ศิลป์และศาสตร์แห่งการเดินเรือ – จากที่เรือรายงานสู่ที่เรือดาวเทียม
ศิลป์และศาสตร์แห่งการเดินเรือ – จากที่เรือรายงานสู่ที่เรือดาวเทียม
บทความโดย :
Capt. Nemo -
กัปตัน นีโม
ระบบวิทยุหาที่เรือ (RADIO NAVIGATION SYSTEM)
ระบบวิทยุหาที่เรือใช้การแพร่คลื่นวิทยุในการหาตำบลที่เรือ
โดยแบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือระบบวิทยุหาทิศซึ่งให้ค่าแบริ่งจากการส่งคลื่นวิทยุเป็นบีมเส้นตรง
(ระบบ A-N) หรือการใช้เสาอากาศแบบหาทิศ (RADIO DIRECTION FINDER) และระบบไฮเปอร์บอลิค
(HYPERBOLIC RADIO NAVIGATION)
ซึ่งให้เส้นตำบลที่จากการเปรียบเทียบเวลาหรือเฟสจากสถานีส่งสามแห่งขึ้นไป
ความเป็นมาของการค้นพบคลื่นวิทยุ เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ.๑๘๓๒ (พ.ศ.๒๓๘๕ –
ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓) ไมเคิล ฟาราเดย์ (MICHAEL FARADAY)
ชาวอังกฤษได้เสนอทฤษฎีว่าด้วยคลื่น
พลังงานที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างกระแสไฟฟ้าและสนามแม่เหล็ก
แต่ความรู้ทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ในสมัยนั้นยังไม่สามารถพิสูจน์ทฤษฎีของฟาราเดย์ได้
ต่อมาในปี ค.ศ.๑๘๕๕ (พ.ศ.๒๓๙๘ – ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๔) เจมส์ แมกซ์เวลล์ (JAMES
MAXWELL) ชาวอังกฤษได้พิสูจน์ทฤษฎี ความสัมพันธ์ระหว่างไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กของฟาราเดย์ได้ด้วยสมการทางคณิตศาสตร์
แต่ก็ยังไม่มาใครสามารถพิสูจน์ทฤษฎีและสมการ ดังกล่าวได้ด้วยการทดลอง จนกระทั่งในปี
ค.ศ.๑๘๘๗ (พ.ศ.๒๔๓๐ – ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕) ไฮน์ริค เฮิรตซ์ (HEINRICH HERTZ)
ชาวเยอรมัน ได้ออกแบบการทดลองแพร่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือคลื่นวิทยุ
โดยใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ ความถี่สูง และสามารถวัดความยาวคลื่นและความถี่ได้ตรงตาม
การคำนวณด้วยสมการของแมกซ์เวลล์
สงครามโลกทั้งสองครั้งในช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๐
มีส่วนสำคัญในการเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีในหลายๆ ด้าน
และคลื่นวิทยุได้ถูกนำมาใช้ในการนำทางเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลอย่างได้ผล
โดยรูปแบบแรกของระบบนำทางด้วยคลื่นวิทยุเรียกว่าระบบ A-N ซึ่งใช้การส่งสัญญาณมอร์ส
A (• –) และ N (– •) จากเสาอากาศสองแห่งพร้อมกัน
หากนักบินรักษาระยะระหว่างเสาอากาศทั้งสองแห่งเท่ากันก็จะได้ยินเสียงสัญญาณมอร์ส A
และ N ซ้อนกันเป็นโทนสัญญาณคงที่
แต่ถ้านักบินอยู่ใกล้เสาอากาศเสาใดเสาหนึ่งมากกว่าก็จะได้ยินสัญญาณมอร์สจากเสานั้นดังกว่า
โดยฝ่ายเยอรมันได้ใช้ระบบนำทางด้วยคลื่นวิทยุนี้ในการนำเครื่องบินไป
ทิ้งระเบิดบนเกาะอังกฤษ ทำให้สามารถทิ้งระเบิดโจมตีอังกฤษได้แม้ในเวลากลางคืน
ระบบ A-N สามารถให้แบริ่งคงที่ได้เพียงแบริ่งเดียวจากเสาอากาศหนึ่งคู่
ซึ่งเหมาะกับการนำเครื่องบินเข้าหาที่หมาย แต่ไม่เหมาะกับการเดินเรือในทะเล
จึงได้มีการพัฒนาเครื่องวิทยุหาทิศ (RADIO DIRECTION FINDER – RDF) ขึ้น
ซึ่งสามารถใช้บอกแบริ่งจากสถานีส่งได้ทุกทิศทาง
และนักเดินเรือสามารถหาที่เรือได้จากจุดตัดระหว่างเส้นแบริ่งสองเส้นจากสถานีส่งสองแห่ง
ระบบวิทยุหาที่เรืออีกประเภทหนึ่งเรียกว่าระบบวิทยุหาที่เรือแบบไฮเปอร์บอลิค (HYPERBOLIC
RADIONAVIGATION) ได้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง
ระบบวิทยุหาที่เรือประเภทนี้อาศัยความต่างของเวลาที่สัญญาณวิทยุจากสถานีส่งสองแห่งเดินทางมาถึงเครื่องรับ
โดยค่าความต่างของเวลาจากสถานีส่งหนึ่งคู่จะให้เส้นตำบลที่แบบไฮเปอร์บอลิค (HYPERBOLIC
LINE OF POSITION) หนึ่งเส้น และตำบลที่เรือแน่นอน (ELECTRONIC FIX)
สามารถหาได้จากจุดตัดของเส้นตำบลที่ไฮเปอร์บอลิคสองเส้น โดยอาศัยสถานีส่งสองคู่
(จากสถานีส่งอย่างน้อยสามแห่ง) ระบบวิทยุหาที่เรือแบบไฮเปอร์บอลิคแบบแรกที่ถูกพัฒนาขึ้นคือระบบ
GEE ของอังกฤษในปี ค.ศ.๑๙๔๒ (พ.ศ.๒๔๘๕) ซึ่งใช้ย่านความถี่ ๓๐ – ๘๐ เมกะเฮิรตซ์
และต่อมาในปี ค.ศ.๑๙๔๓ (พ.ศ.๒๔๘๖) สหรัฐอเมริกาก็ได้พัฒนาระบบ LORAN (ย่อมาจาก LONG
RANGE NAVIGATION) ซึ่งประกอบด้วยสถานีส่งกว่า ๗๐ แห่ง ส่งสัญญาณในย่านความถี่ ๑๘๕๐
– ๑๙๕๐ กิโลเฮิรตซ์ มีระยะทำการกว่า ๖๐๐ ไมล์ ครอบคลุมพื้นที่เกือบ
หนึ่งในสามของโลก
การพัฒนาเทคโนโลยีวิทยุความถี่ต่ำหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้ระบบ LORAN
ได้ถูกพัฒนาต่อมาเป็น LORAN-C ในช่วงต้นทศวรรษที่ ๑๙๕๐ ระบบ LORAN-C
ประกอบด้วยกลุ่มสถานีส่งหลายแห่งห่างกันหลายร้อยไมล์ในหลายประเทศ
โดยแต่ละกลุ่มประกอบด้วยสถานีแม่ ๑ สถานีและสถานีย่อย ๒ – ๔ สถานี
ซึ่งสถานีแม่และสถานีย่อยนี้จะส่งสัญญาณวิทยุแบบ PULSE ด้วยความถี่ ๑๐๐ กิโลเฮิรตซ์
ออกมาตามลำดับ
จากนั้นเครื่องรับบนเรือจะคำนวณค่าความต่างระหว่างระยะทางถึงสถานีแม่กับสถานีย่อยจากเวลาต่างของคลื่นวิทยุที่ได้รับ
และแสดงค่าระยะต่างนั้นสำหรับพล๊อตบนแผนที่พิเศษที่มีเส้นไฮเปอร์บอลิค
หรือแสดงค่าละติจูดและลองจิจูดโดยตรง ระบบ LORAN-C ให้ตำบลที่ที่มีความถูกต้อง (ACCURACY)
และความแม่นยำ (PRECISION) สูง โดยมีค่าความถูกต้อง ๐.๑ – ๐.๒ ไมล์ และความแม่นยำ
๕๐ เมตร
ระบบวิทยุหาที่เรือที่สำคัญอีกระบบคือระบบ OMEGA ซึ่งถูกริเริ่มพัฒนาขึ้นโดย ทร.สหรัฐฯ
ในปี ค.ศ.๑๙๔๗ (ก่อนหน้าระบบ LORAN-C เล็กน้อย)
แต่เนื่องจากปัญหาความยุ่งยากทางเทคนิค ทำให้ต้องใช้เวลากว่า ๒๐ ปี
กว่าจะเริ่มใช้งานได้ และสามารถใช้งานได้โดยสมบูรณ์ใน ปี ค.ศ.๑๙๘๒ (พ.ศ.๒๕๒๕) ระบบ
OMEGA ประกอบด้วยสถานีส่ง ๘ สถานีทั่วโลก แต่ละสถานีตั้งอยู่ห่างกัน ๕,๐๐๐ – ๖,๐๐๐
ไมล์ ส่งสัญญาณวิทยุในย่านความถี่ต่ำมาก (๑๐ – ๑๔ กิโลเฮิรตซ์)
ให้ระยะครอบคลุมทั่วโลก ระบบ OMEGA เป็นระบบวิทยุหาที่เรือแบบไฮเปอร์บอลิคเช่นเดียวกับระบบ
LORAN-C แต่ต่างกันตรงที่ระบบ OMEGA ส่งสัญญาณแบบ CW ความถี่ต่ำมาก ๔ ความถี่
และใช้การเปรียบเทียบเฟสของคลื่น CW ในการคำนวณหาตำบลที่ ระบบ OMEGA
ให้ที่เรือที่มีความถูกต้องแม่นยำ ๑ – ๒ ไมล์ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ทั่วโลก
การค้นพบคลื่นวิทยุของเฮิรตซ์นอกจากจะทำให้เกิดการพัฒนาระบบหาที่เรือด้วยวิทยุแล้ว
คลื่นวิทยุยังได้ถูกนำมาใช้ในการตรวจจับวัตถุในระยะไกล ในปี ค.ศ.๑๙๓๕ (พ.ศ.๒๔๗๘)
ROBERT WATSON-WATT
ชาวอังกฤษได้คิดค้นระบบตรวจจับเครื่องบินด้วยการแพร่คลื่นวิทยุออกไปแล้วตรวจจับคลื่นที่สะท้อนกลับมา
และในปี ค.ศ.๑๙๓๙
อังกฤษได้สร้างสถานีเรดาร์ขึ้นหลายแห่งตามแนวฝั่งตะวันออกเพื่อตรวจจับเครื่องบินทิ้งระเบิดที่จะมาโจมตีเกาะอังกฤษ
โดยแต่ละสถานีจะโทรศัพท์แจ้งข้อมูลเป้าไปยังศูนย์รวบรวมข้อมูลกลางซึ่งทำหน้าที่พล๊อตติดตามสถานการณ์รวม
และอีกไม่กี่ปีต่อมาได้มีการพัฒนาหลอด MAGNETRON
ทำให้เรดาร์มีความยาวคลื่นสั้นลงและมีกำลังส่งสูงขึ้น
ส่งผลให้เสาอากาศมีขนาดเล็กลงจนกระทั่งสามารถนำมาติดตั้งบนเรือได้
จึงได้เกิดการพัฒนาเรดาร์เดินเรือขึ้น
::
หน้าที่
1
|
2 |
3 |
4 |
5 |
6 |
7 |
8 |
9 ::