ได้ยกตัวอย่างกรณีโคบอลต์-60 ที่สมุทรปราการเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ซึ่งเป็นอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ร้ายแรงที่สุดในเมืองไทย โดยครั้งนั้นเจ้าหน้าที่มีเวลาในการปฏิบัติงานเพียง 5-6 วินาทีต่อครั้ง และต้องใช้เจ้าหน้าที่กว่า 20 คนในการทำงาน
ผ่านไป 3 ปียังไม่มีเหตุให้เข้าเก็บกู้วัสดุนิวเคลียร์
นับแต่เริ่มโครงการเมกะพอร์ท นายกิตติพงษ์กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ ปส.ยังไม่เคยได้รับการประสานงานให้เข้าเก็บกู้ เนื่องจากสินค้าที่มีรังสีส่วนใหญ่เป็นกล้วยและเซรามิกที่มีรังสีตามธรรมชาติอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการลักลอบนำขยะนิวเคลียร์มาทิ้งนั้น ทาง ปส.ไม่มีข้อมูลว่ามีการลักลอบดังกล่าว เมื่อใดที่มีการลักลอบต้องผ่านด่านตรวจของกรมศุลกากร และแม้มีความเป็นไปได้ที่จะมีการทิ้งขยะนิวเคลียร์ลงทะเล แต่การใช้งานรังสีมีกฎหมายควบคุมทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ ดังนั้น โอกาสที่จะมีการเล็ดลอดจึงเป็นได้น้อยมาก
นอกจากการตรวจตามขั้นตอนปกติของระบบแล้ว ในบางครั้งอาจต้องมีการสุ่มตรวจหาวัสดุกัมมันตรังสีตามข้อมูลของการข่าว หากแต่นายอำนวยกล่าวว่าสำหรับเมืองไทยแล้วไม่เคยต้องเข้าตรวจตามข้อมูลการข่าว เนื่องจากประเทศไทยไม่ใช่เส้นทางการลำเลียงอาวุธนิวเคลียร์ ของกลุ่มอัลกออิดะห์ ต่างจากปากีสถานที่จะมีการเข้าตรวจตามข้อมูลการข่าวอยู่บ่อยครั้ง
แม้ว่ามีความเป็นได้ที่จะมีการลักลอบขนส่งวัสดุนิวเคลียร์หรือการขนขยะนิวเคลียร์ไปทิ้งในเส้นทางอื่นๆ แต่การมีระบบป้องกันที่ท่าเรือขนาดใหญ่ก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะป้องกันการลักลอบทำผิดกฎหมายอย่างโจ่งครึ่ม อย่างน้อยก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะเพิ่มความลำบากให้แก่ผู้ก่อการร้ายได้
เอ็กซ์เรย์ตู้คอนเทนเนอร์ สกัดกั้นส่งออกสินค้าผิดกฎหมาย
การลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมายออกนอกประเทศยังมีอยู่ในปัจจุบัน แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถช่วยป้องกันได้ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าออกผ่านทางท่าเรือขนาดใหญ่อย่างท่าเรือแหลมฉบัง
ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เป็นท่าเรือขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ที่ในแต่ละปีมีตู้สินค้าผ่านเข้าออกมากกว่า 5 ล้านตู้ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังจึงดำเนินการติดตั้งเครื่องเอกซ์เรย์คอนเทนเนอร์ (X-ray Container) เพื่อช่วยให้การตรวจสอบตู้สินค้าและป้องกันการลักลอบขนส่งสิ่งผิดกฎหมายมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเปิดตู้ตรวจทุกตู้ และไม่ทำให้สินค้าภายในตู้เกิดความเสียหายจากทั้งจากการเอกซ์เรย์หรือการเปิดตรวจ
เครื่องเอกซ์เรย์ตู้คอนเทนเนอร์ที่ติดตั้งในท่าเรือแหลมฉบังเป็นแบบติดตั้งถาวร จำนวน 2 เครื่อง มูลค่าเครื่องละ 540 ล้านบาท ซึ่งเป็นเครื่องกำเนิดรังสีเอ็กซ์จากไฟฟ้า ให้รังสีเอ็กซ์พลังงานสูง 9 เมกะอิเล็กตรอนโวลต์ สามารถทะลุแผ่นเหล็กที่มีความหนาได้สูงสุด 36 เซนติเมตร มีประสิทธิภาพในการสแกนตู้คอนเทนเนอร์ 25 ตู้ต่อชั่วโมง นับว่าเป็นเครื่องเอกซ์เรย์ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ไม่เกิน 10 เมกะอิเล็กตรอนโวลต์ เพราะอาจทำให้สินค้าภายในตู้เกิดความเสียหายหรือเปลี่ยนแปลงทางกายภาพได้
ตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้าส่งออกทุกตู้จะต้องผ่านการชั่งน้ำหนักก่อนเข้าสู่เครื่องเอกซ์เรย์ โดยจะต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 60 ตัน และหากเอกซ์เรย์แล้วพบว่ามีความผิดปกติภายในตู้ หรือภาพเอกซ์เรย์ที่ได้ไม่ตรงกับรายละเอียดของสินค้าที่ได้มีการสำแดงไว้ จึงจะเปิดตู้เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจอีกทีหนึ่ง
ทั้งนี้ สินค้าผิดกฎหมายที่มักพบซุกซ่อนอยู่ในตู้สินค้าส่งออกมีหลายประเภท เช่น ไม้พยุง พระพุทธรูป อาวุธ วัตถุระเบิด รวมถึงสินค้าเกษตรหลายชนิด เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีระบบเซนเซอร์ตรวจวัดรังสีติดตั้งไว้ร่วมกับเครื่องเอกซ์เรย์ตู้คอนเทนเนอร์ จึงสามารถตรวจสอบหรือสารกัมมันตรังสีที่ซุกซ่อนอยู่ภายในตู้สินค้าได้ด้วย