marinerthai

สะดือสมุทรและเกาะแก้วพิสดารของสุนทรภู่ อยู่ในทะเลอันดามัน กับ การศึกษาหมาหางด้วน เท่ แต่โง่

โดยหนังสือพิมพ์ ข่าวสด วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 16 ฉบับที่ 5868

รายงานพิเศษ สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุนทรภู่ (พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย)  

สุนทรภู่รู้จัก “สะดืออันดามัน” แล้วตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2385 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 และควรรู้จักแล้วตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ 2 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2352-2367)

สะดือทะเลอันดามันมีอยู่ในกลอนรำพันพิลาปของสุนทรภู่ แต่งเมื่อบวชเป็นภิกษุ พ.ศ. 2385 จำพรรษาอยู่วัดเทพธิดาราม(กุฎีสุนทรภู่ยังมีอยู่) แต่เรียกชื่อ”สะดือสมุทร“อยู่ในทะเลอันดามันระหว่างภูเก็ตกับหมู่เกาะนิโคบาร์(นาควารี) จะขอยกกลอนรำพันพิลาปมาให้อ่านดังนี้

ออกลึกซึ้งถึงชื่อสะดือสมุทร เห็นน้ำสุดสูงฟูมดังภูมิผา

ดูพลุ่งพลุ่งวุ้งวงหว่างคงคา สูดนาวาเวียนวนไม่พ้นไป

เรือลูกค้าวานิชไม่ชิดเฉียด และก้าวเสียดหลีดรำตามน้ำไหล

แลชะเลเภตราบ้างมาไป เห็นไรไรริ้วริ้วเท่านิ้วมือ

แม้พรายน้ำทำฤทธิ์นิมิตรูป สว่างวูบวงแดงดังแสงกระสือ

ต้องสุมไฟใส่ประโคมให้โหมฮือ พัดกระพือเผาหนังแก้รังควาน

บริเวณสะดือสมุทร หรือสะดืออันดามันนี่แหละเป็นฉากทั้งเรื่องพระอภัยมณี วรรณคดีการเมืองที่สุนทรภู่แต่งต่อต้านการล่าอาณานิคมของอังกฤษ

น่าจะเป็นบริเวณเดียวกันได้ไหม? กับ MUD VOLCANO ที่คณะอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพิ่งไปพบอยู่ใต้ทะเลอันดามันใกล้ๆภูเก็ต แล้วยังสรุปไม่ได้เป็นอะไรแน่? แล้วภาษาไทยเรียกอะไร?

“ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก” ในทะเลอันดามัน

สุนทรภู่เรียกสะดือทะเลอันดามันใกล้ๆภูเก็ตว่า “สะดือสมุทร” (อยู่ในกลอนรำพันพิลาป) แล้วเรียกทะเลย่านนั้นด้วยชื่อรวมๆในนิทานกลอนเรื่องพระอภัยมณีว่า”นาควา รินทร์สินธุ์สมุทร” เป็นแหล่งแร่ธาตุธรรมชาติ

เรื่องพระอภัยมณีมีเหตุเมื่อท้าวสิลราชเจ้าเมืองผลึกพาลูกสาวชื่อสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเลแล้วถูกพายุ จึงตั้งพิธีเซ่นผีปู่เจ้าเพื่อถามทางว่าอยู่ที่ไหน? แล้วจะต้องกลับบ้านเมืองทางไหน? ปู่เจ้าบอก (ตอนเมา ๆ) ว่า

ฝ่ายปู่เจ้าหาวเรอเผยอหน้า นั่งหลับตาเซื่องซึมดื่มอาหนี

แล้วว่ากูปู่เจ้าเขาคีรี ทะเลนี้มิใช่แคว้นแดนมนุษย์

ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก ชื่อว่านาควารินทร์สินธุ์สมุทร

ฝูงนาคมาอาศัยด้วยไกลครุฑ ถ้ายั้งหยุดอยู่ที่นี่จะมีภัย

เมื่อมุ่งไปทางทิศอีสานก็ได้พบพระฤาษีเกาะแก้วพิสดาร พบพระอภัยมณีกับ สินสมุทร พบใครต่อใครอีกมากมาย แล้วเรื่องวุ่นๆทั้งหลายก็เกิดขึ้นรอบๆ ทะเล”นาควา รินทร์สินธุ์สมุทร”นี่ทั้งนั้น อันเป็นชื่อที่สุนทรภู่เอามาจากเกาะนาควารี หรือ Nicobar Islands อยู่กลางทะเลอันดามันซึ่งมีเกาะใหญ่น้อยจำนวนมากเรียงรายตามแนวเหนือใต้ ล้วนเป็นแหล่ง”ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก”

แผ่นดินเดียวกันของสุวรรณภูมิยุคดึกดำบรรพ์ เมื่อล้านปีมาแล้วมี “แผ่นดินซุนดา”(พื้นที่สีเทาเข้ม) เชื่อมต่อถึงกันทั้งอุษาคเนย์

แต่มีหมู่เกาะใหญ่และสำคัญ 2 หมู่ ยาวต่อเนื่องกันคือ หมู่เกาะอันดามัน (Andaman Islands) อยู่ตอนบน กับหมู่เกาะนิโคบาร์ (Nicobar Islands) อยู่ตอนล่าง

หมู่เกาะ 2 หมู่นี้อยู่บนเส้นทางคมนาคมการค้าสมัยโบราณระหว่างสุวรรณภูมิกับบ้านเมืองแถบตะวันตก คืออินเดีย ลังกา และยุโรป จึงมีเอกสารกล่าวถึงเสมอๆ โดยเฉพาะหมู่เกาะนิโคบาร์เป็นที่รู้จักกันในชื่อ”นาควารี หมายถึงถิ่นนาค หรืองู หรือคนเปลือย มีในสมุดภาพไตรภูมิทำขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เขียนแผนที่โบราณระบุเมืองท่าชายฝั่งจนถึงลังกา ต้องมีชื่อและภาพนาควารีเกาะคนเปลือยทุกฉบับ แสดงว่าเป็นสถานที่สำคัญบนเส้นทางไปอินเดีย-ลังกา และเป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่นักเดินเรือครั้งนั้น

หมู่เกาะนิโคบาร์ (Nicobar Islands)

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ส่งพระสงฆ์ไปลังกา เมื่อ พ.ศ. 2357 อาศัยเรือค้าช้างของพ่อค้าที่ควนธานีเมืองตรัง ผ่านเกาะยาวหน้าเกาะถลาง แล้วไปเกาะนาควารีใช้เวลา 6 วัน

บันทึกของพระสงฆ์ไปลังกายังบอกอีกว่า”แลเกาะเล็กน้อยมีอยู่ใกล้เคียงเกาะนาควารีย์ที่แลไปเห็นนั้น จะนับประมาณมิได้” และนับเวลาตั้งแต่ออกจากเมืองตรัง 18 วันก็ถึงเมืองลังกา

แผ่นดินล้านปี ใต้ทะเลอันดามันที่ภูเก็ต

ธรรมชาติของทะเลอันดามันมี”ภูมิสังคม“หลายอย่าง แต่เรา”ขี้เกียจ ขี้โกง ขี้โอ่ ขี้อิจฉา” เลยไม่เข้าใจ และไม่เข้าถึง

บริเวณสุวรรณภูมิทั้งผืนแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะเมื่อล้านปีมาแล้ว ไม่มีทะเล เลยเป็นแผ่นดินเดียวกันเรียกแผ่นดินซุนดา เป็นเหตุให้มีโคลนตะกอนใกล้ภูเก็ตที่อาจเป็นประเด็นของนักวิทยาศาสตร์ถกเถียงกันขณะนี้ จะขอยกสาระสำคัญที่อาจารย์รัศมี ชูทรงเดช คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เขียนไว้ในหนังสือรัฐปัตตานีใน”ศรีวิชัย”(สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2547) ดังต่อไปนี้

แผนที่แสดงฉากและบ้านเมืองต่างๆ ในพระอภัยมณีอยู่ทางทะเลอันดามัน เสนอโดย “กาญจนาคพันธุ์” (ขุนวิจิตรมาตรา) เป็นท่านแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2490 (ภาพจาก สุนทรภู่ เกิดวังหลัง ผู้ดี “บางกอก” มหากวีกระฎุมพี มีวิชารู้เท่าทันโลก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547)

สุวรรณภูมิเมื่อล้านกว่าปีมาแล้ว บริเวณอ่าวไทยค่อนข้างจะเหือดแห้ง และพื้นที่บางส่วนเชื่อมติดเป็นแผ่นดินเดียวกันกับเกาะสุมาตรา ชวา บอร์เนียวในประเทศอินโดนีเซีย และเกาะปาลาวันในประเทศฟิลิปปินส์ เรียกว่า”แผ่นดินซุนดา” (Sundaland) น้ำทะเลลดระดับต่ำลงกว่าปัจจุบันประมาณ 120 เมตร

แผ่นดินซุนดา (Sundaland)

ราว 125,000-12,000 ปีมาแล้ว คนก่อนประวัติศาสตร์กระจายตัวในแนวชายขอบเทือกเขาตะวันตก และเกาะแก่งต่างๆใน”แผ่นดินซุนดา” และข้ามน้ำไปยังหมู่เกาะปาลาวัน แสดงว่าคนก่อนประวัติศาสตร์น่าจะมีเทคโนโลยีการเดินเรือที่ซับซ้อนแล้ว

คนก่อนประวัติศาสตร์ยุคนี้เป็นกลุ่มขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายบ่อยๆไปตามแหล่งทรัพยากร ตั้งถิ่นฐานตามถ้ำหรือเพิงผาบริเวณแนวเทือกเขาตะวันตก หรือภายในแผ่นดินใกล้แหล่งน้ำมากกว่าบริเวณชายฝั่งทะเล เช่น

ที่เพิงผาถ้ำหลังโรงเรียนในเขตบ้านทับปริก อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ พบเครื่องมือหินกะเทาะและเครื่องมือยุคหินขัดเป็นจำนวนมาก ร่องรอยของเถ้าถ่านและวัตถุที่แสดงถึงการอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีอายุตั้งแต่ 27,000 ปีขึ้นไป เป็นร่องรอยของบรรพชนคนสุวรรณภูมิยุคไพลสโตซีน ซึ่งเป็นสมัยที่แผ่นดินใหญ่อันเป็นที่ตั้งของประเทศไทยและมาเลเซีย ยังเชื่อมต่อเป็นผืนแผ่นดินเดียวกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

เกาะนาควารี หรือปัจจุบันเรียกนิโคบาร์ บริเวณที่สุนทรภู่ใช้เป็นฉากเรื่องพระอภัยมณี (จากหนังสือสมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1. กรมศิลปากร, 2542)

นอกจากนี้คงจะมีคนก่อนประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่อาจจะตั้งถิ่นฐานในที่ราบบน”แผ่นดินซุนดา”ในช่วงที่น้ำทะเลแห้งเหือด ซึ่งปัจจุบันหลักฐานเหล่านี้จมอยู่ใต้ท้องทะเลอ่าวไทย

หมาหางด้วน ถูกหลอกว่าเท่ แต่โง่

“การศึกษาไทยล้มเหลวเหมือนหมาหางด้วนอย่างที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ อุดมศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าอ่อนแอแล้ว ประเทศอ่อนแอหมดมหาวิทยาลัยไม่ค่อยได้ทำงาน ประเทศอ่อนแอมาก”

เพราะ”มหาวิทยาลัยหมดเวลาและหมดกำลังไปกับการสอนคนอยากได้ปริญญา แต่ไม่อยากเรียน” มหาวิทยาลัยเลยไม่มีพลังเหลือไปทำวิจัยที่จะสร้างความรู้ใหม่เพื่อความเข้าใจปัญหาต่างๆของสังคม

ที่สอนกันอยู่ในมหาวิทยาลัยล้วนมุ่งสอนหนังสือเอาตำราเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้เรียนรู้ชีวิตคนในสังคม ในชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ข้อความทั้งหมดข้างต้น ผมสรุปจากคำเสนอแนะของอาจารย์หมอประเวศ วะสี (พิมพ์ในโพสต์ ทูเดย์ ฉบับวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2549)

มหาวิทยาลัยในเมืองไทยเหมือนหมาหางด้วน เอาตำราเป็นตัวตั้ง ทำให้ประเทศอ่อนแอ อาจารย์หมอประเวศว่ามีเหตุใหญ่อย่างน้อย 2 เรื่อง คือให้ความสำคัญรูปแบบและฐานานุรูปมากกว่าเนื้อหาสาระและแก่นสาร กับอีกเรื่องหนึ่งวุ่นวายอยู่กับการบริหารกฎระเบียบราชการ แต่ไม่ได้บริหารวิชาการ

ทางแก้ไขต้องให้ครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัยเลิกทำ 2 เรื่องใหญ่นั้น หันมาให้ความสำคัญเนื้อหามากกว่ารูปแบบ กับมุ่งบริหารวิชาการเป็นสำคัญ

ภาพตัวอย่างของ Mud Volcano ใต้ทะเล

ตราบใดที่มหาวิทยาลัยไม่ยอมแก้ไขตัวเอง จะอยู่ในระบบหรือออกนอกระบบก็ไม่มีความหมาย เพราะถึงอย่างไรก็หมาหางด้วน นักศึกษาควรเรียกร้องสิ่งนี้จากมหาวิทยาลัยมากกว่าจะหลงกลไปตกหลุมพรางของครูบาอาจารย์กะล่อนเพื่อความอยู่รอดของตัวครูอาจารย์เอง ไม่ใช่ของคนอยากเรียนรู้คือนักศึกษา

หมาเคยมี 9 หาง แต่ถูกผู้มีอำนาจเหนือกว่าหวงวิชาความรู้ตัดไป 8 หาง เลยเหลือหางเดียว จะเก็บเกี่ยววิชาความรู้ก็ถูกพวกกะล่อนเจ้าเล่ห์ตัดให้ด้วนเสียอีก แล้วยังลวงว่า หมาหางด้วนแล้วเท่ แต่ไม่ได้บอกว่าโง่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง สำรวจทะเลอันดามันพบโคลนภูเขาไฟ 4 ลูก

Share the Post: