marinerthai

ท้องมังกร” ท่าเรือคลองเตย

โดย Positioning Magazine  เมษายน 2549

สุกรี แมนชัยนิมิต

“ท้องมังกร” พื้นที่กว่า 2,000 ไร่ บริเวณท่าเรือกรุงเทพ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านคลองเตย เป็นทำเลทองผืนสุดท้ายของกรุงเทพมหานคร ในการครอบครองของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กำลังถูกจับจ้องจากนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก ที่มีทั้งพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ และฮวงจุ้ยที่ดีในลักษณะโค้งเว้าของแม่น้ำ แน่นอนผู้ที่สนใจก็รวมทั้งสิงคโปร์ ประเทศที่มีเงินทุนมหาศาลในเวลานี้ ซึ่งสอดรับอย่างพอดีกับแผนของ กทท. ที่เตรียมพัฒนาพื้นที่ให้มีมูลค่าเพิ่มเติมจากการเป็นเพียงท่าเรือขนส่งสินค้า และชุมชนแออัด ซึ่งหากเป็นไปตามแผนศึกษาความเป็นไปได้การลงทุนโครงการนี้มีมูลค่านับแสนล้านบาท

Docklands เป็นต้นแบบการศึกษาพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ที่มีภูมิประเทศกคล้ายกันที่ Docklands มีแม่น้ำเทมส์ไหลผ่าน และท่าเรือกรุงเทพมีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านด้วยรูปลักษณ์เหมือนมังกร โค้งเว้าเป็นท้องมังกรเช่นเดียวกัน
 

“ยงยศ ปาละนิติเสนา” อดีตรักษาการผู้อำนวยการ กทท. บอกว่า โครงการศึกษาพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ เริ่มมาจากบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่มีกองทุน Government of Singapore Investment Crop.(GIC) ถือหุ้นอยู่ 13.27% ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2548 ซึ่งอยู่ในอันดับ 3 ของผู้ถือหุ้นสูงสุดของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ยื่นข้อเสนอมาว่าจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการศึกษาพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งเห็นว่าไม่เสียหายอะไร จึงว่าจ้างกลุ่มบริษัท A49 จำกัด ศึกษา สรุปแผนเสนอให้คณะกรรมการ กทท. รับทราบตั้งแต่ปลายปี 2549

สภาพภูมิประเทศท่าเรือกรุงเทพ จาก Goolgle earth พื้นที่ 2,353 ไร่ หรือ 3.765 ตารางกิโลเมตร ที่ กทท. เตรียมพัฒนาเป็นชุมชนเมืองใหม่ ด้วยเงินลงทุนนับแสนล้านบาท ในพื้นที่จะประกอบด้วยคอนโดมิเนียมราคาสูง อาคารสำนักงานขนาดสูง 90 ชั้น เป็น Landmark ที่มีทั้งหอชมวิว และโรงแรมหรู มีมิวสิกฮอล์ คล้ายกับ Sydney Opera House รถไฟฟ้าใต้ดิน และบนดิน แตกต่างจากภาพเดิมที่พื้นที่เต็มไปด้วยตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า และชุมชนแออัดบริวเวณโดยรอบ

“ท้องมังกร” ลูกนี้แบ่งส่วนพัฒนาเป็น 3 ส่วนคือ 1.ส่วนที่เป็นท่าเรือ ที่ยังคงเป็นท่าเรือสำหรับเรือบรรทุกสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ 2.ส่วนที่เป็นเมืองชุมชนเมืองใหม่ 3.ส่วนเป็นระบบคลังสินค้า ลอจิสติกส์

จากนั้น กทท. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัท V5 consultants ศึกษาเฉพาะส่วนที่พัฒนาเป็นชุมชนเมืองใหม่ ซึ่ง กทท. จ่ายค่าจ้างศึกษาเอง

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทันได้สรุปศึกษา อดีตรักษาการผู้อำนวยการ กทท. ก็ออกจากตำแหน่งพร้อมๆ กับคณะกรรมการ กทท. ที่หมดวาระไป ปลายปี 2549 มีคณะกรรมการชุดใหม่ จึงแต่งตั้งรักษาผู้อำนวยการ กทท. คนใหม่

“ศิริ จิระพงษ์พันธุ์” รักษาการผู้อำนวยการ กทท. คนใหม่ บอกว่า แผนศึกษาของ V5 กำลังจะส่งมอบผลในเร็วๆ นี้ จากนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

Sydney Opera House

แผนที่กลุ่ม A49 ศึกษาเสนอพัฒนาบนเนื้อที่ทั้งหมด 2,353 ไร่ รวมใช้เวลาประมาณ 20 ปี ส่วนที่ส่งผ่านมายัง V5 ศึกษาต่อ เฉพาะในส่วนของชุมชนเมืองใหม่นี้ จะพัฒนาบนพื้นที่ 335 ไร่ ในพื้นที่มีค่ามากที่สุดของท่าเรือคลองเตย คือบริเวณติดริมเม่น้ำ ตรงข้ามเป็นบางกะเจ้า พื้นที่สีเขียวในเขตสมุทรปราการ ด้วยคอนเซ็ปต์ให้เป็น First Class Society ภายในพื้นที่มีทั้งที่พักอาศัย ทั้งคอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยว มีอาคารสูง 90 ชั้น เพื่อเป็นแหล่งธุรกิจ ศูนย์แสดงนิทรรศการ หอประชุมขนาดใหญ่ พิพิธภัณฑ์เรือ และยังเป็นแหล่งบันเทิง หรือ Music Hall ผสมผสานแบบของต่างประเทศ อย่าง Sydney Opera House นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กับ Canary Wharf Docklands กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และส่วนหนึ่งของท่าเรือ Port Vill เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน

ท่าเรือที่มีชื่อเสียงของเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ที่พัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับชุมชนในเมือง

นอกจากนี้ยังมีระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถไฟฟ้าบนดิน และรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่จะมีเส้นทางเข้าถึงในพื้นที่ เพื่อโยงการเดินทางถึงใจกลางเมือง และโยงออกนอกเมือง โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ รวมมูลค่าการลงทุนพัฒนาเมืองใหม่แห่งนี้ใช้งบไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

ในส่วนของท่าเรือที่พัฒนาเพิ่มเติมจากเดิม และศูนย์ลอจิสติกส์ มีหลายบริษัทที่เล็งอยู่ รวมถึงบริษัทบริษัท ไทยแอร์พอร์ต กราวด์ เซอร์วิส จำกัด (แทกส์) ที่ผิดหวังจากการถูกตัดสิทธิเข้าไปบริหารคลังสินค้าในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งนายอนุพงษ์ โรจน์นครินทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แทกส์ เตรียมพร้อมไว้อยู่แล้วในการตั้งเป้าเป็นผู้บริหารพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์ของภูมิภาค

ด้วยการร่วมทุนกับบริษัทริชแลนด์ กรุ๊ป ของสิงคโปร์ จดทะเบียนบริษัทร่วมในนามบริษัทแทกส์ ริชแลนด์ เอเชีย จำกัด มีเป้าหมายจะทำธุรกิจขนส่งครบวงจรในไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย

ริชแลนด์ กรุ๊ป ก่อตั้งเมื่อปี 2535 ให้บริการระบบขนส่งในสิงคโปร์ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัท บรอยด์แลนด์ แคปปิตอล ไพรเวท 60.84% นายลิมชิวคิม 3.50% และบุคคลอื่น ๆ รวมทั้งโนมินีของแบงก์ยูโอบี และบริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเกอร์ส

ขณะเดียวกันกลุ่มพรีมัส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารพื้นที่เอสซีบีปาร์ค และเอราวัณแบงคอค ของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ไทยคือบริษัททุนลดาวัลย์ เครือธนาคารไทยพาณิชย์ กับบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ “พรีมัส อินเตอร์เนชั่นแนล” ยังเป็นตัวเต็งอีกหนึ่งบริษัทที่อาจมีส่วนอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ นอกเหนือจากที่มีคณะกรรมการบริษัทบางคนเป็นกรรมการอยู่ในบางบริษัทของบริษัทในแถบท่าเรือแหลมฉบัง

แม้พรีมัส อินเตอร์เนชั่นแนล จะเคยอยู่ในกลุ่มของบริษัทแคปปิตอลแลนด์ ในเครือของเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ และขายให้กับยูไนเต็ด กรุ๊ป บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียไปแล้ว แต่พรีมัส อินเตอร์เนชั่นแนล ยังคงมีสัญชาติสิงคโปร์

แผนของ กทท. นั้นกำหนดว่าชุมชนเมืองใหม่ ”First Class Society“ จะเกิดขึ้นภายใน 3-5 ปี นับจากได้รับอนุมัติแผนจากรัฐบาล และในระยะต่อไปสำหรับการพัฒนาลอจิสติกส์ และท่าเรือสำหรับขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ เป็นแผนที่ต้องลงทุนต่อไปรวมใช้เวลาพัฒนา 20 ปี ซึ่งทั้งหมดไม่ได้อยู่ในแผนเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ที่ประกาศเชิญชวนให้ต่างชาติมาลงทุน หรืออยู่ในแผนจัดสรรงบของรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลอยู่ในสภาพกระเป๋าฉีก ส่วน กทท. เองถูกจำกัดเรื่องการก่อหนี้

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ใครจะมีเงินมหาศาลเพื่อลงทุน ได้สิทธิครอบครอง ”ท้องมังกร” พื้นนี้

“Canary Wharf Docklands”

“Canary Wharf” เป็นพื้นที่คลังสินค้าของเมืองลอนดอนในอดีต ชานเมืองลอนดอน

Canary Wharf Docklands

Docksland มีความหมายถึงพื้นที่บริเวณอู่เรือ หรือท่าเรือ มีพื้นที่ 21 ตารางกิโลเมตร เริ่มศึกษาเพื่อพัฒนาในสมัยนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ในปี 1981 หรือพ.ศ. 2524 และในปี 1988 หรือ พ.ศ. 2532 จึงเริ่มก่อสร้าง เสร็จเฟสแรกในปี 1992 หรือปี 2535 ด้วยอาคารสำนักงาน และแหล่งธุรกิจบางส่วน แต่ในช่วงเศรษฐกิจเริ่มเกิดฟองสบู่แตกไปทั่วโลก ในการพัฒนาต่อมาได้เริ่มตัดบางโครงการออกไป เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน ต่อมาจึงเริ่มก่อสร้างเพิ่มเติม แต่การก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์จนปัจจุบัน ประเทศอังกฤษมีแผนพัฒนาในระยะต่อไปด้วยการเพิ่มขนาดอีกเท่าตัว เพื่อให้มีคนมาในเมือง Docklands โดยเฉพาะทำงานที่มากขึ้นจาก 90,000 คนในปี 2008 หรือ พ.ศ. 2551 เป็น 200,000 คนในปี 2014 หรือ พ.ศ. 2557

สภาพภูมิประเทศ Docklands จาก Google earth

Docklands เป็นต้นแบบการศึกษาพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ที่มีภูมิประเทศกคล้ายกันที่ Docklands มีแม่น้ำเทมส์ไหลผ่าน และท่าเรือกรุงเทพมีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านด้วยรูปลักษณ์เหมือนมังกร โค้งเว้าเป็นท้องมังกรเช่นเดียวกัน ในอดีต Docklands คือท่าเรือขนส่งสินค้าเพียงอย่างเดียว

Share the Post: