จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 8 / 22 / 29 พฤษภาคม 2554
ผมมองตัวเลขตรงหน้าด้วยความสับสน อาจเป็นเพราะโครงการนี้มีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากหลาย หรือเป็นเพราะความผิดพลาดของเทคโนโลยี แต่พิกัดที่ผมได้มาสี่ห้าแห่งล้วนมีตัวเลขไม่ตรงกัน บางแห่งเหาะขึ้นไปอยู่บนยอดเขา หากยึดตามพิกัดนี้ ผมยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบจากการสร้างจุดดำน้ำใหม่ให้ทะเลไทยแน่นอน เพราะเรือไม่ได้อยู่ในทะเลแต่อยู่ในป่า มีนักดูนกไปเที่ยวแทนที่จะเป็นนักดำน้ำ
ฮึ่ม… ผมรู้สึกเครียด เริ่มอยากระบายออกกับลูกศิษย์ที่ยืนนั่งหน้าสลอนกันเกือบยี่สิบราย หลายคนเรียนจบไปแล้วกว่าสิบปี เป็นครูสอนดำน้ำมือฉมังบ้าง เป็นเจ้าของกิจการรุ่งเรืองอู้ฟู่ก็มีไม่น้อย หากเป็นงานปรกติ ผมจะไม่ขอแรงศิษย์เก่าเหล่านี้ แต่นี่ไม่ใช่งานปรกติ นี่คือปฏิบัติการที่ผมตั้งชื่อย่อว่า Mission Gunship (เรือปืน – บางครั้งเรียกว่า Gunboat แต่จะใช้คำว่า Gunship ก็ไม่ผิด คำว่ากันชิปยังหมายถึงเฮลิคอปเตอร์หรืออากาศยานติดปืนกล)
ย้อนกลับไปเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ผมได้รับการติดต่อจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจังหวัดชุมพรและจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีแนวคิดจะนำเรือรบหลวงจากราชนาวีไทยมาใช้เป็นแหล่งดำน้ำ อาจารย์ช่วยกรุณามาเป็นที่ปรึกษาหน่อยได้ไหมครับ ? ใจผมคิดเบ็ดสะระตี่ โครงการแบบนี้ถือว่ามีประโยชน์ เพราะหลังจากเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวทั่วทะเลไทย บรรดานักวิชาการต่างออกมาหาแนวทางฟื้นฟูทะเล วิธีการแบ่งเป็น 2 แบบง่าย ๆ หนึ่งคือ Passive หมายถึงเราปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง เพียงแต่เราต้องลดผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น การปิดจุดดำน้ำในเขตอุทยาน อีกแบบคือ Active หรือการที่เราเข้าไปช่วยทำกิจกรรมฟื้นฟู
กิจกรรมฟื้นฟูแนวปะการังที่นิยมทำในเมืองไทยและเมืองไหนก็ตามทั่วโลก มีอยู่แค่ 2 แบบ อย่างแรกคือการปลูกปะการังที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่าได้ผลระดับไหน อีกแบบคือการทำปะการังเทียมที่แบ่งเป็นได้อีกหลายแบบย่อย บ้างเป็นปะการังเทียมของกรมประมงที่เน้นเรื่องสร้างแหล่งประมงพื้นบ้านและป้องกันการรุกรานของเรือประมงผิดกฎหมาย แต่มีอยู่แบบหนึ่งที่เป็นแหล่งดำน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อจุดประสงค์ในการลดผลกระทบในแนวปะการัง ยังหมายถึงผลพลอยได้ที่จะเกิดกับการท่องเที่ยวโดยตรง
ลองคิดตามนะครับ หากเรามีแนวปะการัง 10 แห่ง ได้รับผลกระทบจากปะการังฟอกขาวมากบ้างน้อยบ้างจนต้องปิดไป 5 แห่ง แต่จำนวนนักดำน้ำเท่าเดิม แนวปะการังที่เหลืออยู่ย่อมมีปริมาณนักดำน้ำเพิ่มขึ้นเยอะแยะ แต่ถ้าเราช่วยสร้างแหล่งดำน้ำในบริเวณที่อยู่ใกล้เคียง นักดำน้ำส่วนหนึ่งย่อมมาดำน้ำในแหล่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ถือเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในแนวปะการังอย่างตรงไปตรงมา
แหล่งดำน้ำแบบนี้นิยมกันทั่วโลก จุดในเมืองไทยอันเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักดำน้ำคือเรือหลวงกูดแห่งทะเลพัทยา อีกลำคือเรือหลวงครามที่นำลงสู่พื้นท้องทะเลโดยกองทัพเรือก่อนหน้านั้น ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ กำลังทำงานวิจัยในเรื่องนี้ควบคู่กับเรือหลวง Brisbane ที่ออสเตรเลีย เราจึงมีข้อมูลอยู่บ้าง
แต่นี่…เป็นการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่ก่อนเรือลง ปรับปรุงเรือให้เหมาะสม หาพื้นที่เรือลง ติดตามผลกระทบ ช่วยทำศูนย์นิทรรศการ ฯลฯ ทั้งหมดเป็นเรื่องค้างคาใจผมมาหลายครั้งหลายครา เพราะเคยไปพูดคุยกับกลุ่มนักดำน้ำทั้งไทยทั้งฝรั่งในหลายจังหวัดมาหลายปี ทุกคนหวังที่จะทำแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ แต่ยังไม่มีที่ใดสำเร็จอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการนำเรือรบหลวงที่มีประวัติยาวนานค่อนศตวรรษลงสู่พื้นท้องทะเล
เรือรบหลวงต่างจากเรือทั่วไปอย่างไร ? คำตอบคือต่างกันมหาศาลครับ จากผลสำรวจนักดำน้ำกว่า 300 คนที่มีประสบการณ์ดำน้ำที่เรือหลวงกูด พวกเขาพวกเธอบอกว่า แรงจูงใจสำคัญสุดในการมาดำน้ำที่นี่คือคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเรือ หากเป็นเรือทั่วไปคงไม่มีประวัติยืดยาว แต่เรือที่กองทัพเรือมอบให้แก่จังหวัดชุมพรชื่อ “เรือหลวงปราบ” มอบให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีชื่อ “เรือหลวงสัตกูด” เรือทั้งสองลำเคยเป็นเรือในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าประจำการในราชนาวีไทยมาเกือบ 70 ปี เป็นเรือครูของเหล่าลูกประดู่ทั้งหลาย และเป็นเรือที่สร้างประโยชน์ให้ชาติไทยมาเหลือคณานับ
ผมเล่ารายละเอียดมายาวเหยียด แต่ในความเป็นจริง ผมตอบตกลงตั้งแต่ได้ยินคำถามเป็นครั้งแรก เรียกว่าใจไปก่อนแล้วเหตุผลถึงตามมา จากนั้นจึงถึงช่วงการเตรียมงาน อันดับแรกคือศึกษาแหล่งดำน้ำที่มนุษย์พยายามสร้างขึ้นในอดีต อะไรคือข้อควรระวังมากที่สุด ? คำตอบคือบริเวณที่เราจะทำ หากแหล่งดำน้ำใหม่อยู่ไกลจากแหล่งดำน้ำเดิม นั่นคือปัญหา เพราะนักดำน้ำต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มมาก จึงไม่นิยมไปใช้ ยังอาจมีอันตรายจากคลื่นลมและกระแสน้ำ สำคัญสุดคือแหล่งดำน้ำแบบนั้นไม่ได้ช่วยลดภาระของแนวปะการังอย่างชัดเจน เพราะอยู่ไกลเกินไปไม่ใช่ทางเลือกของนักดำน้ำ วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือช่วยทะเลก่อน การท่องเที่ยวเป็นผลพลอยได้ ผมจึงมั่นใจว่ายังไงเสียเราก็ต้องไปทำ Mission Gunship ในบริเวณที่คนนิยมไปอยู่แล้ว
เมื่อลองดูข้อมูลจากท้องถิ่นที่ร่วมประชุมกันมา คนชุมพรเสนอหมู่เกาะง่าม งานนี้หมดปัญหาเพราะที่นั่นคือแหล่งดำน้ำสำคัญสุดในจังหวัด อีกทั้งยังเป็นแนวปะการังที่สวยไม่สร่าง แม้จะโดนปะการังฟอกขาวไปแล้วสองครั้งครา (2540 และ 2553) แต่สภาพใต้ท้องทะเลยังดีปูปลามีเพียบ เป็นจุดที่ผมนิยมยกตัวอย่างเมื่อคนถามว่าทะเลไทยตอนนี้เป็นไง สำหรับคนสุราษฎร์ พวกเขาเสนอเกาะเต่า งานนี้ตรงใจผมเช่นกัน เพราะที่นั่นคือแหล่งที่มีการเรียนการสอนดำน้ำระดับโลก มีร้านดำน้ำและอื่น ๆ อีกมากเกี่ยวกับการดำน้ำแทบท่วมเกาะ แต่ละวันมีฝรั่งนับพันไปลงดำน้ำที่นั่นที่นี่ตลอดเวลา เรือหลวงสัตกูดจะช่วยลดผลกระทบของแนวปะการังได้แน่นอน
เราพอกำหนดแหล่งคร่าว ๆ พร้อมมีตัวเลขพิกัดให้ผมไปตรวจสอบ แต่คำถามสำคัญคือเรือจะเกิดผลกระทบกับสภาพแวดล้อมขนาดไหน ? ผมจึงแวะเวียนไปดูเรือทั้งสองหลายครั้ง ตั้งแต่เรือจอดอยู่ที่กรมอู่ทหารเรือ จนเรือล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อทำการปรับปรุงที่อู่ใหญ่ในย่านถนนเจริญกรุง ทุกครั้งที่ไปผมจะขอแรงลูกศิษย์ที่ทำงานเกี่ยวกับการดำน้ำไปด้วยหลายคน แต่ละคนถือกระป๋องสีช่วยกันพ่นตรงนั้นตรงนี้ เป็นสัญลักษณ์บอกว่าราวตรงนี้อันตรายต้องนำออกนะ ห้องนี้แคบเกินไปควรปิดตายไม่ให้นักดำน้ำเข้า ยังหมายถึงการทำความสะอาดเรือที่ทุกคนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ต้องขอบคุณ ปตท.สผ. ที่กรุณาสนับสนุนโครงการนี้แบบครบวงจร ทำให้ทุกอย่างดำเนินไปโดยไม่ติดขัดปัญหางบประมาณครับ
การปรับปรุงเรือเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ผมยังขอให้อู่ติดตั้งจุดศึกษาระยะยาวสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรื่องสัตว์เกาะติดหรือเรื่องอื่น ๆ ในอนาคต ระหว่างที่ช่างกำลังอ๊อกแท่งเหล็กรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเข้าไปกับเรือ ผมยิ้มด้วยความบันเทิงเริงใจ นี่อาจเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ที่เราสร้างจุดศึกษาทางวิทยาศาสตร์ถาวรลงไปพร้อมกับเรือ มิใช่ปล่อยให้นักวิทยาศาสตร์ต้องดำน้ำทำงานอยู่แค่ 15 นาที (ที่ความลึกใกล้ 30 เมตร) แค่วางไลน์ทำจุดสำรวจก็กระอักเลือดแล้วครับ ยังไม่ต้องคิดถึงการนับสัตว์หรือศึกษาเรื่องอื่น
หย่อนลงไป ลงไปอีก โอเค ! ผมร้องบอกลูกศิษย์ผู้ยืนอยู่บนดาดฟ้าเรือเพื่อปล่อยสายวัดลงมา แม้มีตัวเลขคร่าว ๆ ว่าเรือหลวงสัตกูดและเรือหลวงปราบยาวเกือบ 49 เมตร กว้างเกือบ 8 เมตร แต่ผมอยากรู้ความสูงของเรือในแต่ละชั้นเพื่อคำนวณหาความลึกของน้ำในจุดวางเรือ โอกาสดังกล่าวเป็นไปไม่ได้หากเรือลอยอยู่ในน้ำ แต่เป็นไปได้แน่นอนเมื่อเรืออยู่บนแท่นในอู่แห้งขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผมได้ตัวเลขดาดฟ้าชั้นบนและหอบังคับการที่ความสูง 6-10 เมตรจากพื้นท้องเรือ หากเรานำเรือลำนี้วางลงที่ความลึกไม่เกิน 25 เมตร (จาก Chart Datum หรือระดับน้ำลงต่ำสุด) หอบังคับการและบางส่วนของดาดฟ้าจะอยู่ในขอบเขตที่นักดำน้ำแบบ Open Water สามารถลงมาได้ (18 เมตร) สำหรับนักดำน้ำแบบ Advance ที่ดำได้ลึก 30 เมตร ย่อมมีสิทธิไปเที่ยวทั่วลำเรือ และถ้าผ่านหลักสูตร Wreck Dive หรือการดำน้ำในเรือจม นักดำน้ำอาจตระเวนเข้าไปในลำเรือที่พวกเราช่วยกันขบคิดเค้นสมองในการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการดำน้ำ
ห้องนี้เอาไงครับอาจารย์ ลูกศิษย์ผู้เคยเป็นผู้จัดการเรือทัวร์ดำน้ำมาแล้วสิบห้าปีตั้งคำถามเช่นนี้ ผมแยกเขี้ยวอยากจะตอบไปว่าคิดเองสิวุ้ย เราพาคนลงไปดำน้ำมาตั้งเป็นหมื่นครั้งแล้วยังต้องถาม แต่เรื่องไอเดียบรรเจิดลูกศิษย์คงมิอาจหักล้างอาจารย์ ผมปิ๊งว่าหากเราปิดทางเข้าแต่เปิดช่องด้านนอกไว้พอให้นักดำน้ำมองผ่านช่องหน้าต่างกลมดิก พอส่องไฟฉายว่อบแว่บเข้ามาคงให้อารมณ์พิลึก ยิ่งมีปลาว่ายไปมาเป็นเงาวูบวาบยิ่งเร้าใจใฝ่ฝัน
ตรงนี้ปิดครับ ผมขอให้ทีมงานจากอู่ช่วยกันติดเหล็กเส้นกันคนลงไปส่วนล่างสุดของเรือ เพราะตามหลักของการดำน้ำในเรือควรมีทางออกสองทาง ไม่ใช่เข้าแล้วไปอัดกันเป็นปลากระป๋องอยู่ที่ความกดดันเกือบสี่บรรยากาศ ผมเคยเจอเหตุการณ์แบบนั้นแล้วและไม่หวังอยากเจออีก นี่ไม่ใช่การสร้างฉากภาพยนตร์สยองขวัญ แต่เป็นเรือจริงที่นักดำน้ำควรมีความปลอดภัยในการเข้าชมตามระดับความสามารถของตน
เจ้าหน้าที่จากปตท.สผ. แจ้งว่า เราได้ปืนมาแล้วค่ะ เป็นป้อมปืนดั้งเดิมที่ถูกถอดออกไป แต่นี่คือ Mission Gunship มีแต่เรือไม่มีปืนแล้วจะเป็นเรือปืนได้ไงหนอ เราจึงประสานงานกับกองทัพเรือจนได้รับความกรุณามอบป้อมปืนกลับมาให้เรือทั้งสองลำ แต่ละลำจะมีทั้งป้อมหัวและป้อมท้าย มีป้ายทองเหลืองเล็ก ๆ แปะไว้ว่าปืนกระบอกนี้สร้างมาตั้งแต่ค.ศ.1949 มีเก้าอี้ขนาบสองข้างสำหรับพลปืนคอยนั่งเล็งนั่งหมุนปืนเสร็จสรรพ ผมเชื่อว่าป้อมปืนจะเป็นจุดเด่นประจำเรือ ใครดำน้ำลงมาคงว่ายเข้าไปแอ็คท่าให้ถ่ายภาพอยู่ข้างป้อม สำหรับของอื่น ๆ ผมขอให้ทางอู่ถอดเก็บไว้ ทั้งกรอบหน้าต่างทองเหลือง ตราครุฑ หรือใด ๆ ก็ตามที่ดูแล้วเหมือนของที่ระลึก เราจะนำไปใส่ไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่จะจัดทำขึ้นที่เกาะเต่า สุราษฎร์ธานี และหาดทรายรี ชุมพร แต่ถ้าคุณอยากเห็นเร็วหน่อย ปตท.สผ.ร่วมมือกับคณะผู้จัดงาน Thailand Diving EXpo เปิดบู๊ทส์ในงาน TDEX ระหว่างวันที่ 26-29 พฤษภาคม ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ ในงานยังมีบู๊ทส์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำน้ำ กีฬากอล์ฟ และการท่องเที่ยวผจญภัยที่ไม่น่าพลาดครับ
การปรับปรุงเรือดำเนินต่อไปแบบไม่ค่อยน่ากังวล แต่ที่เหนื่อยแน่คือการนำเรือลงในจุดที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ ผมกับทีมงานเกือบยี่สิบคนจึงมุ่งหน้าไปเกาะเต่าและหมู่เกาะง่าม เพื่อกำหนดพิกัดให้แน่นอน รวมถึงการสำรวจวิจัยที่แทบขนอุปกรณ์ไปหมดภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ แต่อันดับแรกก่อนการสำรวจ ผมต้องหาจุดลงเรือให้สำเร็จ
ทิ้งทุ่นนนน… ! ผมตะโกนใส่ไมค์เกิดเสียงดังลั่นสนั่นทั่วลำเรือ ระหว่างลูกศิษย์โยนปี๊บใส่ซีเมนต์ผูกมัดกันเป็นพวงลงสู่พื้นทะเลเพื่อเป็นหมายแรก หลังจากวนเรือใหญ่และเรือเล็กมาหลายรอบ เราได้ข้อมูลความลึกของน้ำว่าอยู่ในระดับ 25 เมตรจาก Chart Datum เป็นจุดที่อยู่ห่างจากแนวปะการังเกาะเต่ามากกว่าหนึ่งกิโลเมตร ยังห่างจาก “หินขาว” อันเป็นแหล่งดำน้ำและที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์ในบริเวณนั้น ออกมาทางใต้ไม่ต่ำกว่า 300 เมตร อันเป็นเส้นตายของระยะห่างจากเรือและระบบนิเวศที่สำคัญ ผมยังลองตรวจสอบกระแสน้ำจนมั่นใจว่าน่าจะไหลจากแนวปะการังมายังเรือ กระแสน้ำเช่นนี้จะช่วยพาตัวอ่อนสัตว์เกาะติดมาที่เรือ อีกทั้งยังไม่ก่อปัญหาหากนักดำน้ำลงไปแถวเรือแล้วทำให้ตะกอนฟุ้งกระจาย เพราะน้ำจะช่วยพาตะกอนออกไปสู่ทะเลเปิด
เนื่องจากมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ต้องคิดถึงมากเหลือเกิน เรือของเราจึงวิ่งวนเวียนอยู่หน้าเกาะเต่าสองสามชั่วโมงก่อนผมจะได้หมายที่ชอบ แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่ม ผมส่งทีมป๋า 1 อันประกอบด้วยลูกศิษย์ผู้เป็นครูสอนดำน้ำกว่าสิบปีลงสู่พื้นท้องทะเล ทั้งคู่หายไปราวห้านาที ไม่มีสัญญาณที่ตกลงกันล่วงหน้าว่า หากทีมสำรวจลงไปเจอพื้นทะเลมีระบบนิเวศสำคัญ เจอปะการังอ่อน ปะการังดำ หรือกัลปังหา ให้ปล่อยทุ่นลอยขึ้นมา ทีมอื่นจะได้ไม่ต้องลงไปให้เปลืองคน (ระดับความลึกที่พื้นเกือบ 30 เมตร นักดำน้ำอยู่ได้ไม่ถึง 20 นาที เสร็จแล้วต้องพักนาน ผมจึงต้องทยอยส่งทีมลงน้ำเพื่อประหยัดคน)
ทีมป๋า 2 พุ่งตามลงไป ทั้งหมดจะช่วยกันสำรวจแบบ Target & Radial สร้างแผนที่ใต้น้ำในรูปแบบคล้ายเป้ายิงปืน พวกทีมป๋าจะว่ายน้ำลากเส้นสำรวจออกไปทั้งสี่ทิศ ระยะทางร่วมร้อยเมตร เพื่อตรวจสอบความลึก ลักษณะพื้นและดินตะกอน ตลอดจนสัตว์ที่พบอย่างคร่าว ๆ ขณะที่ทีมไม่ป๋าอันประกอบด้วยนักวิจัยที่เป็นลูกศิษย์ของผมรุ่นปัจจุบันจะโดดตามไปเพื่อสำรวจป็นวงกลม รัศมีตั้งแต่ 60 เมตรเรื่อยมาจนถึงทุ่น เว้นระยะห่างทีละ 10 เมตร ข้อมูลที่ได้จะช่วยยืนยันว่าพื้นบริเวณนี้เรียบหรือลาดชันต่ำ ไม่มีสัตว์หายากหรือระบบนิเวศสำคัญ ว่าง่าย ๆ คือเรือจะลงไปอยู่บนพื้นทะเลที่เกือบจะว่างเปล่า (มีปลากระเบนกับปลาลิ้นหมาที่สามารถว่ายน้ำหนีเรือที่กำลังจมลงมาได้ สัตว์บนพื้นทั้งหมดคือดอกไม้ทะเลท่อสามสี่กอ)
บนเรือมีงานทำอีกเยอะ พวกเราช่วยกันลากแพลงก์ตอนเพื่อดูตัวอ่อนสัตว์น้ำ เก็บดินตะกอนเก็บน้ำตามระดับความลึกต่าง ๆ วิเคราะห์หาคุณภาพน้ำ ฯลฯ ระหว่างที่ทีมดำน้ำทยอยขึ้นมาจนครบ ทุกคนมีความเห็นตรงกัน ที่นี่น่าจะเป็นจุดเหมาะสม แต่ที่สงสัยคือเมื่อนำเรือลงไปแล้วจะมีสัตว์ใดมาอาศัยบ้าง มิใช่มีแต่เพรียงเต็มลำ พวกเราจึงไปสำรวจหินขาวอันเป็นแนวปะการังอ้างอิง พบทั้งปะการังดำ กัลปังหา ฟองน้ำครกขนาดใหญ่ และฝูงปลามากมาย หมายความว่าแถวนี้เป็นที่ลงเกาะของตัวอ่อนสัตว์น้ำหลากหลาย เมื่อเรานำเรือลงไปสู่พื้นทะเล ทิ้งไว้ไม่นานย่อมมีทั้งสัตว์เกาะติดทั้งปลามาอยู่เพียบ ตรงตามเจตนาที่เราอยากสร้างแหล่งที่อยู่ให้สัตว์เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ทะเล อีกทั้งยังเป็นแหล่งดำน้ำที่น่าตื่นตาตื่นใจในอนาคตอันใกล้
เรากลับมาที่จุดวางเรืออีกที มีงานต้องทำต่อ ทั้งการวางทุ่นสมอทรายที่จะอยู่ถาวรมากกว่าทุ่นปี๊บ ตรวจสอบร่องรอยการทำประมงว่าเราจะไปรบกวนชาวบ้านหรือไม่ (คำตอบคือไม่) ทิ้งเครื่องตรวจสอบสภาพแวดล้อมในระยะยาวและการติดตามสัตว์เกาะติดและปลา ทิ้งเครื่องวัดอัตราตกตะกอนในบริเวณต่าง ๆ เพื่อดูว่าเรือจะไปขัดขวางกระแสน้ำทำให้เกิดการตกตะกอนและพื้นท้องทะเลเปลี่ยนสภาพหรือเปล่า ? ต้องขอบคุณ ปตท.สผ. ที่กรุณาสนับสนุนภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลอย่างเต็มที่ พวกเราจึงมีโอกาสทำทุกงานตามเกณฑ์ที่วางไว้
เวลาผ่านไปแทบไม่รู้ตัว เงยหน้าอีกทีตะวันกำลังจะตกลับทะเลเกาะเต่า ผมต้องรีบไปประชุมแล้วครับ การนำเรือสัตกูดไปที่เกาะเต่าเป็นโครงการของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม เราจึงไปประชุมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องบนเกาะเต่า ผมอธิบายวิธีการและแนวคิดในการเลือกจุดวางเรือ ตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ ที่เราได้มา เพื่อให้ที่ประชุมตัดสินใจ หลายท่านกรุณาให้ความคิดดี ๆ มากมายครับ ก่อนลงความเห็นว่าจุดนี้น่าจะเหมาะสมที่สุด ถือเป็นข้อสรุปจากทั้งตัวแทนชาวบ้าน อบต. ท่านกำนัน ตลอดจนผู้ประกอบการในท้องถิ่นและชมรมรักษ์เกาะเต่า ทุกคนตื่นเต้นเมื่อทราบว่า ในวันที่ 18 มิถุนายน อันเป็นวันคล้ายวันที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเกาะเต่า เราถือเอาวันนั้นเป็นวันมหาฤกษ์ในการนำเรือสัตกูดมาอยู่คู่เกาะเต่าตลอดไป
ก่อนอำลาเกาะเต่า ผมพาทีมงานไปสำรวจจุดดำน้ำต่าง ๆ รอบเกาะเพื่อดูสภาพแหล่งดำน้ำและปริมาณนักดำน้ำในบริเวณนี้ ผลคือเกาะเต่ามีนักท่องเที่ยวดำน้ำหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของไทยและของโลกก็ว่าได้ แนวปะการังบางแห่งมีคนลงน้ำนับร้อยในแต่ละชั่วโมง เกือบทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะฉะนั้น ผมมั่นใจว่าหากนำเรือสัตกูดมาที่นี่ จะมีนักดำน้ำหลายคนย้ายมาดำน้ำที่เรือ ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังธรรมชาติ อีกทั้งยังกลายเป็นเอกลักษณ์แห่งใหม่ที่ใครต่อใครน่าจะบอกต่อ
วันที่ 19 พฤษภาคม เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” หลังจากที่พระองค์กราบบังคมลาราชการออกไปตากอากาศเพื่อรักษาพระองค์ที่ตำบลหาดทรายรี บริเวณที่พระองค์ทรงจองที่ไว้จะทำสวน แต่พระองค์ประชวรด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่จนสิ้นพระชนม์ในพ.ศ.2466 สิริพระชันษา 44 ปี วันนี้จึงกลายเป็น “วันอาภากร” สืบต่อมา
19 พฤษภาคม 2554 งาน “อาภากร” จัดขึ้นที่ศาลบนยอดเนินเหนือหาดทรายรีดังเช่นทุกปี ผิดตรงที่ในทะเลปีนี้มีเรือรบลำหนึ่งกำลังเคลื่อนที่เข้ามาอย่างแช่มช้า แสงแดดเจิดจ้าส่องลงมาอาบเรือที่เพิ่งทาสีใหม่ไร้สารตะกั่ว หัวเรือมีตัวเลข 741 เรียกเสียงฮือฮาจากคนรอบด้าน (ฮือฮาทำไม ? ลองดูหวยวันที่ 16 พฤษภาคมสิครับ)
เรือลำนั้นจอดนิ่งอยู่ห่างจากฝั่งราว 3 กิโลเมตร ช่างภาพหมุนกล้องบนขาตั้งเล็งไปทางนั้นก่อนฉายภาพขึ้นจอใหญ่บนเวที เสียงบรรเลงเพลงจากวงดุริยางค์ทหารเรือดังลั่น “สยามเป็นชาติของเรา ธงทุกเสาชักขึ้นทุกลำ ถึงเรือจะจมในน้ำ ธงไม่ต่ำลงมา” (เพลง “ดอกประดู่” พลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ – แต่งก่อนพ.ศ.2452)
ทุกคนประจำที่เรียบร้อย ท่านผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 นั่งเคียงข้างท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เลยไปนิดคือท่านผู้บริหารจากปตท.สผ. เสียงคุณพิธีกรประกาศ เราจะเริ่มพิธีแล้วครับ ขอเชิญหัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ขึ้นกล่าวนำเสนอโครงการ
ผมกลืนน้ำลายเอื๊อก แม้ผมไม่ค่อยมีปัญหากับการขึ้นไปพูดบนเวทีก็จริง แต่หลายวันที่ผ่านมางานเพียบ ผมแทบไม่มีเวลาเตรียมตัว เมื่อขึ้นไปบนเวที ผมยกมือทำความเคารพเสด็จเตี่ยก่อนเกริ่นนำด้วยการเน้นย้ำถึงความสำคัญของเรือที่ลอยลำอยู่ห่างจากเวทีไปไม่กี่มากน้อย นี่ไม่ใช่เป็นแค่เรือลำหนึ่ง แต่เรือหมายเลข LSIL-741 ถือเป็นเรือยกพลขึ้นบกที่ร่วมปฏิบัติงานในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมรภูมิสำคัญในเขตแปซิฟิก แม้เป็นฟันเฟืองตัวเล็กไม่มีชื่อเสียงระบือลือลั่นในครานั้น แต่ฟันเฟืองเช่นนี้แหละที่ทำให้โลกเป็นโลกอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ (ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเรือหลวงปราบและเรือหลวงสัตกูดคงตามมาในไม่ช้า รุ่นพี่ที่เคารพของผมท่านหนึ่งกำลังค้นคว้าอยู่ครับ)
ฟันเฟืองตัวเล็กเปลี่ยนเป็นฟันเฟืองตัวใหญ่ เมื่อเรือถูกส่งมอบให้ราชนาวีไทยเพื่อทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยและเอกราชของชาติ “เรือหลวงปราบ” ขึ้นระวางประจำการในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ก่อนปฏิบัติหน้าที่ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเที่ยว สอนคนให้เป็นทหารเรือไทยนับพันนับหมื่นนาย ก่อนที่ครูเริ่มชราภาพจนปลดประจำการในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 เรือครูจอดทอดสมออยู่ที่ท่ากรมอู่ทหารเรืออย่างเงียบเหงา แทบไม่มีใครทราบว่า เรือเหล็กลำนี้เคยมีประวัติเกริกเกียรติเพียงใด
แต่ครูไม่ได้หมดสภาพไปตามกาลเวลา ภารกิจของครูมาถึงเมื่อจังหวัดชุมพรร่วมมือกับหน่วยงานหลายแห่ง ด้วยความสนับสนุนจากปตท.สผ. ทำให้ครูคืนชีพมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งสุดท้าย หลังจากครูเคยปกป้องสันติภาพของโลก เคยปกป้องอธิปไตยของชาติไทยมาตลอดระยะเวลาร่วม 70 ปี บัดนี้ครูจะลงไปทำหน้าที่ปกป้องแนวปะการังอันเป็นสมบัติล้ำค่าของบ้านเมืองเรา ครูจะทำหน้าที่ดังกล่าวต่อไปอีกอย่างน้อย 60 ปี เมื่อรวมช่วงเวลาทั้งหมดเข้าด้วยกัน ผมยังคิดไม่ออกว่าจะมีเรือลำไหนทำหน้าที่เพื่อชาติและเพื่อโลกยาวนานถึง 130 ปี !
การดำน้ำลงไปดูเรือปราบจึงไม่ใช่เป็นเพียงการลงไปดูเรือจมลำหนึ่ง แต่นั่นคือการลงไปหา “ครู” ผู้ทำคุณประโยชน์เหลือประมาณ โครงการนี้จึงไม่เน้นแค่การท่องเที่ยว จุดประสงค์อันดับแรกคือการลดผลกระทบจากการดำน้ำในแนวปะการังที่กำลังฟื้นตัวจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว อย่างอื่นถือเป็นผลพลอยได้
ผมสรุปคำพูดในวันนั้น บางครั้งคนเราจะประสบเหตุการณ์ละม้ายคล้ายปาฏิหาริย์ การสร้างแหล่งดำน้ำมิใช่เรื่องง่ายไม่ว่าจะเป็นเมืองไทยหรือเมืองนอก ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการนำเรือรบหลวงมาเป็นแหล่งดำน้ำ แต่โครงการนี้กลับสำเร็จใน 4 เดือน อย่างไรก็ตาม ปาฏิหาริย์จะไม่มีต่อไปหากคนชุมพรและคนไทยไม่ร่วมใจกันปกป้องครูผู้กำลังปฏิบัติภารกิจพิทักษ์ทะเลไทยให้งดงามชั่วลูกชั่วหลาน
งานในวันที่ 19 จบลงด้วยดี ถึงเวลางานจริงในวันรุ่งขึ้น พิกัดนำเรือลงมีความเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผลบางประการ ผมจึงขอทำหน้าที่เฉพาะการศึกษาผลกระทบ ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเลือกจุดและการนำเรือลงสู่พื้นทะเล ผมใช้เวลาในตอนบ่ายและตอนค่ำพูดคุยกับเพื่อน ๆ ที่ขอแรงมาช่วยงานวิจัย อันได้แก่ คุณนัท สุมนเตมีย์ และคุณบารมี เต็มบุญเกียรติ สองช่างภาพใต้น้ำระดับป๋า ยังมีคุณครูสอนดำน้ำที่คุ้นเคยอีกหลายท่านร่วมคณะไปเพื่อช่วยทำงานวิจัยในครั้งนี้ รวมแล้วเรามีทีมงานกว่า 20 ชีวิต
คณะทำงานของเราพากันขึ้นเรือ MV1 ของชุมพรคาบาน่าระหว่างไก่กำลังขัน เราต้องรีบออกเดินทางจากหาดทุ่งวัวแล่นไปเกาะง่ามน้อย เพราะเราจะนำอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บางอย่างขึ้นไปติดตั้งบนเรือ รวมถึงกล้องถ่ายวีดิทัศน์แบบพิเศษที่จะช่วยบันทึกภาพระหว่างเรือลงสู่พื้น เมื่อเราไปถึง เรือหลวงปราบอยู่ประจำพิกัดใหม่เรียบร้อย มีเรือลากจูงจอดเทียบข้าง ผมรีบปีนป่ายขึ้นเรือไปติดตั้งอุปกรณ์ตามที่วางแผนไว้
แปดโมงเช้า เสียงประกาศดังลั่นทั่วท้องทะเล ขอให้ทุกคนออกจากเรือหลวงปราบ ปฏิบัติการจะเริ่มต้น ผมเผ่นออกมาจากห้องใต้ท้องเรือ แวะเรียกลูกศิษย์ผู้กำลังติดกล้องกับป้อมปืน ก่อนปีนป่ายกึ่งกระโจนลงเรือยางที่รอรับอยู่เบื้องล่าง เราต้องนำเรือ MV1 ออกห่างในรัศมี 100 เมตรด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
ต่อจากนั้นคือการรอ เฮลิคอปเตอร์จากกองทัพเรือบินวนอยู่บนฟ้า ขณะที่เรือใหญ่น้อยรายล้อมเรือปราบเป็นรูปวงกลม ทุกคนต่างจรดจ้องรอดูวินาทีสำคัญ เรือปราบเอียงลงทีละน้อย โดยเอากราบขวาลงสู่ท้องทะเล จวบจนเวลาผ่านไปร่วม 2 ชั่วโมง กราบขวาด้านท้ายเอียงจนปริ่มน้ำ ภาพจากกล้องที่ผมติดตั้งไว้ 2 ตัวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ระลอกคลื่นเริ่มซัดเข้ามา เรือเริ่มเอียงมากขึ้น ก่อนส่วนหัวยกขึ้นสูงพ้นน้ำจนเกือบเป็นแนวดิ่ง หอบังคับการเริ่มจมน้ำ หลังจากนั้นเป็นเวลา 45 วินาที หัวเรือจมลงสู่พื้นน้ำ ฟองอากาศจำนวนมหาศาลผุดออกมาจากรอบด้าน เรือปราบลงสู่พื้นทะเลในลักษณะตะแคง ใช้เวลาเพียง 35 วินาที กราบขวาของเรือกระแทกพื้นที่ความลึก 20 เมตร วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ตามกระแสน้ำ กราบซ้ายคือส่วนสูงสุดของเรือ อยู่ที่ระดับความลึก 15 เมตรตลอดทั้งลำ
พี่ ๆ ทหารเรือลงดำน้ำสำรวจเป็นอันดับแรก จนเห็นว่าทุกอย่างปลอดภัย พี่ส่งสัญญาณให้เหล่านักวิจัยลงน้ำได้ครับ เนื่องจากเรืออยู่ในสภาพตะแคง ผมจึงต้องนั่งหัวปั่นวางแผนใหม่เพราะอุปกรณ์เดิมติดไว้อยู่ในสภาพเรือตั้งปรกติ ยังรวมถึงเครื่องมือบางประการที่ถูกเรือทับแบนไปหมดแล้ว เคราะห์ดีที่ผมนำอุปกรณ์เผื่อมา เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิและแสงสว่าง เครื่องมือติดตามการลงเกาะของสัตว์น้ำ เราจึงยังพอทำงานวิจัยต่อไปได้แม้จะขลุกขลักบ้าง
ผมเป็นห่วงเรื่องระยะห่างระหว่างเรือกับแนวปะการัง เราวัดได้ใกล้กว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ สิ่งเดียวที่ทำได้คือการติดตั้งสายวัดจากเรือไปสู่แนวปะการังที่ใกล้ที่สุด (ความลึก 14 เมตร) ก่อนติดตั้งอุปกรณ์เก็บตะกอนไว้เป็นระยะ เรายังต้องสำรวจสภาพแนวปะการังบริเวณหัวเกาะเพื่อวางแผนในการศึกษาทั้งระยะสั้นและระยะยาว
กลุ่มสัตว์เกาะติดกับเรืออาจเปลี่ยนไปตามระดับความลึกของน้ำ เราอาจเห็นปะการังขึ้นอยู่บนกราบเรือด้านซ้ายที่หงายขึ้น เพราะปะการังบางชนิดอยู่ได้ที่ความลึก 15 เมตรในเขตน้ำใส ผมค่อนข้างเชื่อว่าจะมีเห็ดทะเลกับดอกไม้ทะเลมาอยู่แถวนี้เพียบ เพราะในบริเวณใกล้เคียงกันมีสัตว์กลุ่มนี้อาศัยอยู่มาก ยังหมายถึงปะการังอ่อนบางสกุล แต่ใครหวังอยากเห็นปะการังดำต้นใหญ่หรือฟองน้ำครกขนาดยักษ์ ผมไม่ค่อยมั่นใจว่าจะมี อย่างเก่งก็คงเป็นแส้ทะเล (ลองไปเรือสัตกูดสิครับ ในไม่ช้าน่าจะมีทั้งปะการังดำทั้งฟองน้ำยักษ์)
สิ่งมีชีวิตอีกกลุ่มที่จะเข้ามาแน่คือปลาทั้งหลาย แค่เรือลงไปในน้ำได้ไม่เท่าไหร่ สลิดทะเลฝูงใหญ่ก็ว่ายเข้ามาแล้วครับ ยังหมายถึงปลามงและปลากลางน้ำอื่น ๆ หากลงไปตามลำเรือ เราคงพบปลาไหลมอเรย์ตาขาว ปลาผีเสื้อเหลืองชุมพร (พบเฉพาะอ่าวไทย ที่ชุมพรเยอะสุด) ปลาสินสมุทรลายฟ้า และปลาอื่น ๆ อีกหลายสิบชนิด ข้อมูลที่เราสำรวจเกาะง่ามน้อยระบุว่า แถวนี้มีปลาไม่ต่ำกว่า 100 ชนิดครับ แต่ถ้าเอาให้เจ๋ง เราอาจมีสิทธิเจอฉลามวาฬว่ายข้ามเรือ (มีรายงานว่าเจอประจำโดยเฉพาะช่วงสงกรานต์และหลังจากนั้นนิดหน่อย)
มาถึงเรื่องการดำน้ำ เรืออยู่ในระดับความลึกเพียง 20 เมตร นักดำน้ำขั้นต้นสามารถลงไปดูได้ตลอดทั้งลำ แต่คงต้องระวังอย่าเตะขาไปโดนตะกอนบนพื้นทรายเพราะบางเวลากระแสน้ำอาจไหลเข้าหาเกาะ นอกจากนี้ การพักน้ำอาจทำได้ยากหน่อยเพราะจุดที่ตื้นสุดของเรือคือกราบซ้ายที่ความลึก 15 เมตร ผมไม่เห็นทุ่นในบริเวณนั้น แต่ในอนาคตคงมีการวางทุ่นที่จะช่วยทั้งการจอดเรือและการพักน้ำของเหล่ามนุษย์กบ
จุดน่าสนใจอันดับแรกคือหมายเลข 741 ที่หัวเรือ ถัดจากนั้นคือป้อมปืนหน้า แม้จะสวยสู้ป้อมปืนหลังไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าหลายคนคงหยุดถ่ายภาพแถวนี้ เลยต่อไปคือดาดฟ้าและหอบังคับการ นักดำน้ำอาจโผล่หน้าเข้าไปดูข้างใน (แต่ไม่มีอะไรเหลือ เราเก็บขึ้นใส่พิพิธภัณฑ์ที่จะสร้างบริเวณหาดทรายรีครับ) บนหลังคาหอยังมีธงชาติไทยเด่นสง่า ถัดไปอีกนิดคือป้ายชื่อเรือพร้อมรายละเอียด มาถึงป้อมปืนท้ายอันเป็นจุดน่าสนใจที่สุดของเรือลำนี้ หากผมเข้าใจไม่ผิด ใต้ทะเลไทยไม่มีเรือลำใดที่มีป้อมปืนเหลืออยู่ (ในอนาคตจะมีอีกลำ เรือหลวงสัตกูดแห่งเกาะเต่า)
ผลจากเรือตะแคงทำให้การปรับปรุงเรือก่อนหน้ามีปัญหาบ้าง เดิมทีเราขอให้ช่างช่วยถอดประตูหน้าต่างรวมถึงการเจาะช่องแสงเพื่อช่วยให้นักดำน้ำที่มีประสบการณ์สามารถเข้าไปภายในเรือได้ แต่เมื่อเรือตะแคง แสงก็เลยเข้าช่องน้อยลง ข้างในค่อนข้างมืด อีกทั้งทางเดินหรือใด ๆ ก็ตามอยู่ในสภาพพิสดาร เหมือนเอาห้องตะแคงข้าง 90 องศา ผมจึงไม่แนะนำให้เข้าไปข้างในลำเรือยกเว้นผู้เชี่ยวชาญในด้านการดำน้ำในเรือจม
ทั้งหมดนั้นเป็นข้อมูลขั้นต้นเกี่ยวกับเรือหลวงปราบเท่าที่ผมปั่นต้นฉบับทัน หากท่านใดสนใจ ในงานมหกรรมดำน้ำ TDEX ที่จะจัดในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ ระหว่างวันที่ 26-29 พฤษภาคม เรามีบู๊ทเกี่ยวกับเรือปราบและเรือสัตกูดโดยเฉพาะ ผมเตรียมแผนผังเรือและภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหวไว้เรียบร้อย รวมถึงคลิปเร้าใจช่วงเรือปราบกำลังลงสู่ท้องทะเล (เคราะห์ดีที่กล้องของเราไม่โดนทับจนแบน) ขอเชิญไปพูดคุยไถ่ถามกันได้ครับ เค้าว่า MC สวยเฉียบเนี๊ยบอย่าบอกใคร