marinerthai

ตามรอยประภาคารแห่งแรกของไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจ โดย สมปอง ดวงไสว  วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แรกดำริในรัชกาลที่ 4 จวบรัชกาลที่ 5 ประทีปแห่งท้องทะเลไทยแห่งแรกจึงได้เกิดขึ้น ส่องสว่างในน่านน้ำเมืองสมุทรปราการ

ประภาคาร (Light house) สิ่งก่อสร้างรูปหอคอย มีตะเกียงส่องไฟอยู่ข้างบน สร้างไว้ในตำแหน่งที่มีความสำคัญมากต่อการเดินเรือ เช่น แสดงที่อันตราย แสดงจุดเริ่มเข้าใกล้ฝั่ง หลังจากรอนแรมอยู่ในทะเลมาหลายวัน หรือจุดที่เรือจะใช้เปลี่ยนเข็มเดินทาง คือ เปลี่ยนทิศทางที่จะเดินเรือต่อไป

การเดินเรือในยุคแรกๆ ชาวเรืออาศัยธรรมชาติของภูเขาไฟที่ยังลุกอยู่เป็นตัวบ่งบอก ต่อเมื่อภูเขาไฟดับแล้ว จึงได้จัดหาไฟขึ้นมาใช้แทนที่ภูเขาไฟที่หายไป จนเกิดเป็นประภาคารขึ้น ประภาคารแห่งแรกของโลกคือประภาคารที่ตั้งอยู่บนเกาะฟารอส (Pharos) หน้าเมืองอะเล็กซานเดรีย (Alexandria) ในอียิปต์ ชื่อว่าฟารอสแห่งอะเล็กซานเดรีย ประภาคารนี้สร้างโดยชาวกรีก ชื่อ ซอสตราตุส ชาวเมืองไนดัส ในสมัยกษัตริย์ปโตเลมี ประมาณ พ.ศ. ๒๖๐ แต่ปัจจุบันสูญไปไม่เหลือแม้แต่ร่องรอย

ประภาคารแห่งแรกของไทย

จากประชุมพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ระบุว่า “ในปีขาน โปรดให้พระยาเทพประชุน ไปทำไลซเฮ้า คือเรือนตะเกียงที่หลังสันดร สำหรับเรือลูกค้าเปนที่หมายทางเข้าออก”

แม้จะมีพระราชดำริในรัชกาลที่ ๔ แต่ยังไม่มีการสร้างให้เกิดขึ้นจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ ปากแม่น้ำเจ้าพระยามีเรือเข้าออกจำนวนมาก อันเป็นผลมาจากการค้าขายกับต่างชาติที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงได้ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวในการก่อสร้าง

สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้มีคำสั่งให้พระสยามธุรพาห์ซึ่งเป็นกงสุลสยาม ณ กรุงลอนดอน จัดซื้อเรือนตะเกียงทำด้วยเครื่องเหล็กสำรับหนึ่งส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ที่ปากน้ำเจ้าพระยาในทุกวันนี้ ราคาเรือนตะเกียงที่พระสยามธุระพาห์กงสุลซื้อเข้ามานั้นเป็นราคา ๑๘๐ ชั่ง พร้อมทั้งเครื่องเรือนตะเกียงแลโคมด้วย เงินที่มาลงทุนทำการตั้งเรือนตะเกียงขึ้นนั้น อีกเงินค่าไม้และของใช้เบ็ดเสร็จ ๑๘ ชั่ง ๖ ตำลึง ๑๐ สลึง เงินค่าจ้างเรือจ้างคนบรรทุกศิลาไปถมราก ๑๐ ชั่ง เงินจ้างเรือโป๊ะเมื่อแก้เรือนโคมชุด ๑๕ ชั่ง เงินค่าจ้างช่างไม้ ๑ ชั่ง ๑๘ ตำลึง ๑๑ สลึง รวมเป็นเงิน ๒๒๕ ชั่ง ๕ ตำลึง ๕ สลึง เป็นเสร็จการ และเงินที่ลงทุนค่าเรือนตะเกียงทั้งหมดนี้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านได้ออกเงินสร้างเป็นของๆท่าน สำหรับที่จะให้เรือราชการและเรือลูกค้าไปมาเป็นที่สังเกตในเวลากลางคืน และจะได้เป็นเกียรติยศแก่ปากน้ำเจ้าพระยาด้วย

เรือนตะเกียงที่สมเด็จเจ้าพระยาสั่งซื้อจากลอนดอน แสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ สมุทรปราการ

แผ่นโลหะติดตัวเครื่องที่บอกถึงบริษัทผู้ผลิตเครื่องเรือนตะเกียงและตัวเครื่องตะเกียง

ที่ตั้งของประภาคารแห่งแรก

ตามประกาศจากกรมท่า ในราชกิจจานุเบกษาแต่อดีตว่าไว้

“เรือนตะเกียงนั้นตั้งอยู่ข้างตะวันออกริมรั้วช้าง แลติจูต ๑๓ ดีกรี ๒๙ มินิศ ๒๖ เสกัน เหนือ นับข้างทิศตะวันออก ลอนยิศจุน ๑๐๐ ดีกรี ๓๕ มินิศ ๒๐ เสกัน ข้างไฟสันดอนอยู่ใกล้ทิศตะวันตกริมตลิ่งจะเลี้ยวมาทางตะวันออก เรือนตะเกียงนี้มีแสงสว่างรอบตัว สูงพ้นน้ำ ๔๔ ฟิต เรือไปมาจะเห็นแสงสว่างได้ทาง ๑๐ ไมล์ การที่ทำเรือนตะเกียงและการที่จัดเจ้าพนักงานพิทักษ์รักษาและจุดตะเกียงนั้น สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้มอบธุระให้ข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการมาแต่แรกลงมือทำ เรือนตะเกียงนี้ได้ลงมือทำแต่เมื่อปีมะเมียโทศก จุลศักราช ๑๒๓๒ แล้วเสร็จในปีมะแม ตรีศก จุลศักราช ๑๒๓๓ การที่ช้าอยู่ ไม่ได้จุดตะเกียงนั้น เพราะเรือนตะเกียงซุด ต้องรื้อทำใหม่ถึง ๒ ครั้ง เพราะเป็นที่เลนอ่อน การที่ได้ทำครั้งหลัง ต้องทิ้งศิลาถมลงเป็นรากแล้ว จึงได้ตั้งเรือนตะเกียงได้ สังเกตดูมา ๑๐ เดือนแล้วก็เห็นว่าจะอยู่ได้ จึงได้ออกประกาศให้ทราบทั่วกัน ผู้ซึ่งจะเป็นพนักงานจุดตะเกียงนั้น มิสเตอร์ฝอดชาวเยอรมันได้รับธุระในการจุดตะเกียงและการที่จะรักษาเรือนตะเกียง

อนึ่งเรือลูกค้าที่ไปมาค้าขายนั้นต้องเสียเงินช่วยในการจุดตะเกียงคิดเอาตามน้ำหนักสินค้า ตันหนึ่งเป็นเงินเซนครึ่งตามอย่างเมืองสิงคโปร์ ถ้าจะคิดเป็นหาบเป็นเงินตามธรรมเนียมไทย ก็จะต้องแบ่งเป็นอัฐเป็นฬศ จะเป็นการลำบากแก่ลูกค้า เพราะเรือลูกค้าที่ไปมาค้าขายนั้นเป็นเรือชาวต่างประเทศมากกว่าลูกค้าในกรุงเทพฯ จึงได้คิดน้ำหนักเป็นตอน คิดเป็นเงินเซนตามอย่างเมืองสิงคโปร์ เรือใบแลเรือกลไฟเรือรูปต่างๆที่เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ต้องเสียทั้งขาเข้าและขาออกเป็นตอนละ ๓ เซน เรือที่เป็นเรือใหญ่ทอดอยู่นอกสันดอนเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ เสียแต่ตอนละเซนครึ่งเท่านั้น เรือกลไฟแลเรือรูปต่างๆที่ไปมาจะต้องเสียค่าเรือนตะเกียงนั้น เรือจุสินค้าตั้งแต่ ๕๐ ตัน คิดเป็น ๘๐๐ หาบ ขึ้นไป จะต้องเสียค่าเงินตะเกียง เรือที่จะต้องเสียค่าเรือนตะเกียงนั้นเป็นแต่เรือบรรทุกสินค้าไปขายต่างเมือง ถ้าเป็นเรือสินค้าลำเลียงบรรทุกสินค้าไปส่งเรือใหญ่แลเรือกลไฟที่เป็นเรือสำหรับจ้างลากเรือเข้าออกไม่ต้องเสียค่าตะเกียง”

เรือตรวจการณ์กรมเจ้าท่า ณ สถานีนำร่องที่อยู่กลางทะเลแห่งเดียวของโลก
ทุ่น 14 เป็นหมุดหมายเทียบเคียงออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ สองกิโลเมตรครึ่ง คือที่ตั้งประภาคารแห่งแรก

ประภาคารแห่งแรกในวันนี้

เมื่อปลายเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ประสานงานกับกรมเจ้าท่าออกตระเวนหาร่องรอย ประภาคารแห่งแรกของไทย ที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ท่านสร้างไว้ โดยได้อาศัยเรือตรวจการณ์ของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสมุทรปราการ แล่นมุ่งสู่สู่สถานีนำร่องกลางทะเล สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา

นาวาโทกิตติพงษ์ พูลทองคำ นักนำร่องของกรมเจ้าท่าบอกว่า “ประภาคารของสมเด็จเจ้าพระยาท่านนั้น ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม ที่ละติจูต ๑๓ องศา๒๙ ลิปดา ๒๖ ฟิลิปดาเหนือ นับข้างทิศตะวันออกที่ลองติจูด ๑๐๐ องศา ๓๕ ลิปดา ๒๐ ฟิลิปดา และเมื่อเรือแล่นผ่านไปใกล้ทุ่นสีแดงหมายเลข ๑๔ ได้จอดเรือดูตำแหน่งที่ตั้งประภาคารสมัยนั้น ได้บอกว่า จากทุ่นสีแดง ๑๔ นี้ตั้งฉากกับแนวทุ่นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ๒.๕กิโลเมตร ตรงนั้นคือที่ตั้งประภาคาร รีเจ้นท์ไลท์เฮ้าส์ของท่าน”

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้มีการใช้เรือทุ่นไฟแทนที่ประภาคาร ภายหลังการใช้เรือทุ่นไฟค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงเลิกการใช้เรือทุ่นไฟ และได้มาสร้างประภาคารใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งอยู่ห่างจากที่เดิม และเลิกใช้ประภาคารหลังใหม่นี้อีกในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ และต่อมากรมเจ้าท่าได้ก่อสร้างสถานีนำร่องขึ้นที่สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอาคารคอนกรีต มีที่พักอาศัยสำหรับพนักงาน นำร่อง ได้เปลี่ยนไฟมา ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นไฟวับ สีขาว ทุกๆ ๑๐ วินาที มีความสูง ๓๘ เมตร สามารถมองเห็นได้ไกลถึง ๒๐ ไมล์ และใช้เป็นสถานีนำร่องในปัจจุบัน

หลังกลับจากสถานีนำร่องกลางทะเลแห่งเดียวในโลกของกรมเจ้าท่าแล้ว ได้ไปที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือสมุทรปราการ ที่นี่เองได้พบเรือนตะเกียงที่ทำด้วยกระจกเป็นเลนส์นูนที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์สั่งเข้ามาจากกรุงลอนดอน ไม่แต่เพียงเท่านั้นยังได้พบกับเครื่องตะเกียงที่จุดด้วยน้ำมันอีกด้วย เครื่องตะเกียงนี้มีแผ่นเหล็กติดบอกไว้ว่าเป็นของบริษัท CHANCE BROTHERS AND CO.LIMITED LIGHTHOUSE ENGINEER AND CONSTRUCTOR NEAR BIRMINGHAM 1892 ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญการทำแก้วแล้วมาทำเกี่ยวกับประภาคารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก ภายหลังบริษัทในอังกฤษได้ปิดตัวลง แต่ชื่อบริษัทนี้และการทำธุรกิจวิศวกรรมเกี่ยวกับประภาคารยังมีอยู่ที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย

เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙

เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ เยี่ยมให้กำลังใจ ณ เรือทุ่นไฟ กลางน้ำสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา

ตัวอย่างเรือทุ่นไฟกลางน้ำที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ

รื้อฟื้นสร้างเป็นหมุดหมายไว้ได้หรือไม่

ถึงแม้ว่าประภาคารสันดอนเจ้าพระยา หรือ Regent Light house ได้เลิกการจุดตะเกียง สิ้นการส่องแสงสว่างให้แก่ชาวเรือ และไม่เหลือร่องรอยให้เห็น อีกทั้งปัจจุบันเทคโนโลยีที่ใช้ในการเดินเรือก้าวหน้าไปมาก ตัวประภาคารเองก็เปลี่ยนความหมายไป กลายเป็นแลนด์มาร์คของเมือง และเป็นสถานที่เพื่อการท่องเที่ยวอันสวยงามแทน ล่าสุดประเทศอียิปต์ประกาศรื้อฟื้นสร้างประภาคารแห่งแรกของโลกที่เกาะฟารอส เมืองอเลกซานเดรียขึ้นมาใหม่ ในขนาดและตำแหน่งเดิม

จากเหตุดังกล่าวชวนให้คิดถึงประภาคารแห่งแรกของไทย ควรจะทำสิ่งใดให้สาธารณชนได้รับรู้และระลึกถึงได้บ้าง อาจจะสร้างกระโจมไฟ เรือนตะเกียงขนาดเดิมแบบเดิม หรือสร้างเป็นหลักให้รู้ว่า ณ ที่นี้ เคยเป็นที่ตั้งประภาคารแห่งแรกได้หรือไม่ จะได้ไม่ลอยลับหายไปกับทะเลแห่งกาลเวลา

“คือแสงแรกส่องท้องทะเลไทย กลืนลับหายไปกับกาลเวลา

เป็นประทีปประทับประดับฟ้า เจ้าพระยาประภาคารตำนานทะเล”

สถานีนำร่องกลางทะเล สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา สถานีนำร่องกลางทะเลแห่งเดียวในโลกของกรมเจ้าท่า
Share the Post: