TOP Engineering Group - VTOL UAV Thailand

เป็นผลงานการประพันธ์ของนักเดินเร

เป็นผลงานการประพันธ์ของนักเดินเรืออาวุโสท่านหนึ่งใช้นามปากกาว่า "ทะเลงาม" ซึ่งเคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนาวิกศาสตร์ และท่านผู้ประพันธ์ "นิทานชาวเรือ" นี้ได้อนุญาตให้ทางทีมงาน มารีนเนอร์ไทยดอทคอม นำเผยแพร่ในเว็บของเราได้โดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างใด นับว่าเป็นความกรุณาต่อเราหมู่มวลสมาชิกทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง และทางทีมงานขอขอบพระคุณท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย

สำหรับ "นิทานชาวเรือ" นี้มีอยู่ด้วยกันหลายตอน ซึ่งทางทีมงานจะทยอยนำลงติดต่อกันไปเรื่อยๆ นะครับ ในกรณีที่ท่านต้องการติดต่อผู้ประพันธ์ "นิทานชาวเรือ" สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: omcc@anet.net.th

นิทานชาวเรือชุดที่หนึ่ง แบ่งออกเป็นทั้งหมด 7 ตอน

“ นิทานชาวเรือ ” ตอนที่ ๑

“ นิทานชาวเรือ ” ตอนที่ ๒

“ นิทานชาวเรือ ” ตอนที่ ๓

“ นิทานชาวเรือ ” ตอนที่ ๔ ตอน…โจรสลัด.(จริงๆนะจะบอกให้ )

“ นิทานชาวเรือ ” ตอนที่ ๕ เรื่องของเรือ ตอน “เจ้าของเรือ และ ธงของเรือ นั้น สำคัญ ไฉน?..”

“ นิทานชาวเรือ ” ตอนที่ ๖ เรื่องของเรือ ตอน สถาบันชั้นเรือ…นั้น….หนอ .. คืออะไร? .. และ สำคัญ ไฉน?..

”นิทานหนักสมอง ” ตอนที่ ๗ "พาณิชยนาวี"

นิทานชาวเรือชุดที่สอง แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ตอน

 

 

 

 

“ นิทานชาวเรือ ” ตอนที่ ๒

“ นิทานชาวเรือ ” ตอนที่ ๒


โดย : ทะเลงาม

 

เมื่อ “นิทานคนเรือ” ตอนที่ ๑ ผ่านสายตาท่านสมาชิกนาวิกศาสตร์ไป ก็มี คำติชม และข้อวิจารณ์ เข้ามายังผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนขอน้อมรับ และอาจจะตอบไปรวมๆว่า สิ่งที่เขียนออกมา เป็นเรื่องนิทาน (tale) หรือ เรื่องที่เล่ากันมา ไม่ใช่เอกสารในการศึกษา,อ้างอิง (text book, reference) เพราะไม่มีข้อความที่อ้างถึง และเป็นหลักฐาน ได้ละเอียดพอ เป็นเพียง การนำเอาคำบอกเล่า ที่ผ่าน จากท่านหนึ่ง ส่งผ่านมาทางสมอง เก็บไว้แล้วส่งไปยัง คีย์ บอร์ด ในคอมพิวเตอร์ (แทนการเขียนด้วยปากกา) ที่บางครั้งไม่ได้มีการอัดเสียง หรือ บันทึกไว้ด้วย หรือ พูดตรงๆ แบบไม่ต้องคิดก็คือ จำมาเขียนไป นั่นเอง ซึ่งหากมีท่านผู้อ่านบางท่านต้องการขยายความ ก็ต้องมีการศึกษา ค้นคว้า อีกมากจึงจะสมบูรณ์

ในตอน ที่สองนี้ ผู้เขียน ขอนำท่านผู้อ่านมาสู่โลก ของ “แม่ย่านาง” ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ แปลว่า “ผีผู้หญิงประจำรักษาเรือ ” คนเรือส่วนใหญ่ มักจะถือเป็นความเคยชิน ที่จะต้องมีการไหว้แม่ย่านางเรือ ในเวลาที่จะทำงานสำคัญๆ เช่น ก่อนออกเรือไปฝึกภาค หรือ ก่อนออกเรือเพื่อฝึกยิงปืน หรือออกรบในทะเล (ผู้เขียนไม่เคยออกเรือเพื่อทำการรบ จึงคาดคะเนเอา) แต่ผู้เขียน ก็เคยเห็น ท่านคุณครู หรือนายทหารผู้บังคับบัญชา บางท่านอาจจะไม่สน ในแม่ย่านางเรือมากนัก มีอยู่บางท่าน ที่จะขออนุญาตนำมากล่าว เป็นตัวอย่าง ว่า ท่านจำต้องผจญกับความยากลำบากที่ไม่น่าจะเป็น คุณครูท่านนี้ ท่านล่วงลับไปแล้วแต่ขอนำเรื่องที่เกิดขึ้น บน ร.ล.ปราบ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ ในการฝึกภาคนักเรียนนายเรือ ท่านคือ พลเรือโท ประเทือง จันทราภา ( เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ และท่านมียศเป็นเรือเอก) ท่านได้รับคำสั่งให้เป็นผู้บังคับการเรือ เพื่อออกฝึก มีการนำนักเรียนลงเรือและเปลี่ยนคนประจำเรือจากทหารประจำการมาเป็นนักเรียน และ มีการเปลี่ยนผู้บังคับการเรือด้วย ผู้เขียน เรียนอยู่ปี สาม จำได้ว่าเมื่อตอนก่อนออกเรือ โดยที่เรือจอดเป็นแนวกลางน้ำหน้า โรงเรียนนายเรือ โดยมี ร.ล.แม่กลอง จอดอยู่ใต้น้ำ และ ร.ล.ปราบอยู่ในตำแหน่งเหนือน้ำ หันหัวขึ้นทิศเหนือ กระแสน้ำใหลลง ซึ่งจะต้องกลับลำตามน้ำ เพื่อนผ่าน ร.ล. แม่กลอง ที่เป็นเรือธง ในการฝึกครั้งนั้น จำได้ว่า ก่อนออกเรือ พ.จ.อ. เวียน สล่ำภู พันจ่าเรือจัดเตรียม เครื่องเซ่นไหว้ แม่ย่านางเรืออย่างดี รายงานต่อท่านคุณครู ประเทืองฯ ผู้บังคับการเรือว่า ขอให้มาไหว้แม่ย่านาง แต่ท่านคุณครูของกระผม ท่านบอกว่า ไม่ต้องเอาเหล้าไปไหว้ เอาเป็ปซี่ไหว้แทนก็ได้ แล้วท่านก็จุดธูป ส่งให้ พันจ่า เวียน ฯ ไปไหว้แทน แล้วก็ออกคำสั่ง ออกเรือ สรั่งเรือ ก็ หะเบส สมอหัว ผบ.เรือ คุณครูประเทืองฯ ท่านก็กลับลำ ถึงแม้จะมีสองเครื่องจักรใหญ่ และสั่งเครื่องปั่นให้หัวเรือกลับลำได้อย่างเต็มที่ แต่เรือก็ถูกกระแสน้ำพัดอย่างแรง มาปะทะ หัวเรือแม่กลอง ด้านข้างเรือปราบ ตรงกลางลำกราบขวาค่อนไปทางหัว เฉียดแท่นปืน ค. ยุบเข้าไป ครุฑพ่าห์ ที่หัวเรือรบหลวงแม่กลองตกน้ำ ผู้เขียนก็ไม่รู้ว่าอำนาจอะไร ที่ทำให้เป็นอย่างนั้น เพราะ ถ้าท่านแล่นเรือให้เลยไปเหนือน้ำอีกนิดหน่อยก็คงกลับลำเรือได้สำเร็จ หรือแม่ย่านางโกรธเพราะ คุณครู ประเทืองฯ ท่านเอาเป็ปซี่ไหว้แทนสุรา(ปกติมักจะเตรียม “แม่โขง” ไว้ให้ ) ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเรือฝึกไปครึ่งภาค คืนหนึ่งฝนตก ผู้เขียน กับ พลเรือเอก ประวิทย์ ปาลศรี นอนตรงไกล้ๆช่องระวาง และบนดาดฟ้าหลัก ก็มีโต๊ะยาว สำหรับท่านผบ.เรือนอน ปรากฏว่าหลังจากมีเสียงฟ้าร้อง ฝนตกพรำ ก็มีเสียง “ตูม”ลงมาใกล้ที่ ผู้เขียนกับ พลเรือเอกประวิทย์ ฯที่เพิ่งเปลี่ยนที่นอนให้ลึกเข้าไป ในระวาง เพราะน้ำฝนหยดใส่ ก็มีเสียง ตูม!! ที่แรกนั้น นึกว่า เรือโดนทุ่นระเบิด แต่ที่เห็น ก็คือร่าง ของผบ.เรือ ตกลง จากเตียงที่ท่านนอนบนปากระวางล่วงลงมาในระวางเรือที่เป็นพื้นเหล็ก ผบ.เรือ ท่านตัว เขียวคล้ำไปหมด (ท่านทนมากครับ เพราะท่านเป็น นักรักบี้ทีมชาติ ไทย ที่ไปเยือนอังกฤษในยุคนั้น) พวกเราต้องช่วยกันอุ้มท่าน นวดเฟ้น ทายาหม่อง และ สงสารท่านจริงๆ แต่ท่านก็ไม่เคยปริปากแม้แต่คำเดียว เกี่ยวกับเรื่อง แม่ย่านาง มีแต่ผู้เขียนและเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่ค่อนข้าง จะสนใจในเรื่องที่เกิดขึ้น นำมาซุบซิบกันตามธรรมดา

เรือรบหลวง แม่กลอง (แบบจำลอง) คลิกที่ภาพเพื่อดูรายละเอียด

นอกจากเรื่องที่เกิดกับคุณครู ที่รักยิ่งของพวกเรา ในราวปี ๒๕๐๐ ต้นๆ การฝึกร่วมสี่กองเรือ ในอ่าวไทย มักจะเป็นเรื่องที่มีทั้งความสดชื่น รื่นเริงใจ และบางครั้งก็คลุกเคล้ากับความเศร้า นายทหารเรือที่ รับราชการอยู่ในยุคนั้นคงจำกันได้ ว่ามีอยู่คราวหนึ่งที่ หม้อน้ำเรือรบหลวง “แสมสาร” เกิดระเบิดขึ้น มีทหารเสียชีวิตทันที หลายนาย เรือถูกลากมาซ่อมที่อู่ทหารเรือ ธนบุรี ใกล้ๆตึกราชนาวิกสภานี้ และได้มีการสั่งหม้อน้ำมาใหม่ และซ่อมใหม่เพื่อให้เรือวิ่งใช้งานได้อีก ในชีวิตงานราชนาวีของผู้เขียน เริ่มเกิดในกองเรือบริการ หลังการเป็นนายทหารฝึกที่เกล็ดแก้ว (รร.ชุมพลทหารเรือ) และทำท่าจะไปจนมุมที่ตำแหน่งต้นปืนเรือรบหลวงรัตนโกสินทร์ ที่จอด ไว้หน้ากองเรือยุทธการ เพื่อยิงสลุตงานราชพิธีที่สำคัญ หมดสิทธิ์ที่จะเป็นผู้บังคับการเรือ (ตำแหน่งที่ นายทหารเรือฝ่ายปากเรืออยากจะเป็นกัน) และก็เดินไปเดินมาอยู่แถวนั้น (หน้าท่า กองเรือยุทธการ)ทุกวันจนกระทั่ง ท่านนายทหารกำลังพล กองเรือยุทธการ จำหน้าได้ จึงจับตัวผู้เขียน ให้ไปเที่ยวนำเรือ เครน ด้วยเรือกลไฟ และในที่สุดก็มอบตำแหน่ง ผู้บังคับการเรือหลวงแสมสารให้ ท่านผู้อ่านคงเดาใจผู้เขียนออก ว่ามันน่าชื่นชมเพียงใด เพราะในสมัยนั้น แม้ว่าคิวเดินทางไปราชการต่างประเทศ (เช่น ซ่อมเรือ หรือรับเรือใหม่ )จะ ใกล้เข้ามา แต่ก็เหมือนสิ้นหวัง เพราะ รุ่นพี่ ที่โดนปั่ง(ทำความผิด เงินเดือนไม่ขึ้น) ตกมาปะหน้าไว้กลับได้รับการพิจารณาให้ไปต่างประเทศแทนไปหลายคิว สร้างความกระอักกระอ่วนใจพอควร ทั้งนี้ก็ย่อมเป็นแนวความคิดเห็นของท่านผู้มีอำนาจในการคัดเลือก และสั่งการในสมัยนั้น และก็ยังขอขอบคุณ ท่านคุณครู ในยุคเก่าที่ ได้ร่วมกับกรมเจ้าท่ากระทรวงคมนาคม ที่ให้การรับรอง ยศนายเรือเอก ที่ผ่านการเป็นผู้บังคับการเรือ จะได้รับ ประกาศนียบัตร นายเรือเดินต่างประเทศ จากกรมเจ้าท่า เพื่อ นำไปประกอบอาชีพในด้าน การเดินเรือพาณิชย์

ผู้เขียนต้องขอโทษที่ออกนอกเรื่องนิทาน ไปเป็นเรื่อง วิจารณ์ ขอกลับมาเรื่องเรือรบหลวงแสมสาร เท่าที่ทราบในขณะนั้น มี สปิริต (Spirit) หรือ จิตวิญญานผู้ที่ตายไปแล้วมากจริงๆ เริ่มตั้งแต่ ผบ.เรือ เรือ เอก วิเชียร ศันสยะวิชัย ที่ท่านป่วยตาย ต้นเรือ ผูกคอตาย ทหารถูกเชือกดีดตกน้ำตาย และ ทหารตายหมู่เมื่อหม้อน้ำระเบิดอีก สรุปแล้วนับไม่ถ้วนเพราะไม่ทราบประวัติที่แน่นอน งานชิ้นแรกของเรือรบหลวงแสมสาร หลังการซ่อมใหญ่ก็คือ การลากทุ่นลอยสี่ลูก ที่ญี่ปุ่นนำมาใช้กู้เรือรบหลวงศรีอยุธยาที่ถูกบอมบ์ ตรงหน้าตลาดท่าเตียน ในคำสั่ง บ่งว่าให้ทำงานนี้หลังจาก ทางสารวัตรช่าง ทดลองเรือจนเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งสารวัตรช่าง สมัยนั้น ก็คือ พลเรือโท ประชุม เวสม์วิบูลย์ ตอนที่ท่านเป็นนาวาโท ปัจจุบันท่านยังแข็งแรงดี ปรากฏว่า ทุกครั้งก่อนออกเรือ ต้นเรือ เรือโท อาภรณ์ฯ จำนามสกุลไม่ได้(ถึงแก่กรรม) ก็เอาดอกซ่อนกลิ่นสีขาวและธูปเทียน สุรา เครื่องเซ่น มาให้ตามธรรมเนียม ผู้เขียนก็ได้ไหว้แม่ย่านางเรือเป็นครั้งแรกในชีวิต แต่เมื่อเรือลองเครื่องก็มีเสียงดัง แก๊กๆ ตลอดเวลา คุณครู ประชุม กับต้นกล เรือเอกธงชัยฯ (ไม่ทราบว่ายังอยู่หรือเปล่า) ก็ต้องถอดเครื่องจักรปรับแต่ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ลองเครื่องกันหลายวัน ต่อมาก็มีคนแนะนำผ่านมาทางต้นกลฯกับต้นเรือให้ไปพบ พลเรือตรีหลวง สุวิชาญฯ ซึ่งท่านมีความพิเศษในเรื่องนั่งทางใน ซึ่งในที่สุด ก็มีคำแนะนำ ให้มาโดยที่ พลเรือตรีหลวงสุวิชาญ ฯ บอกว่า แม่ย่านางเรือรบหลวงแสมสารไม่ชอบดอกไม้สีขาว ต้องไหว้ด้วยดอกไม้สีแดงเท่านั้น และเมื่อไหว้แม่ย่านางแล้วต้องจุดธูป เก้าดอก เพื่อบอกแก่ นายเรือ ต้นเรือ ทหารโดนลวดดีด สองนายและ ทหารที่ตายในห้องหม้อน้ำอีก ห้านาย ที่ตายไปแล้ว รับรองเครื่องเลิกดังแน่ เมื่อต้นเรือและต้นกลเรือมาบอก ผู้เขียน ก็ตกลงให้ต้นเรืออาภรณ์ฯ จัดการ และเมื่อ คุณครูประชุมลงมากับสารวัตรช่างที่ติดตามมา ก็ดู ผู้เขียนไหว้ ด้วยเครื่องเซ่นไหว้ใหม่แล้วก็ออกเรือ กะจะไปซ้อมวิ่งถึงที่จอดเรือบางนา จำได้ว่า กะรอดสะพานพุทธเวลาบ่ายโมง มีเรือรบหลวงอ่างทองเป็นเรือนำออก ( สะพานพุทธ เปิดครึ่งเดียวเลย ฟาดเอาเสาเรดาร์ล่วงลงมา) ส่วนเรือรบหลวง แสมสาร แล่นไปกลับลำแถวบางลำภูบนแล้วกลับมาจอดที่อู่ธนบุรี โดยตั้งแต่ เริ่มเดินเครื่องจักร ไม่มีเสียงดังอีกเลย และทั้งต้นกลกับคุณครูประชุมฯ ท่านก็บอกตรงกันว่าไม่ได้ทำอะไร คงปรับแต่งปกติ เหมือนทุกครั้งที่ทำ ท่านก็คงหาย กลุ้มเสียทีและเป็นอันว่า ผู้เขียนก็ทำงานบนเรือหลวงแสมสารด้วยความมั่นใจ ในทุกๆงานที่ได้รับมอบหมาย เช่นลากเรือรบหลวงธนบุรีเข้าอู่-ออกจากอู่ กรุงเทพฯ และลากเรืออื่นๆจากบางนามาเข้าอู่ธนบุรี ผ่านสะพานกรุงเทพฯ และสะพานพุทธ เป็นประจำ รวมทั้งการฝึกร่วมทางยุทธวิธี เช่น ฝึกกวาดทุ่น แบบลากโซ่กับท้องทะเล (Bottom Sweep) กับ เรือรบหลวงโพธิ์สามต้น โดยกวาดหาในจักร เรือรบหลวงประแส ในช่องสัตหีบ ผู้เขียนปลอดภัยและได้รับความสำเร็จครับ จาก เรือหลวงแสมสาร และภารกิจที่ได้รับ และไม่คิดว่า อำนาจที่มองไม่เห็นมีจริงหรือไม่ ? แต่ก็ไม่เคยดูหมิ่น หรือ กล่าวร้าย!!!

เรือรบหลวง โพธิ์สามต้น คลิกที่ภาพเพื่อดูรายละเอียด

เรือรบหลวงประแส

จาก ชีวิตทหาร มาสู่ชีวิต คนเรือจริงๆ สมัยอยู่เรือสินค้าที่ชักธงไทย มีลูกเรือไทย การไหว้แม่ย่านางก็ มีการปฏิบัติ กัน แทบทุกครั้งที่มีการออกเรือ เพราะคนเรือไทยส่วนใหญ่ยังถือเป็นแบบธรรมเนียม แต่พอ ไปใช้ชีวิตในเรือ ที่ชักธงต่างประเทศ ที่มีแต่ ตัวเราเองอยู่ในเรือคนเดียว นอกนั้นเป็นชาวต่างชาติ และนับถือ ศาสนา และลัทธิความเชื่อ ที่แตกต่าง ไป ฉะนั้นการที่จะจัดให้มีการไหว้แม่ย่านาง ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่จะต้องคิดและพิจารณาให้ถี่ถ้วน ผู้เขียนจึงตัดสินใจ ใช้วิธีส่งกระแสจิตไปเซ่นไหว้ แทน และจากการที่ ผ่านการเป็นนายเรือค้า ต่างประเทศ ที่เป็นตัวคนเดียวอยู่หลายลำ ก็มี บางเรื่อง ที่น่าจะนำมาเสนอต่อท่านผู้อ่านได้ดังนี้

ในราวปี ค.ศ. 1977 ผู้เขียนได้รับ การแต่งตั้งเป็นนายเรือ และต้องไปทำหน้าที่แทนนายเรือชาวออสเตรเลีย ในเรือขนาด ระวางขับน้ำ 6,000 ตัน ซึ่งเป็นเรือประเภท เรือโดยสารดัดแปลงเป็นเรือบรรทุกสัตว์(แพะ) (Livestock Carrier) ชื่อ Kota Sahabat (เมือง แห่งเพื่อนฝูง) ซึ่งรับสินค้า แพะมีชีวิต เที่ยวละ 12,000 ตัวจาก เมืองท่า Bunbary อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปออสเตรเลีย ไปยัง ประเทศ ซาอุดีอารเบียในอ่าวเปอร์เซีย มีต้นเรือและลูกเรือเป็นชาวอินโดนีเซีย และคนจีนสิงคโปร์ การทำงานต้องใช้ความรู้ในการคำนวณ ใช้อาหารและน้ำจืด กับการแต่งค่าของการทรงตัวของเรือ อย่างพิถีพิถัน ทำให้นายเรือออสเตรเลียอยู่กับ ต้นเรืออินโดนีเซียที่ค่อนข้างอ่อนในด้านความรู้ไม่ได้ ฉะนั้นทำให้การทำงานแบบนี้ลำบากมากขึ้น ซึ่งผู้เขียนก็ต้องยอมจำนนต่อพฤฒิกรรมที่ต้องไปผจญกับ ปัญหาที่เกิดขึ้น และในที่สุดผู้เขียนก็ต้องขอร้องและแนะนำให้ทาง บริษัทฯส่งนายเรือสัญชาติอินโดนีเซียมาแทน (อาจเป็นเพราะ แม่ย่านาง ไม่ยอมให้เป็นเพื่อน กับลูกเรืออินโดนีเซียส่วนใหญ่ ก็ได้ )

เรือ Kota Abadi

ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็ถูกสั่งให้ไปเปลี่ยนนายเรืออินเดีย ที่เมืองเอเด็น ในเยเมนใต้ ในปลายปี ค.ศ. 1977 โดยเดินทางจาก Bunbary ใช้เวลาเดินทาง หลายวัน โดยมาเป็นนายเรือชื่อ Kota Abadi แปลว่า “ เมืองที่เป็นอมตะ” ที่จอดสงบนิ่งรอ นายเรือ ที่ทุ่นสีเขียว ด้านนอกของท่าเรือ ซึ่งก็ต้องเผชิญหน้ากับลูกเรืออินโดนีเซีย และสิงค์โปร์ เหมือนเดิม แต่มี พม่า ฟิลลิปปินส์ และอินเดียเพิ่มมาเป็นหลายชาติ ชีวิตน่าอยู่ ลูกเรือเรียบร้อย ทุกครั้งก่อนนอน ผู้เขียนจะต้องกระซิบบอกแม่ย่านาง ขอให้ตัวเราเอง มีชีวิตอยู่ในเรือ และขอให้ปกปักรักษาอย่างให้ ลูกเรือและ เรือ กับสินค้าเสียหาย และก็ใช้สูตรลับติดต่อกับ แม่ย่านางเรือ จนทำให้สามารถรอดพ้นจากการผจญภัย ต่างๆ มาพอควร เช่น รอดจากการถูกซัลโว จากปืนของฝ่าย อีรีเตรียน ที่เมืองท่า Massawa ในเอธิโอเปีย , เสียลูกเรืออินโดนีเซีย หนึ่งนาย ในบังคลาเทศ , และ ในปี 1980 ผู้เขียนก็ต้องอำลาเรือลำนี้ ณ ตำบลที่ เดิม คือเอเด็น และที่ทุ่นสีเขียว ที่เดียวกันนั้น แบบไม่น่าเชื่อที่ว่า เดินเรือมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 เป็นระยะทางถึง 55,226 ไมล์ผ่านเมืองท่าต่างๆกว่า 51 ท่าเป็นเวลา 776 วัน แต่ต้องมาจากเรือที่รัก หรือดินแดนอมตะ อย่างไม่น่าเชื่อ ในต้นปี ค.ศ. 1980 ณ เมืองท่า เอเดน ที่ทุ่นสีเขียว ใบนั้น เพราะต้องไปแทนนายเรือในอ่าวเปอร์เซีย ที่ต้องจอดคอย เข้าท่าเรือใน ประเทศ อิรัก และอิหร่าน ก่อนเกิดสงครามในเดือนกลาง ปี ค.ศ.1980 ซึ่งเป็นเรื่องอุทธาหรณ์ ที่ แปลกแต่จริง นำมาเล่าสู่กันฟัง แต่จะมีหรือไม่? เช่นจะมีอะไรเป็นสิ่งน่าสังหรณ์ ในเรื่องเรือ Titanic? แต่เมื่อไม่นานมานี้ เรือ โดยสารท่องเที่ยวที่ชื่อ Aurora ซึ่ง มีเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ เจิมเรือแต่ ขวด แชมเปญ ไม่แตก !! ซึ่งก็มีผลต่อมาว่า เครื่องร้อนจัด และไม่ประสบความสำเร็จในการเดินเรือเที่ยวแรกของเรือ ( maiden voyage) และต้องเผชิญคลื่นลมแรง จนเป็นผลที่ทำให้ ทางเรือและฝ่ายจัดการต้องเอาเรือกลับเข้าท่า และจำต้องคืนเงินค่าโดยสาร บางส่วนให้กับผู้โดยสารที่ตั้งใจจะเดินทาง ให้ครบในเที่ยวแรกของเรือนี้ ซึ่งคนเรือก็ กล่าวหาว่า แม่ย่านางโกรธเพราะแชมเปญไม่แตก

จากประสบการณ์ในชีวิตการเดินเรือ และการเฝ้าฟังจากเพื่อนฝูง ปรากฏว่ามีเสียงก้ำกึ่งกันในเรื่องการเกรงกลัวแม่ย่านาง โดยเฉพาะเพื่อนที่เป็นนำร่อง ก็บอกว่า ไม่ได้เป็นนายเรือ จึงไม่ต้องห่วง เพราะดวงเรือ ขึ้นกับ ดวงนายเรือ ที่ ควบคุมเอง ซึ่งคิดดูง่ายๆก็จริง เพราะขืนไหว้ทุกลำ คงเป็นเรื่องที่ปฏิบัติไม่ได้ ส่วน เพื่อนที่ยังเป็นนายเรือสินค้าที่มีลูกเรือไทยเป็นส่วนใหญ่ ก็คงนำเอาวิธีการไหว้แม่ย่านางแบบเรือรบไปใช้ ผู้เขียนไม่ทราบว่าในปัจจุบัน ชีวิตบนเรือรบยังไหว้แม่ย่านางกันอยู่หรือเปล่า? แต่เท่าที่ หรือโดยสรุป ผู้เขียนอาจจะให้ความเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต จะมี สปิริต ติดตัวมาตั้งแต่เกิด หรือผลิตออกมา เช่นรถยนต์ แต่ละคันเราก็ไม่ทราบว่า อนาคต ของรถยนต์แต่ละคัน จะโลดโผนเพียงใด บางคันถูกชนจนยับเยิน แต่ก็สามารถนำมาซ่อมให้ใช้ได้นานต่อไปแทบไม่น่าเชื่อ หรือ กระดาษแผ่นหนึ่งที่ผลิตออกมาใช้ ยาวนานเท่าใด จึงจะถูกย่อยสลายไป ในสภาพที่แตกต่างกันไป แต่พลังทางจิต ที่ยังไม่มีใครติดต่อได้ หรือพิสูจน์ได้ ว่ามีจริงหรือไม่ ก็ยังเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่เร้นลับ และยังไม่มีใครพิสูจน์ได้อย่างเปิดเผย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริงหรือไม่ ? ก็ไม่น่าที่จะไปสบประมาท แต่สัจธรรม ที่ ผู้ที่มีอายุอยู่ได้ยาวนานจนพ้นเกษียณอายุราชการมาแล้วได้พบเห็น ก็คือเรื่อง กรรม ซึ่งสมัยนี้ มักจะเห็นจริงได้ในชีวิตตัวเอง คือ ทำกรรมดี ย่อม มีสิ่งดีสนองตอบ และหากทำชั่ว แน่นอนว่า อยู่ต่อไปนานๆ ต้องได้รับกรรมดี หรือกรรมชั่วที่ยังรออยู่ และสิ่งที่น่าแปลกและเห็นมาบ่อยๆ ก็คือ คนที่ดีๆ และน่าจะมีชีวิตอยู่ยืนนานกลับจากไปเร็ว ซึ่งมักอ้างกันว่า หมดกรรม แต่ผู้ที่มีอายุอยู่ยาวนาน กลับเป็นฝ่ายที่ต้องรับใช้กรรม (ถ้ารับกรรมชาตินี้หมดแล้ว บางท่านบอกว่า ต้องรับกรรมเก่า ชาติก่อนด้วย ตรงนี้ สิครับ ไม่ทราบว่าจะต้องรับใช้สักกี่ชาติ ??? )

นิทานเรื่องนี้ เริ่มต้นที่ “แม่ย่านาง” และมาจบที่ “ กรรม ” ฉะนั้น จงสร้างแต่กรรมดี กรรมดี สาธุ !!!!

+++++++ จบ ++++++++ ตอน ๒


 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   7550

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Mariner English Articles Advertising in marinerthai.net

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network