marinerthai

เจาะลึกท่าเรือทวาย – ไทยรัฐออนไลน์

จาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โดย : ไทยรัฐออนไลน์  

ตอนที่ 1 ทวายดันไทยท้าทายสิงคโปร์ ชิงศูนย์กลางฮับเอเชีย

หากพูดถึงฮับแห่งภูมิภาคเอเชีย ในนาทีนี้คงจะหนีไม่พ้นการพูดถึงท่าเรือน้ำลึกสิงคโปร์เป็นอันดับต้นๆ เพราะพื้นที่ตั้งประเทศสิงคโปร์เป็นเส้นทางระหว่างทวีปยุโรปและเอเชียตะวันตก กับภาคพื้นตะวันออกไกล รวมถึงภาคพื้นแปซิฟิก ทำให้สิงคโปร์ กลายเป็นชุมทางของเส้นทางเรือและสายการบินระหว่างประเทศ รวมถึงการเป็นแหล่งชุมนุมการค้าขาย แต่เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอ สิ่งที่คนจะพูดถึงต่อไป คงไม่ใช่เพียงท่าเรือของสิงคโปร์ เพียงอย่างเดียว ที่จะเป็นแหล่งขนส่งสินค้าทางเรือ ท่าเรือทวาย อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่คุ้นหูและกลายเป็นฮับที่สำคัญและไม่ด้อยกว่าอย่างแน่นอน

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ image-606.png

ทวาย ดันไทยท้าทายสิงคโปร์ ชิงความเป็นฮับแห่งเอเชีย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ท่าเรือดังกล่าวตั้งอยู่ที่ประเทศพม่าตรงฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกหรือทะเลอันดามัน ถ้าสินค้าที่มาจากฝั่งยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง หรืออินเดีย จะมาลงตรงท่าเรือน้ำลึกทวายได้เลย ซึ่งจะลดขั้นตอนที่จะต้องเอาเรือไปผ่านสิงคโปร์ จุดแคบมะละกาและขนสินค้ามาไทยบริเวณแหลมฉบังหรือทางรถไฟ สิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับไทย คือ ขั้นตอนการขนส่งเส้นทางโลจิสติกส์ไทยจะลดลง ประโยชน์ต่อมาคือ หากท่าเรือทวายเข้มแข็งหรือโดดเด่นและไทยเข้าไปลงทุนไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือไปทำอะไรแถวนั้นนักธุรกิจไทยก็มีโอกาสได้ประโยชน์เพราะคนดูแลสัมปทาน คือ อิตาเลียนไทย แม้จะเกิดประโยชน์ในประเทศพม่าแต่โดยธุรกิจถ้าเชื่อมมาที่ไทยธุรกิจที่อยู่ตามตะเข็บตามแนวชายแดนเช่น กาญจนบุรี ซึ่งอาจจะทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงหากรัฐบาลสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดระนองหรือที่ปากบาราจังหวัดสตูลซึ่งหากมีก็จะเป็นการเชื่อมการขนส่งจากท่าเรือทวายต่อไปยังภาคใต้ขนจากเรือเล็กไปลงเรือใหญ่แทนที่จะอ้อมไปที่แหลมฉบังหรือไปใช้พอร์ตของสิงคโปร์

“การที่สิงคโปร์เป็นฮับคือ 1.สิงคโปร์มีท่าเรืออยู่แล้วและท่าเรือก็กระจายไปทั่วโลก ซึ่งจะลงไปทางอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ความเป็นศูนย์กลางของสิงคโปร์ยังมีอยู่พร้อมๆ กับการที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีโรงกลั่นน้ำมันเยอะ จึงยังทำให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงิน ศูนย์กลางประกันอยู่ เพราะฉะนั้นความที่เป็นศูนย์กลางของท่าเรือสิงคโปร์เองก็ยังมีความโดนเด่นอยู่เพียงแต่ว่าเส้นทางท่าเรือนี้จะเป็นทางเลือกใหม่เราอาจจะไม่ใช่ศูนย์กลางเราต้องดูว่าทิศทางการเดินเรือของโลกจะมาพักที่แหลมฉบังกับทวายหรือไม่เพราะสิงคโปร์คือจุดที่เป็นเหมือนเทอร์มินอลของสนามบิน คือ ลงสิงคโปร์แล้วจะไปได้หมดแหลมฉบังต้องไปทวาย คือเรื่องจะไม่พักที่แหลมฉบังแล้วจะไปต่อที่สิงคโปร์แต่ไปสิงคโปร์จะไปต่อได้หมด แต่ถ้าของทวายมันคือมาทวายก็คือต่อที่แหลมฉบังและจะขึ้นไปจีน คือต้องบอกว่าอาจจะเป็นศูนย์กลางทางเรืออยู่แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกที่สำคัญ”

ทวาย อนาคตใหม่การลงทุนในะดับโลก ประตูบานใหม่นำไทยและพม่า สู่ระดับอินเตอร์

สำหรับมูลค่าการลงทุนนั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ไม่ได้ศึกษาว่าเต็มรูปแบบของอิตาเลียนไทยวางไว้เท่าไหร่ ดังนั้นจึงไม่กล้าพูดเรื่องตัวเลข แต่หากพูดเรื่องการลงทุนเพิ่มของมาบตาพุดจะอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท แต่ทวายเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอาจจะใช้งบประมาณที่เยอะกว่า ซึ่งหากจะมองในมุมของความคุ้มค่าการลงทุน หากมองย้อนกลับไปช่วงท่าเรือแหลมฉบัง ช่วงปี 2530 สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี คนจะนึกหรือไม่ว่าจะเป็นระยองวันนี้ผมว่าไม่มีทาง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เกิดนิคมอุตสาหกรรม เกิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทำให้ ปตท.ยิ่งใหญ่ติด 1 ใน 500 ของโลก ด้วยจากตัวโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก เหมือนทวายเอง ณ วันนี้อาจจะยังไม่ได้สร้างความคุ้มค่าเร็วแต่สร้างอนาคตให้กับพม่า สร้างอนาคตให้กับไทยส่วนหนึ่งได้ และวันหนึ่งจะยิ่งใหญ่ ณ วันนี้ถ้าผมไปลงทุนในพม่าผมจะคุยกับนักลงทุนยังไง ผมจะส่งของออกที่ตรงไหนก็นี่ไงท่าเรือทวายไง เหมือนไทยตอนนี้ส่งของออกส่งที่ไหนเพราะในกรุงเทพฯมันเล็กแต่ตอนนี้ส่งที่ไหนก็แหลมฉบังไง เพราะฉะนั้นจะสังเกตว่ามันเป็นพอร์ตหรือเป็นเกตเวย์ออกไปสู่นานาชาติซึ่งทำให้พม่าเข้มแข็งและประโยชน์จะเชื่อมอยู่กับไทยด้วย

ห่วงอย่างเดียว เรื่องถูกโลกแซงชั่น

“โดยความเห็นส่วนตัวต้องยอมรับว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ในอดีตพม่าถูกคว่ำบาตร (แซงชั่น) และถ้าถามว่าหากพม่าไม่ถูกคว่ำบาตรจะมีบริษัทนานาชาติมาแข่งกับอิตาเลียนไทยทำท่าเรือทวายหรือไม่ก็คงมี แต่พอถูกคว่ำบาตรทุกคนก็ไม่กล้าเข้าเพราะประเทศใหญ่ๆ อยู่ในสหประชาชาติหมด เราต้องเคารพการคว่ำบาตรแต่เราเป็นประเทศเพื่อนบ้านเราก็ช่วยเหลือได้ตามหลักประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าเราถามว่า ณ วันนี้ ถ้าเราไม่ทำอะไรประเทศอื่นเลิกคว่ำบาตรหมดแล้วก็จะหยิบชิ้นปลามันไป ถ้าถามว่าเราทำช้าไปหรือไม่ผมก็ไม่คิดว่าช้า เพราะพม่าเพิ่งเปิดประเทศเต็มที่การทำท่าเรือทวายแล้วไม่มีธุรกิจเกิดใหม่คือไม่มีการเดินเรือเอาจากไทยอย่างเดียวมันใช่ที่ไงคือคนอาจจะไม่ผ่านแดนพม่าก็ได้ถ้ามีท่าเรือเพราะเค้าคว่ำบาตรอยู่แต่ ณ วินาทีนี้เรารอไม่ได้แล้ว ผมไม่ได้คิดว่าช้าไปแต่ผมคิดว่า ณ ตอนนี้อย่าช้าเพราะไม่เช่นนั้นเราจะเห็นคู่แข่งไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐฯ หรือยุโรปเข้าไปลงทุนในพม่ามากกว่านี้แล้วเราจะเสียกระบวนการในการพัฒนาร่วมกับพม่า เพราะพม่าจะเป็นจุดเด่นที่สำคัญในเอเชียพอสมควรในอนาคต”

เมื่อโตเต็มที่ มูลค่าเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าแสนล้าน จีดีพีโต อย่างต่ำ 1 เปอร์เซ็นต์

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า หากพูดถึงมูลค่าเศรษฐกิจสำหรับโครงการดังกล่าวนั้นในภาพคร่าวๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ อุตสาหกรรม ที่จะอยู่ในนิคมกาญจนบุรีหรือนิคมระยอง อาจจะมีคนมาสนใจพวกเหมราช อมตะ ฯลฯ พออุตสาหกรรมมาลงมากขึ้นก็จะเกิดการลงทุนอาจจะเกิดธุรกิจโลจิสติกส์ธุรกิจการเงินปล่อยสินเชื่อธุรกิจทางด้านประกันภัยซึ่งประกันด้านการขนส่ง ธุรกิจการเงิน ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจต่างๆ มากมาย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามแนวทาง ซึ่งอาจจะทำให้มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ ผมเชื่อว่าปีๆ หนึ่งไม่ควรต่ำกว่าแสนล้านและทำให้จีดีพีโตได้ประมาณ 1% อย่างน้อย 1% น่าจะเกิดขึ้นได้

อดีตขุนคลัง ชี้ข้อดี ทวาย เหนือสิงค์โปร์เรื่องความปลอดภัย

ด้าน นายกรณ์  จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นเรื่องที่รัฐบาล ปชป.มีนโยบายสนับสนุนอย่างชัดเจนตั้งแต่แรก แต่ประเทศไทยติดหล่มการถกเถียงเรื่องของแนววิธีการพัฒนาท่าเรือทางตะวันตกของไทยมานานตอนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการเรียกประชุมเป็นกรณีพิเศษให้กับสภาพัฒน์มานำเสนอกับครม.เศรษฐกิจว่าที่เถียงกันมาเป็น 10 ปี ทางเลือกที่แท้จริงคือการทำท่าเรือน้ำลึกในฝั่งตะวันตกของไทย เพื่อที่ไทยจะได้พัฒนาการขนส่งไปสู่อินเดียตะวันออกกลาง โดยไม่ต้องพึ่งท่าเรือสิงคโปร์และแหลมมะละกา ซึ่งทางสภาพัฒน์ ก็ไม่มีความชัดเจนเพราะสิ่งที่สภาพัฒน์ กังวลคือการศึกษามาหลาย 10 ปีแต่ว่าในช่วงระยะเวลานั้นการพัฒนาพื้นที่ของชุมชนและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็มีมาเรื่อยๆ และถ้ามีการตัดสินใจจริงสุดท้ายในทางปฏิบัติคิดว่าทำยาก รัฐบาลจึงตัดสินใจชัดเจนว่าจะไม่พิจารณาแล้วเรื่องการพัฒนาท่าเรือในพื้นที่ต่างๆ ที่พูดคุยกันมานานบนแผ่นดินไทย แต่จะมองไปสู่การรวมเศรษฐกิจอาเซียนและคิดแบบใหม่คือคิดว่าประเทศไทยมีแนวโน้มโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากท่าเรือน้ำลึกในฝั่งตะวันตกที่ใดมากที่สุด ก็พบว่าที่น่าจะเป็นประโยชน์การพัฒนาไทยเป็นศูนย์การการขนส่งในภูมิภาคอาเซียนมากที่สุดน่าจะเป็นที่ทวาย ซึ่งก็เป็นที่ภาคเอกชนไทยมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องมายาวนานอยู่แล้วคืออิตาเลียนไทย ดังนั้นนโยบาย จึงชัดเจนซึ่งได้สื่อสารไปกับทางพม่าว่า ไทยสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือทวายแล้วก็จะลงทุนนอกเหนือจากที่สนับสนุนเอกชนไทยไปรับงานพัฒนาตัวท่าและนิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นแล้วก็จะสนับสนุนด้วยงบประมาณการลงทุนในระบบขนส่งฝั่งไทยที่จะเชื่อมโยงกับทางทวายด้วย ตรงนี้ก็เป็นนโยบายที่กำหนดมาตั้งแต่วันนั้น เดิมทีก็ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะสนับสนุนหรือไม่ แต่พอมาวันนี้ยิ่งพอมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า การเกิดท่าเรือทวายถือเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีสิงคโปร์เพียงแห่งเดียวและแน่นอนที่สุดก็จะเกิดการแข่งขันขึ้นซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องดีที่จะทำให้อาเซียนโดยรวมเป็นศูนย์กลางการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะความกังวลส่วนหนึ่งของการใช้สิงคโปร์มาโดยตลอดคือความกังวลต่อความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ปัญหาในช่องแคบมะละกาเพราะมันแคบมากจริงๆ เพียงแค่ถ้ามีเรืออับปางหรือมีการก่อการร้ายหรือเหตุการณ์ใดๆ ก็แล้วแต่มันจะทำให้เส้นทางการเดินเรือของโลกต้องชะงัก เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดก็เป็นทางเลือกและการค้าการขายระหว่างประเทศก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้วเพราะฉะนั้นน่าจะมีธุรกิจเพียงพอที่จะรองรับ แต่สิงคโปร์ก็อาจจะต้องมีการปรับตัวบ้างแต่ก็เป็นเรื่องปกติ

“ถ้าถามว่าช่วงนี้ใช่ช่วงเหมาะสมที่จะมาลงทุนหรือไม่ ตอบได้เลยว่ามันเหมาะสมมานานแล้วและเป็นเรื่องที่ทำมานานแล้วด้วยไม่ใช่เพิ่งเริ่มโครงการ ซึ่งเงินที่ใช้เงินในการพัฒนาก็ไม่ได้เป็นเงินรัฐบาลไทยนะ ส่วนของไทยคือส่วนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่จะเชื่อมโยงกับตัวท่าเรือในฝั่งไทยเราก็ทำไว้เยอะแล้วด้วยเราก็คงจะทำต่อเนื่อง”

และนี่ถือเป็นความคิดเห็น ที่สนับสนุนการสร้างท่าเรือทวาย เพราะหากฟังจากความเห็นข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่าไทยจะได้ประโยชน์ในหลายๆ เรื่อง แต่ในทางกลับกันในตอนที่2 เราจะมาดูถึงความคิดเห็นและประโยชน์จากฝั่งผู้ได้สัมปทานอย่างบริษัท “อิตาเลียนไทย” กันบ้าง


ตอนที่ 2   ” 2.67 แสนล้านบาท เนรมิตทวายโลจิสติกส์อาเซียน “

ในตอนที่ 2 นี้ ทีมข่าวเศรษฐกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปพูดคุยกับบริษัทอิตาเลียน เจ้าของขุมทองแห่งใหม่ของอาเซียน ที่นักวิเคราะห์ด้านการลงทุน มองว่าจะกลายเป็นคู่แข่งอันสำคัญของสิงค์โปร์ ในการชิงความเป็นโลจิกส์ติกอาเซียนแห่งใหม่ มูลค่าการลงทุนในขั้นต้น ที่มีไม่ต่ำกว่า 2.67 แสนล้านบาท สำหรับสัปทาน 75 ปี บริษัทจะมีทิศทางอย่างไร และอยากร้องขออะไรกับทางรัฐบาลไทย สำหรับการก้าวเดินไปสู่จุดมุ่งหมายอันสำคัญดังกล่าว จะมีอะไรบ้าง เราลองไปติดตามกันดู…

ทุ่ม 2.67 แสนล้านบาท เนรมิตทวายสู่การเป็นโลจิสติกส์อาเซียน ภายใต้สัปทาน 75 ปี

บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน ได้จดทะเบียนตั้งบริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 และดำเนินกิจการบริหารโครงการทวาย โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ได้รับสิทธิ์จากรัฐบาลพม่าในการพัฒนาพื้นที่บริเวณ 205 ตร.กม. ในทวาย ภายใต้การลงนามขอบข่ายข้อตกลงระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย และการท่าเรือแห่งสหภาพพม่า

นางสาวพัชรา ศิริเชิดชูเกียรติ ผู้ประสานงานโครงการ บริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามในกรอบความตกลงกับการท่าเรือ กระทรวงคมนาคมของสหภาพพม่า เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้ได้รับสัมปทานในการพัฒนาโครงการ โดยท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 205 ตารางกิโลเมตร และตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดทวาย ประมาณ 28 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในตอนเหนือของอ่าวเมืองมะกัน มีการลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ถนนเชื่อมโยงจากทวายไปยังประเทศไทย และด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลพม่าในการเชื่อมโยงทางรถไฟจากทวาย ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ มูเซ เชื่อมต่อไปยังทางรถไฟจีนที่คุนหมิง ทำให้โครงการนี้ได้รับการเสนอให้เป็นจุดศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญของภูมิภาค ซึ่งบริษัทฯ มีระยะเวลาสัมปทาน 75 ปี โดยการลงทุนจะแบ่งออกเป็นระยะ โดยประมาณการมูลค่าการลงทุนในการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานของโครงการทวายจะอยู่ที่ 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.67 แสนล้านบาท (31.50 บาท ต่อดอลลาร์ฯ) และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเฟสที่ 1 ภายในสิ้นปี 2558 และพร้อมจะดำเนินการในต้นปี 2559

ขอรัฐช่วยหนุนโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงไทย-พม่า

นางสาวพัชรา กล่าวต่อว่า โครงการท่าเรือทวายจะแบ่งการพัฒนาโครงการเป็นภาค ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเจรจากับบริษัทต่างๆ ส่วนการรับรู้รายได้และจุดคุ้มทุนของบริษัทคาดว่าจะรับรู้ก็ต่อเมื่อสามารถขายที่ดินในบริเวณโครงการได้ ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจไทย-พม่า จะช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของโครงการในสายตาของนักลงทุนและสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการโครงการเป็นไปด้วยความราบรื่นเสมอมา และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจากับนักลงทุนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

“สิ่งที่อยากจะได้จากรัฐบาลคือ ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการก่อสร้างถนน เพื่อเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยและโครงการทวาย รวมถึงระบบศุลกากรด้วย ส่วนเหตุผลที่ทำให้บริษัทฯ เลือกมาลงทุนในทวายเนื่องจากทำเลที่ตั้งของโครงการเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคต่างๆ ได้”

การเมืองพม่าปึ้ก ไม่กระทบการลงทุน สร้าง 6 เขตอุตสาหกรรม

นางสาวพัชรา กล่าวถึงปัญหาการเมืองของพม่าว่า ไม่กระทบกับการลงทุนเพราะที่ผ่านมาการดำเนินงานต่างๆ ก็เป็นไปอย่างราบรื่นดี ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพม่าก็ได้ให้การสนับสนุนบริษัทในการพัฒนาโครงการทวาย อย่างไรก็ตามหากมีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมต่อระหว่างทวายกับแหลมฉบังจะทำให้ช่วยลดระยะเวลาในการขนส่งได้

อย่างไรก็ตาม โครงการที่บริษัททวายได้ลงทุนนั้น คือการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งได้เป็น 6 เขตอุตสาหกรรม ได้แก่ ที่อยู่อาศัย การค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องภายในนิคมอุตสาหกรรม ถนนและทางรถไฟเชื่อมโยงไปสู่ประเทศไทย รวมถึงน้ำมันและท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวมะตะบันไปยังชายแดนไทยพม่า สำหรับประโยชน์คือ ท่าเรือน้ำลึกทวายจะทำหน้าที่เป็นประตูสู่การค้าใหม่ในเส้นทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกให้กับอินเดีย จีน ตะวันออกกลาง ยุโรปและแอฟริกา ซึ่งจะช่วยลดการจราจรที่คับคั่งในช่องแคบมะละกา ลดเวลาการขนส่งและค่าใช้จ่ายในการขนส่งและเป็นสถานที่ที่ได้เปรียบในการค้าเนื่องจากตรงเข้าถึงทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียในการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ในนิคมอุตสาหกรรมยังช่วยสร้างตลาดใหม่สำหรับการลงทุนของต่างประเทศ จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นและจากการคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงการพัฒนาระหว่างประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ท่าเรือระดับโลก รับเรือระวางบรรทุกสูงสุดสบาย สินค้าผ่านไม่ต่ำกว่า 250 ตันต่อปี แถมเร็วเพียงลัดมือ

สำหรับจุดเด่นด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับโครงการดังกล่าว คือ

1. ท่าเรือ ที่สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้สูงถึง 3 แสนเดทเวทตัน (DWT หรือระวางบรรทุกสูงสุดของเรือ) และรองรับปริมาณสินค้าผ่านท่าสูงสุด 250 ล้านตันต่อปี โดยมีท่าเรือสำหรับสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ สินค้าหีบห่อ สินค้าเทกองแห้ง เช่น ธัญพืช แร่ ถ่านหินและปุ๋ย สินค้าเหลว เช่น น้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และก๊าซธรรมชาติเหลว รวมถึงการมีหน่วยบริหารจัดการท่าเรือและการเดินเรือระดับโลก

2.ถนนเชื่อมระหว่างเขตแดน มีเส้นทางลัดใหม่เชื่อมโยงไทยสู่ทวาย ด้วยระยะทางประมาณ 132 กิโลเมตรจากชายแดน ทางหลวงขนาด 4 เลนพร้อมระบบควบคุมการเข้าออกอย่างเต็มรูปแบบ ศูนย์บริการข้ามแดนครบวงจรที่จุดผ่านแดนไทย-พม่า และใช้เวลาการเดินทางเพียง 5 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ด้วยระยะทางเพียง 330 กิโลเมตร

3.โรงไฟฟ้า ซึ่งจะใช้เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดและเพียงพอต่อความต้องการทั้งหมด ซึ่งกำลังการผลิตไฟฟ้าจะเพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมทั้งหมดด้วย

4.ระบบการจัดการน้ำ จะมีอ่างเก็บน้ำขนาดความจุ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานทั้งหมดตลอดปี

5.สวนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ

6.การสื่อสารโทรคมนาคม มีการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลด้วยสายไฟเบอร์ออปติคความเร็วสูง 1Gbps มีสถานีชุมสายให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือ รวมถึงมีบริการระบบเครือข่ายไร้สาย 3G และเชื่อมต่อกับ International Gateway ของประเทศไทยด้วย

กฎหมายใหม่พม่า สุดเอื้อการลงทุน

สำหรับกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย พม่าได้ประกาศใช้กฎหมายใหม่ 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554 คือ 1. กฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ 2. กฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยมีสิทธิพิเศษของนักลงทุน คือ 1.การผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากวัตถุดิบตั้งแต่กระบวนการผลิตโดยเครื่องจักร การดำเนินการคลังสินค้า การขนส่งและให้การบริการ 2. การขนส่งและนำเข้าวัตถุดิบ วัสดุบรรจุภัณฑ์ เครื่องจักร อุปกรณ์และน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องใช้ในธุรกิจการลงทุนจากในประเทศหรือต่างประเทศเพื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย 3.การพาณิชย์ นำเข้าและส่งออก 4.ค้าขายในตลาดท้องถิ่น ยกเว้นอาหารและยา 5.การจัดตั้งสำนักงานดำเนินการสำหรับธุรกิจการลงทุนและให้บริการงานต่างประเทศในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ภายใต้การอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร 6.การสร้างท่าเรือน้ำลึก 7.การสร้างอุตสาหกรรม เช่น โรงเหล็ก โรงปุ๋ยเคมี โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมี โรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 8. ดำเนินธุรกิจ การบริหารภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย 9. การสร้างถนน สร้างทางรถไฟ สำหรับโครงการจากพื้นที่ที่กำหนดถึงพื้นที่ชายแดน รวมไปถึง สายนำส่งไฟฟ้า ท่อส่งปิโตรเลียมและท่อส่งก๊าซ 10.การจัดตั้งโครงการสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว รีสอร์ต และ 11.ดำเนินธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือไปจากกฎหมายที่มีอยู่ ภายใต้การอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้สำหรับรัฐบาลพม่าผ่านทางภาษีจากโครงการและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โครงการนี้ยังช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานสำหรับคนพม่ากว่าหลายร้อยหลายพันคน ซึ่งแรงงานเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาโครงการ นอกจากนี้สหภาพพม่าจะได้ประโยชน์จากการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยพัฒนาประเทศ การใช้ประโยชน์จากท่าเรือน้ำลึกทวายและนิคมอุตสาหกรรมนี้ จะเปลี่ยนทวายเป็นปลายทางการลงทุนใหม่และเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคที่สำคัญ ซึ่งการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่เพียงแต่ในสหภาพพม่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่โดยรวมในภูมิภาคด้วย

สำหรับในตอนที่ 3 เราจะไปพูดคุยกับมือเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาลไทย และผู้ที่อยู่เบื้องหลังการวางแผนเศรษฐกิจทักษิโณมิกส์ อันลือชื่อ ว่าจะมีมุมมอง ต่อก้าวต่อไปของรัฐบาล ในการเดินหมากเศรษฐกิจอันสำคัญ ผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพื่ออนาคตประเทศไทยในอีก 30 ปีข้างหน้าอย่างไร…


ตอนที่ 3 เปิดแผนมือเศรษฐกิจรัฐบาล ทวายหมากเด็ดตะลุยอินเดีย อนาคตอีก 30 ปีไทย

หากมองอนาคต 30 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจโลกจะเป็นเช่นไร สิงคโปร์ยังเป็นฮับสำหรับเอเชียอยู่หรือไม่ ท่าเรือทวายที่ไทยกับพม่าร่วมมือกันลงทุนจะคุ้มค่าหรือไม่ เกิดประโยชน์เช่นไร คงจะไม่มีใครตอบได้แบบชัดเจน ทุกคนทำได้เพียงแค่ทำนายว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แต่หากเปิดแนวคิดของมือเศรษฐกิจรัฐบาล สมัย “ทักษิณ ชินวัตร” เรื่อยมาจนถึง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” แล้ว อาจจะพอเห็นเค้าโครงแนวทางต่อไปของเศรษฐกิจไทยและอนาคตที่สดใสของท่าเรือทวายเป็นเช่นไร

นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากมองอนาคต 10 10 10 รวม 30 ปีล่วงหน้า ไทยจะต้องเตรียมทำอะไรในอนาคต สำหรับ 10 ปีแรก คือการเจริญเติบโตเศรษฐกิจของเอเชียโดยเฉพาะชมพูทวีปซึ่งจะค่อยๆ เติบโต แต่ประเทศขนาดใหญ่อย่างอินเดีย แม้จะใช้คำว่าค่อยๆ แต่มูลค่าจะมหาศาล ดังนั้นชมพูทวีปติดต่ออาณาเขตไปยังยุโรปจึงเป็นเขตที่น่าสนใจในอนาคต ยุโรปคือเศรษฐกิจเก่าที่จะต้องแก้ปัญหาตัวเองสัก 5-7 ปี ชมพูทวีปจะโตขึ้นเรื่อยๆ หยุดไม่ได้แม้จะโตช้ากว่าจีนก็ตามเพราะฉะนั้นท่าเรือทวายจะเป็นทางลัดให้ความสะดวกที่ดีมากสำหรับสินค้าจากประเทศไทยที่จะส่งไปให้อินเดียโดยเฉพาะฝั่งจาการ์ตา เพราะก่อนหน้านี้เวลาจะส่งสินค้าให้อินเดียจะต้องอ้อมมหาศาล

“หากไทยนำเหล็กจากอินเดียลงผ่านทางฝั่งจาการ์ตามาโรงงานอุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ในกระบวนการปัจจุบันค่าโลจิสติกส์จะสูงมากเพราะฉะนั้นจึงทำให้มีประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ที่ดีที่จะทำให้เราสามารถยืดการลงทุนยืดคุณค่าของการลงทุนของวงจรอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยได้ ทวายจึงมีความสำคัญ และยังเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำแคชโฟล์ให้กับพม่าโดยเก็บค่าต๋งค่าใช้ท่าเรือ เหมือนสิงคโปร์ ฮ่องกง ที่เก็บค่าการใช้ท่าเรือ ก็ถือเป็นแคชโฟล์ที่ดีที่จะเพิ่มใช้สำหรับจะไปลงทุนการก่อสร้างของเค้าด้วยอันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ”

นายพันศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในอนาคตหลังเกิดท่าเรือทวาย สิงคโปร์จะยังเป็นฮับอยู่แต่จะเป็นการแบ่งกันไปว่า อะไรที่มาจากอินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี ออสเตรเลีย จะไปลงที่สิงคโปร์ แต่หากพูดถึงในอนาคตไทยจะมีรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมต่อถึงสิงคโปร์ได้ และสิ่งของที่โลกต้องการจะเป็นของที่เบาไม่ใช้พลังงานมากในการเคลื่อนย้าย ในอนาคต 10 10 10 ปีข้างหน้าสิงคโปร์จะเป็นทางลงของสินค้าที่มากับเรือ สินค้าบางอย่างจะมีสัดส่วนที่มากและเบาขึ้น เช่น อะไหล่รถยนต์ จะสามารถขนผ่านรถไฟความเร็วสูงได้ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงของสิงคโปร์จะเข้าจีนได้โดยผ่านไทย และในส่วนของมหาสมุทรอินเดียเลยไปถึงยุโรปแน่นอนว่าท่าเรือทวายจะกลายเป็นฮับอย่างแน่นอน

“มูลค่าเศรษฐกิจจะมหาศาลจนผมไม่อยากจะคำนวณ และสินค้าที่น่าสนใจคือ รถและของกินของใช้ที่เราต้องการส่งเข้าอินเดียซึ่งไม่ใช่สินค้าที่มีมูลค่าสูงและเหมาะสมกับอินเดีย เหมาะสมกับเศรษฐกิจที่เริ่มเจริญเติบโตก็เป็นของกินที่ไม่แพงนัก แต่ของไทยมีคุณภาพต่อราคาอันนี้เตรียมขายกันเถอะขายดีแน่”

ส่วนสิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องลงทุนเพื่อให้เชื่อมโยงกับท่าเรือทวาย นายพันศักดิ์ กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงและถนน แต่ทางพม่าจะจ่ายเองด้วยไม่ใช่ไทยลงทุนอย่างเดียว ซึ่งโดยส่วนตัวคาดว่าน่าจะเป็นการจ้างที่ปรึกษาไม่ใช่ไทยกับพม่าแต่ก็ต้องรอดูต่อไป ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกิน 5 ปีคงจะได้เห็นภาพนี้ และคงจะเสร็จพร้อมๆ กับรถไฟความเร็วสูงของไทย ซึ่งตอนนั้นไทยจะบูมมาก อย่างไรก็ตามก็หวังว่าถึงเวลานั้นไทยจะเลิกทะเลาะกับเขมรและได้พลังงานมาใช้ใหม่อีก 30 ปี ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นประเทศไทยก็จะน่ารักน่าใคร่มาก

จากนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้าเราคงต้องช่วยกันจับตามองว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ท่าเรือน้ำลึกทวายจะเกิดและเจิดจรัสดั่งเช่นคำทำนายของเหล่ากูรูจากทั่วทุกวงการที่ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้องที่สุดที่ประเทศไทยควรจะไขว่คว้าโอกาสในครั้งนี้ เหมือนแต่ครั้งเก่าก่อนที่ไทยได้ทำสำเร็จจากท่าเรือแหลมฉบังที่ทุกคนมองไม่เห็นภาพว่าจะยิ่งใหญ่ได้อย่างเช่นทุกวันนี้

Share the Post: