Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

Nathalin Group

Advertising in marinerthai.net Advertising in MarinerThai.Com

8

ภาค ข

แนวทางสำหรับบทบัญญัติของบทที่ 11-2

ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศ

ว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล 1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติม

และภาค ก  ของประมวลข้อบังคับนี้

(ส่วนที่ 2)

 

 

8        การประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของเรือ

 

การประเมินสถานการณ์ความปลอดภัย

8.1                 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัทรับผิดชอบในการดำเนินการเพื่อให้มีการจัดทำรายงานการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของเรือแต่ละลำในกองเรือของบริษัทซึ่งถูกกำหนดให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของบทที่ 11-2 และภาค ก.ของประมวลข้อบังคับนี้ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัท  ขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทไม่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดในตำแหน่งนี้ด้วยตนเอง  แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทยังมีความรับผิดชอบขั้นสุดท้ายในการดำเนินการเพื่อให้มีการปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าวอย่างถูกต้องเหมาะสม

8.2                 ก่อนที่จะเริ่มจัดทำการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของเรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทจะต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่เกี่ยวกับการประเมินภัยคุกคามของท่าเรือที่เรือจะเข้าเทียบท่าหรือที่ผู้โดยสารจะขึ้นหรือลงจากเรือและข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าเรือและมาตรการป้องกันต่าง ๆ ควรศึกษารายงานฉบับก่อนๆ ที่เกี่ยวกับความต้องการการรักษาความปลอดภัยที่มีลักษณะคล้ายกัน  หากเป็นไปได้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทควรพบกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของเรือและท่าเรือเพื่อหารือเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายและวิธีการที่ใช้ในการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัย  ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทควรปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติที่รัฐภาคีได้จัดทำไว้

 

8.3                 รายงานการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของบริษัทควรมีรายละเอียดเกี่ยวกับเรือในเรื่องต่อไปนี้

.1         การรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ

.2         ความมั่นคงทางโครงสร้าง

.3         ระบบการป้องกันบุคลากร

.4         นโยบายเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติต่าง ๆ

.5         ระบบวิทยุและการสื่อสารโทรคมนาคม รวมทั้งระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย และ

.6         ด้านอื่น ๆ ที่หากเกิดความเสียหายหรือถูกสอดแนมอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อบุคคล ทรัพย์สินหรือการปฏิบัติงานบนเรือหรือภายในท่าเรือ

 

8.4                 ผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำรายงานการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของเรืออาจขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่อไปนี้

.1         ความรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามและรูปแบบของภัยคุกคามสถานการณ์ความปลอดภัยในปัจจุบัน

.2         ความรู้เกี่ยวกับอาวุธและการตรวจหาอาวุธ วัตถุและอุปกรณ์ที่เป็นอันตราย

.3         ความรู้เกี่ยวกับลักษณะและรูปแบบพฤติกรรมของบุคคลที่มีแนวโน้มจะเป็นภัยคุกคามต่อสถานการณ์ความปลอดภัยโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

.4         เทคนิคที่ใช้ในการจัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัย

.5         วิธีที่ใช้ในการสร้างสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย

.6         ผลของวัตถุระเบิดที่มีต่อโครงสร้างและอุปกรณ์ของเรือ

.7         การรักษาความปลอดภัยของเรือ

.8         วิธีปฏิบัติทางธุรกิจระหว่างเรือกับท่าเรือ

.9         การวางแผนฉุกเฉิน การเตรียมการและการจัดการในกรณีฉุกเฉิน

.10       การรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ

.11       ระบบวิทยุและโทรคมนาคม รวมทั้งระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย

.12       วิศวกรรมทางทะเล และ

.13       การปฏิบัติงานของเรือและท่าเรือ

 

8.5                 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทควรจัดหาและจดบันทึกข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการจัดทำการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัย ซึ่งได้แก่

.1         แผนผังทั่วไปของเรือ

.2         ที่ตั้งของพื้นที่ที่ควรจำกัดการเข้าออก เช่น สะพานเดินเรือ ห้องเครื่องประเภท ก. และสถานีควบคุมอื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในบทที่ 11-2 เป็นต้น

.3         ที่ตั้งและการทำงานของจุดเข้าออกตัวเรือทั้งที่มีอยู่จริงและที่อาจเป็นไปได้

.4         ความเปลี่ยนแปลงในกระแสน้ำซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อจุดอ่อนหรือการรักษาความปลอดภัยของเรือ

.5         พื้นที่สินค้าและการเตรียมการเพื่อบรรทุกสินค้า

.6         ที่ตั้งของสถานที่เก็บของใช้ประจำเรือและอุปกรณ์บำรุงรักษาเรือที่สำคัญ

.7         ที่ตั้งของสถานที่เก็บสัมภาระ

.8         อุปกรณ์สำหรับกรณีฉุกเฉินและอุปกรณ์สำรองเพื่อให้สามารถให้บริการที่จำเป็นได้

.9         จำนวนคนประจำเรือ งานด้านการรักษาความปลอดภัยและการจัดฝึกอบรมของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบัน 

.10       อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยและอุปกรณ์ความปลอดภัยเพื่อคุ้มครองผู้โดยสารและคนประจำเรือ

.11       เส้นทางหนีภัยและอพยพและสถานีรวมพลซึ่งจะต้องมีไว้เพื่อให้แน่ใจว่าเรือจะมีการอพยพในกรณีฉุกเฉินอย่างเป็นระเบียบและปลอดภัย

.12       ข้อตกลงกับบริษัทรักษาความปลอดภัยของเอกชนที่ให้บริการรักษาความปลอดภัยแก่เรือและทางน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน และ

.13       มาตรการรักษาความปลอดภัยและวิธีปฏิบัติที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งรวมถึงวิธีตรวจสอบและควบคุมระบบการแสดงตัว อุปกรณ์เตือนภัยและตรวจหา  เอกสารหลักฐานบุคคล  และระบบการสื่อสารและเตือนภัย ไฟแสงสว่าง การควบคุมทางเข้าออก ตลอดจนระบบอื่น ๆ

 

8.6                 การประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของเรือควรตรวจสอบจุดเข้าออกแต่ละจุด ได้แก่ ดาดฟ้าเปิด (open weather decks) และประเมินความเป็นไปได้ที่ผู้คิดฝ่าฝืนระบบรักษาความปลอดภัยจะใช้จุดเข้าออกดังกล่าว  กรณีนี้จะรวมถึงจุดเข้าออกสำหรับผู้ที่มีสิทธิเข้าออกได้โดยถูกต้องตามกฎหมายและผู้ที่พยายามจะเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย

8.7                 การประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของเรือควรพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกันอย่างต่อเนื่องของมาตรการและแนวทางในการรักษาความปลอดภัย วิธีปฏิบัติ และการปฏิบัติการที่มีในปัจจุบัน ทั้งภายใต้ภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน และควรกำหนดแนวทางในการรักษาความปลอดภัยซึ่งประกอบด้วย

.1         เขตหวงห้าม

.2         วิธีปฏิบัติในกรณีเกิดเพลิงไหม้หรือกรณีฉุกเฉินอื่น ๆ

.3         ระดับของการบังคับบัญชาของคนประจำเรือ ผู้โดยสาร ผู้มาติดต่อ คนขายของ ช่างเทคนิคสำหรับงานซ่อมทำ คนงานท่าเรือ เป็นต้น

.4         ความถี่และประสิทธิผลของยามตรวจการณ์รักษาความปลอดภัย

.5         ระบบควบคุมทางเข้าออก รวมทั้งระบบการแสดงตัว

.6         ระบบและวิธีปฏิบัติในการสื่อสารด้านการรักษาความปลอดภัย

.7         ประตู สิ่งกีดขวาง และไฟแสงสว่างที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย และ

.8         อุปกรณ์และระบบการรักษาความปลอดภัยและเตือนภัย หากมี

 

8.8                 การประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของเรือควรพิจารณาบุคคล กิจกรรม บริการ และการปฏิบัติการที่สำคัญที่ต้องให้การคุ้มครอง ซึ่งได้แก่

.1         คนประจำเรือ

.2         ผู้โดยสาร ผู้มาติดต่อ คนขายของ ช่างเทคนิคสำหรับงานซ่อมทำ เจ้าหน้าที่ของท่าเรือ เป็นต้น

.3         ขีดความสามารถในการดูแลให้มีการเดินเรืออย่างปลอดภัยและการดำเนินการต่อกรณีฉุกเฉิน

.4         สินค้า  โดยเฉพาะสินค้าอันตรายหรือวัตถุอันตราย

.5         เสบียงเรือ

.6         อุปกรณ์และระบบสื่อสารเพื่อการรักษาความปลอดภัยของเรือ หากมี และ

.7         อุปกรณ์และระบบเตือนภัยเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของเรือ หากมี

 

8.9                 การประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของเรือควรพิจารณาภัยคุกคามที่อาจเป็นไปได้ทั้งหมด ซึ่งอาจรวมถึงประเภทของเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยดังต่อไปนี้

.1         ความเสียหายหรือการถูกทำลายของเรือหรือท่าเรือ ซึ่งอาจเกิดจากวัตถุระเบิด การวางเพลิงการก่อวินาศกรรม หรือการกระทำที่ป่าเถื่อน

.2         การจี้หรือยึดเรือหรือจับบุคคลบนเรือ

.3         การลักลอบเปลี่ยนแปลงสินค้า อุปกรณ์หรือระบบที่สำคัญของเรือ หรือของใช้ประจำเรือ

.4         การเข้าออกหรือการใช้ที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งรวมถึงการลักลอบไปกับเรือ

.5         การลักลอบขนอาวุธหรืออุปกรณ์ รวมทั้งอาวุธที่มีฤทธิ์ทำลายล้างสูง

.6         การใช้เรือเพื่อบรรทุกบุคคลซึ่งมีจุดมุ่งหมายจะสร้างสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยและ/หรือบรรทุกอุปกรณ์ของบุคคลดังกล่าว

.7         การใช้เรือนั้นเองเป็นอาวุธหรือเป็นวิธีการเพื่อก่อความเสียหายหรือการทำลายล้าง

.8         การโจมตีจากทะเลขณะที่เรือเทียบท่าหรือทอดสมอ และ

.9         การโจมตีขณะที่เรือเดินทางอยู่กลางทะเล

 

8.10              การประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของเรือควรพิจารณาจุดอ่อนที่เป็นไปได้ทั้งหมด ซึ่งอาจได้แก่

.1         ความขัดแย้งกันระหว่างมาตรการความปลอดภัยและมาตรการรักษาความปลอดภัยของเรือ

.2         ความขัดแย้งกันระหว่างหน้าที่บนเรือและการมอบหมายงานด้านการรักษาความปลอดภัย

.3         หน้าที่การเข้ายาม จำนวนคนประจำเรือ โดยเฉพาะสิ่งที่อาจบ่งชี้ถึงความเหนื่อยล้า ความพร้อมปฏิบัติงาน และการปฏิบัติงานของคนประจำเรือ

.4         การขาดการฝึกอบรมที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย และ

.5         อุปกรณ์และระบบการรักษาความปลอดภัยอื่น ๆ รวมทั้งระบบการสื่อสาร

 

8.11              เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำเรือควรตระหนักถึงผลของมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีต่อคนประจำเรือซึ่งต้องอยู่บนเรือเป็นเวลานาน  ในการจัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัย ควรพิจารณาถึงความสะดวกสบาย และความเป็นส่วนตัวของคนประจำเรือและความสามารถในการรักษาระดับการปฏิบัติงานของคนประจำเรือในระยะยาวด้วย

8.12              เมื่อทำการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของเรือแล้วเสร็จ จะต้องจัดทำรายงานซึ่งประกอบด้วยบทสรุปเกี่ยวกับวิธีจัดทำการประเมิน คำอธิบายเกี่ยวกับจุดอ่อนแต่ละข้อที่พบระหว่างการประเมิน และคำอธิบายถึงมาตรการแก้ไขจุดอ่อนแต่ละข้อ โดยจะต้องเก็บรักษารายงานดังกล่าวไว้ไม่ให้มีการเข้าถึงหรือเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต

8.13              ถ้าบริษัทเรือไม่ได้จัดทำรายงานการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของเรือเอง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทจะต้องทบทวนและรับรองรายงานการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของเรือดังกล่าว

 

 

การสำรวจในขณะที่มีการรักษาความปลอดภัย

8.14              การสำรวจในขณะที่มีการรักษาความปลอดภัยถือเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของเรือ การสำรวจในขณะที่มีการรักษาความปลอดภัยควรเป็นการตรวจสอบและประเมินมาตรการ วิธีปฏิบัติ และการปฏิบัติการป้องกันบนเรือ เพื่อ

.1         ให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติงานด้านการรักษาความปลอดภัยของเรือครบถ้วน

.2         ควบคุมดูแลเขตหวงห้ามเพื่อให้แน่ใจว่ามีเฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่เข้าออกได้

.3         ควบคุมการเข้าออกตัวเรือ ซึ่งรวมถึงระบบการแสดงตัว

.4         ควบคุมพื้นที่บนดาดฟ้าและพื้นที่รอบตัวเรือ

.5         ควบคุมการขึ้นไปบนเรือของบุคคลและสัมภาระ (สัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัว และของใช้ส่วนตัวของคนประจำเรือ)

.6         อำนวยการเกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้าและการส่งของใช้ประจำเรือ และ

.7         ให้แน่ใจว่ามีการสื่อสาร ข้อมูล และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของเรือที่พร้อม

 

 

แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือ

 

บททั่วไป

9.1                 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินการเพื่อให้มีการจัดทำและเสนอเพื่อขออนุมัติแผนการรักษาความปลอดภัยของเรือ เนื้อหาสาระของแผนการรักษาความปลอดภัยของเรือแต่ละฉบับควรจะแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ (รายละเอียดของ) เรือแต่ละลำที่ระบุไว้ในแผนนั้น การประเมินสถานการณ์การรักษาความปลอดภัยของเรือต้องระบุถึงลักษณะเฉพาะของเรือตลอดจนภัยคุกคามและจุดอ่อนที่คาดว่าจะมี   ในการเตรียมจัดทำแผนการรักษาความปลอดภัยของเรือจะต้องระบุถึงลักษณะเหล่านี้ในรายละเอียด   ทางการอาจให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมจัดทำและเนื้อหาสาระของแผนการรักษาความปลอดภัยของเรือด้วย

 

9.2                 แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือควร

.1         มีรายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรของการรักษาความปลอดภัยของเรือ

.2         มีรายละเอียดความสัมพันธ์ของเรือกับบริษัทเรือ  ท่าเรือ  เรือลำอื่น ๆ และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย

.3         มีรายละเอียดของระบบสื่อสารเพื่อให้มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่องภายในเรือ  และระหว่างเรือกับฝ่ายต่าง ๆ ตลอดจนท่าเรือต่างๆ

.4         มีรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยพื้นฐานสำหรับระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1 ทั้งในการปฏิบัติการและทางกายภาพ ซึ่งจะต้องมีอยู่ตลอดเวลา

.5         มีรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมซึ่งทำให้เรือสามารถเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยเป็นระดับที่ 2 ได้โดยไม่ชักช้าและในกรณีที่มีความจำเป็น เรือสามารถเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยเป็นระดับที่ 3 ได้

.6         จัดให้มีการทบทวน หรือการตรวจสอบแผนการรักษาความปลอดภัยของเรือและข้อแก้ไขของแผนดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอเพื่อตอบสนองกับประสบการณ์หรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และ

.7         มีรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีรายงานผลให้ผู้ประสานงานของรัฐภาคีทราบ

 

9.3                 การจัดทำแผนการรักษาความปลอดภัยของเรือจะต้องดำเนินการบนพื้นฐานของการประเมินประเด็นต่าง ๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยของเรือ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีความเข้าใจลักษณะทางกายภาพและการดำเนินการ รวมถึงรูปแบบการเดินทางของเรือแต่ละลำ

9.4                 แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือทั้งหมดต้องได้รับอนุมัติจากทางการ หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการแทนทางการ ถ้าทางการให้องค์กรรักษาความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับเป็นผู้ตรวจสอบหรืออนุมัติแผนการรักษาความปลอดภัยของเรือ องค์กรรักษาความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับนั้นจะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรรักษาความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับอื่น ที่ได้จัดทำหรือช่วยเหลือในการจัดทำแผนดังกล่าว

9.5                 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำเรือต้องจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อ

.1         ประเมินประสิทธิผลอย่างต่อเนื่องของแผนการรักษาความปลอดภัยของเรือ

.2         จัดทำข้อแก้ไขของแผนการรักษาความปลอดภัยของเรือที่ได้รับอนุมัติแล้ว

 

9.6                 มาตรการรักษาความปลอดภัยที่ระบุไว้ในแผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องมีพร้อมที่จะนำมาใช้เมื่อมีการตรวจสอบเบื้องต้นในการปฎิบัติตามข้อกำหนดของบทที่ 11 – 2 และภาค ก. ของประมวลข้อบังคับนี้  มิฉะนั้นจะไม่สามารถดำเนินการออกใบสำคัญรับรองการรักษาความปลอดภัยของเรือระหว่างประเทศให้แก่เรือลำนั้นได้   หากอุปกรณ์หรือระบบการรักษาความปลอดภัยเกิดความล้มเหลวในภายหลังหรือมีการระงับใช้าตรการการรักษาความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุใดก็ตาม  จะต้องนำมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ให้ผลเท่ากันมาใช้เป็นการชั่วคราวโดยจะต้องแจ้งและขอความเห็นชอบจากทางการด้วย

 

การจัดโครงสร้างและปฎิบัติหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของเรือ

9.7                 นอกเหนือจากแนวทางที่กำหนดไว้ในวรรคที่ 9.2 แล้ว  แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับระดับการรักษาความปลอดภัยทั้งหมดดังนี้

.1         หน้าที่และความรับผิดชอบของคนประจำเรือทั้งหมดที่มีบทบาทในการรักษาความปลอดภัย

.2         ขั้นตอนการปฏิบัติหรือการป้องกันที่จำเป็นเพื่อให้มีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

.3         ขั้นตอนการปฏิบัติที่จำเป็นต้องใช้ในการประเมินประสิทธิผลอย่างต่อเนื่องของขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อการรักษาความปลอดภัยตลอดจนอุปกรณ์และระบบการรักษาความปลอดภัยและเตือนภัยต่าง ๆ รวมทั้งขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อค้นหาและแก้ไขความล้มเหลวหรือการทำงานผิดปกติของอุปกรณ์หรือระบบดังกล่าว

.4         ขั้นตอนการปฏิบัติและวิธีปฏิบัติเพื่อเก็บรักษาข้อมูลพิเศษที่เกี่ยวกับการรักษาความ ปลอดภัยซึ่งอยู่ในรูปแบบเอกสารหรืออิเล็กทรอนิค

.5         ประเภทและข้อกำหนดเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยและอุปกรณ์และระบบเตือนภัย  หากมี

.6         ขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้มีการนำเสนอ และการประเมิน     รายงานที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนการรักษาความปลอดภัยหรือเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยทันเวลา

.7         ขั้นตอนการปฏิบัติในการจัดให้มีการเก็บรักษาและปรับปรุงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอันตรายหรือสารอันตรายที่บรรทุกอยู่บนเรือ รวมทั้งบริเวณที่ตั้งของสินค้าดังกล่าวให้ทันสมัย

9.8                 ข้อกำหนดที่เหลือของส่วนที่ 9 ระบุถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยที่สามารถนำมาใช้ในการรักษาความปลอดภัยแต่ละระดับซึ่งครอบคลุมถึง

.1         การเข้าถึงตัวเรือโดยคนประจำเรือ  ผู้โดยสาร  ผู้มาติดต่อ ฯลฯ

.2         เขตหวงห้ามบนเรือ

.3         การขนถ่ายสินค้า

.4         การส่งของใช้ประจำเรือ

.5         การขนถ่ายสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัว

.6         การกำกับดูแลการรักษาความปลอดภัยของเรือ

 

การเข้าถึงตัวเรือ

9.9                 แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ครอบคลุมการเข้าถึงตัวเรือด้วยวิธีต่างๆตามที่ได้ระบุไว้ในรายงานการประเมินสถานการณ์การรักษาความปลอดภัยของเรือ ซึ่งได้แก่

.1         บันไดเชือก

.2         บันไดขึ้น/ลงเรือ

.3         สะพานพาดท้องเรือ

.4         ประตู  ทางระบายน้ำบนดาดฟ้าข้างเรือ  หน้าต่างและช่องทางอื่น ๆ

.5         เชือกผูกเรือและโซ่สมอ

.6         ปั้นจั่นและรอกต่าง ๆ

 

9.10              สำหรับทางเข้าสู่ตัวเรือแต่ละทางเหล่านี้ แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือจะต้องระบุสถานที่ตั้งที่เหมาะสมที่ซึ่งควรจะมีการจำกัดหรือห้ามเข้าสำหรับระดับการรักษาความปลอดภัยแต่ละระดับ แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องกำหนดประเภทของการจำกัดหรือการห้ามเข้าตลอดจนวิธีใช้บังคับสำหรับระดับการรักษาความปลอดภัยแต่ละระดับด้วย

9.11              แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องกำหนดวิธีแสดงตัวสำหรับระดับการรักษาความปลอดภัยของแต่ละระดับเพื่อให้อนุญาตบุคคลต่างๆเข้าถึงตัวเรือและอยู่บนเรือโดยไม่ก่อเหตุอันตรายใดๆ โดยอาจจัดทำระบบการแสดงตัวที่เหมาะสมเพื่อให้มีการแสดงตัวแบบถาวรหรือชั่วคราว  สำหรับคนประจำเรือและผู้มาติดต่อ  ระบบการแสดงตัวของเรือควรมีการประสานกับระบบการแสดงตัวของท่าเรือหากสามารถกระทำได้ ผู้โดยสารต้องสามารถแสดงตัวด้วยใบอนุญาตให้ขึ้นเรือ  ตั๋วโดยสาร  ฯลฯ  แต่ไม่ควรได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตหวงห้ามนอกจากจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล  แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องมีข้อกำหนดเพื่อให้มีการปรับปรุงระบบการแสดงตัวให้ทันสมัยอยู่เสมอ และการละเมิดขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยอย่างเคร่งครัด

9.12              ผู้ที่ไม่เต็มใจหรือไม่สามารถแสดงหลักฐานการแสดงตัว และ/หรือยืนยันจุดมุ่งหมายของการมาติดต่อเมื่อมีการร้องขอ  ต้องถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นบนเรือและควรรายงานให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำเรือ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัท เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือ และหน่วยงานระดับชาติหรือท้องถิ่นที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยทราบด้วย

9.13              แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องกำหนดความถี่ของการใช้ระบบควบคุมการเข้าถึงเรือไว้ด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการนำแผนดังกล่าวมาใช้แบบสุ่มหรือเป็นครั้งคราว

 

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1

9.14              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1  แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อควบคุมการเข้าถึงเรือ ซึ่งอาจใช้วิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้

.1         ตรวจสอบเอกสารการแสดงตัวของคนทุกคนที่ขอขึ้นเรือและยืนยันขอทราบเหตุผลในการขอขึ้นเรือโดยการตรวจสอบเอกสารต่างๆ เช่น คำสั่งให้ร่วมเดินทางไปกับเรือ  ตั๋วโดยสาร  ใบอนุญาตขึ้นเรือ ใบสั่งงาน ฯลฯ

.2         เรือต้องมีการประสานงานกับท่าเรือเพื่อให้มีการกำหนดพื้นที่รักษาความปลอดภัยไว้โดยเฉพาะเพื่อใช้ในการตรวจสอบและค้นหาบุคคล  สัมภาระ (รวมถึงสิ่งของที่สามารถหิ้วถือไปได้) ของใช้ส่วนตัว ยานพาหนะและส่วนประกอบ

.3         เรือต้องมีการประสานงานกับท่าเรือเพื่อให้มีการตรวจค้นยานพาหนะที่จะบรรทุกไปกับเรือบรรทุกรถ  เรือโร-โร และเรือโดยสารต่าง ๆ ก่อนที่จะบรรทุกขึ้นเรือ เพื่อให้เป็นไปตามความถี่ ที่กำหนดไว้ในแผนการรักษาความปลอดภัยของเรือ

.4         การแยกตรวจสอบบุคคลและของใช้ส่วนตัวของแต่ละบุคคล ออกจากบุคคลและของใช้ส่วนตัวที่ไม่ต้องรับการตรวจสอบ

.5         การแยกผู้โดยสารที่ขึ้นไปบนเรือออกจากผู้โดยสารที่ลงจากเรือ

.6         การกำหนดจุดเข้า-ออกที่ควรมีการรักษาความปลอดภัยหรือเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการผ่านเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต

.7         การรักษาความปลอดภัยจุดเข้าออกบริเวณที่ไม่มีการเฝ้าระวัง ซึ่งอยู่ติดกับบริเวณที่มีผู้โดยสารหรือผู้มาติดต่อผ่านเข้าไปได้โดยอาจใช้วิธีปิดล็อคหรือวิธีอื่นๆ

.8         การจัดให้มีการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยแก่คนประจำเรือ เพื่อให้ทราบถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ ขั้นตอนการปฏิบัติสำหรับการรายงานเมื่อพบบุคคล สิ่งของหรือการกระทำที่ต้องสงสัย และความจำเป็นในการเฝ้าระวัง

9.15              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1 ผู้ที่ประสงค์จะขึ้นไปบนเรือทุกคนจะต้องได้รับการตรวจค้น   ความถี่ของการตรวจค้นดังกล่าวซึ่งรวมถึงการสุ่มตรวจจะต้องกำหนดไว้ในแผนการรักษาความปลอดภัยของเรือที่ได้รับอนุมัติและหากจะให้ได้ผลดีที่สุดควรเป็นการดำเนินการโดยท่าเรือร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเรือ  หากไม่มีมูลเหตุเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยที่ชัดเจน ไม่ควรให้คนประจำเรือตรวจค้นผู้ร่วมงานหรือของใช้ประจำตัว  การตรวจค้นดังกล่าวต้องกระทำโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและรักษาเกียรติภูมิของมนุษย์ขั้นพื้นฐานอย่างเคร่งครัด

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2

9.16              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2 แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการรักษาความปลอดภัยที่สูงขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้มีการเฝ้าระวังมากขึ้นและมีการควบคุมเข้มงวดขึ้น ซึ่งอาจรวมถึง

.1         การจัดและมอบหมายเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมเพื่อตรวจการณ์บริเวณดาดฟ้าเรือในยามวิกาล เพื่อป้องกันการเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต

.2         การจำกัดจำนวนจุดเข้า-ออกบนเรือ การกำหนดจุดเข้า-ออกที่จะต้องปิด และวิธีปิดกั้นจุดเข้าออกดังกล่าวที่มีความแน่นหนาเพียงพอ

.3         การยับยั้งการบุกรุกขึ้นบนเรือจากทางน้ำ  โดยมีการประสานงานกับท่าเรือ การจัดให้มีเรือตรวจการณ์

.4         การกำหนดเขตหวงห้ามบนฝั่งที่เรือจอดเทียบท่า โดยร่วมมือปฏิบัติงานกับท่าเรืออย่างใกล้ชิด

.5         การเพิ่มความถี่และรายละเอียดในการตรวจค้นบุคคล ของใช้ประจำตัวและยานพาหนะที่ขึ้นหรือบรรทุกบนเรือ

.6         การดูแลอำนวยความสะดวกผู้มาติดต่อบนเรือ

.7         การจัดให้มีการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยแก่คนประจำเรือเกี่ยวกับภัยคุกคามที่ตรวจพบ  การย้ำถึงความสำคัญของขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อรายงานเกี่ยวกับบุคคล สิ่งของหรือการกระทำที่ต้องสงสัย  และการย้ำถึงความจำเป็นในการเพิ่มการเฝ้าระวัง  และ

.8         การดำเนินการตรวจค้นเรือทั้งหมดหรือบางส่วน

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่  3

9.17              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่  3 เรือต้องปฎิบัติตามคำแนะนำของผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือภัยคุกคามจากเหตุการณ์ดังกล่าว  แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องมีรายละเอียดของมาตรการรักษาความปลอดภัยซึ่งเรือจะต้องนำไปปฏิบัติ โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ที่รับผิดชอบต่อการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวและท่าเรือซึ่งอาจรวมถึง

.1         การจำกัดจุดผ่านเข้า-ออกให้เหลือจุดควบคุมเพียงจุดเดียว

.2         การอนุญาตให้ผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยผ่านจุดเข้า-ออกเท่านั้น

.3         การควบคุมอำนวยการคนบนเรือ

.4         การสั่งห้ามขึ้นหรือลงจากเรือ

.5         การสั่งระงับการปฎิบัติการขนถ่ายหรือส่งสินค้า

.6         การอพยพออกจากเรือ

.7         การแล่นเรือ

.8         การเตรียมการเพื่อตรวจค้นเรือทั้งหมดหรือบางส่วน

 

เขตหวงห้ามบนเรือ

9.18              แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องกำหนดเขตหวงห้ามที่จะต้องจัดให้มีบนเรือ กำหนดขอบเขตของเขตหวงห้าม เวลาที่จะใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อควบคุมจุดผ่านเข้า-ออก และเพื่อควบคุมกิจกรรมต่างๆภายในเขตหวงห้ามดังกล่าว จุดมุ่งหมายของการกำหนดเขตหวงห้าม คือ

.1         เพื่อป้องกันการผ่านเข้าถึงเรือโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต

.2         เพื่อคุ้มครองผู้โดยสาร คนประจำเรือและเจ้าหน้าที่จากท่าเรือหรือหน่วยงานอื่นๆที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบนเรือได้

.3         เพื่อปกป้องดูแลบริเวณที่ต้องการการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษและ

.4         เพื่อปกป้องดูแลสินค้าและของใช้ประจำเรือจากการเข้าเปยุ่งเกี่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต

9.19              แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องมีนโยบายและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อควบคุมทางเข้าเขตหวงห้ามทั้งหมด

9.20              แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องกำหนดให้เขตหวงห้ามทั้งหมด  แสดงเครื่องหมายที่ชัดเจน เพื่อแสดงว่าทางเข้าไปยังบริเวณดังกล่าวถูกจำกัด และการเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตถือว่าเป็นการฝ่าฝืนการรักษาความปลอดภัย

9.21              เขตหวงห้ามอาจรวมถึง

.1         สะพานเดินเรือ พื้นที่บริเวณห้องเครื่องจักรต่าง ๆ ตามประเภท ก และสถานีควบคุมอื่น ๆ  ตามที่กำหนดไว้ในบทที่ 2-2

.2         พื้นที่ต่าง ๆ ที่มีอุปกรณ์และระบบการรักษาความปลอดภัยและเตือนภัย และระบบควบคุมแสงสว่าง

.3         ระบบระบายอากาศและระบบปรับอากาศ และพื้นที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะ เดียวกัน                        

.4         พื้นที่ที่มีทางเข้าถึง  ถังน้ำแบบเคลื่อนที่ได้  ปั๊มน้ำ หรือท่อร่วมต่าง ๆ

.5         พื้นที่จัดเก็บสินค้าอันตรายหรือวัตถุที่อันตราย

.6         พื้นที่จัดเก็บท่อสินค้า และระบบควบคุม

.7         พื้นที่จัดเก็บสินค้า และพื้นที่จัดเก็บของใช้ประจำเรือ

.8         ที่พักอาศัยของคนประจำเรือ

.9         พื้นที่อื่น ๆตาม ที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทกำหนดไว้ในรายงานการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของเรือซึ่งต้องจำกัดทางเข้า เพื่อให้มีการรักษาความปลอดภัยของเรือ

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่  1

9.22              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยที่  1 แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ เพื่อใช้กับเขตหวงห้ามซึ่งอาจรวมถึง

.1         การปิดล็อคหรือควบคุมจุดทางเข้าต่าง ๆ

.2         การใช้อุปกรณ์เตือนภัยต่าง ๆ เพื่อควบคุมเขตหวงห้าม

.3         การใช้ยามหรือการตรวจการณ์ต่าง ๆ

.4         การใช้เครื่องมือตรวจจับการบุกรุกโดยอัตโนมัติเพื่อแจ้งเตือนคนประจำเรือให้ทราบถึงการเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่  2

9.23              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2  ต้องมีการเพิ่มความถี่และความเข้มงวดของการกำกับและควบคุมทางเข้าไปยังเขตหวงห้าม เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่เข้าไปเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องกำหนดให้มีการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม ซึ่งอาจรวม

.1         การกำหนดเขตหวงห้ามที่อยู่ติดกับจุดทางเข้า

.2         การกำกับควบคุมอุปกรณ์เตือนภัยอย่างต่อเนื่อง

.3         การจัดบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อเป็นยามตรวจการณ์ในเขตหวงห้าม

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่  3

9.24              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3  เรือต้องปฏิบัติตามคำแนะนำที่กำหนดโดยผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือภัยคุกคามจากเหตุการณ์ดังกล่าว แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เรือสามารถนำมาใช้ โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ที่รับผิดชอบในการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวและท่าเรือ ซึ่งอาจรวม

.1         การกำหนดเขตหวงห้ามเพิ่มเติมบนเรือในบริเวณที่อาจเกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความ ปลอดภัย หรือที่ตั้งที่เชื่อว่าจะมีภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัย

.2         การตรวจค้นเขตหวงห้ามโดยเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจค้นเรือ

 

การขนถ่ายสินค้า

9.25              มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้าจะต้อง

.1         ป้องกันการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

.2         ป้องกันไม่ให้มีการรับและเก็บรักษาสินค้าที่ไม่ได้กำหนดให้บรรทุกโดยเรือลำนั้น ไว้บนเรือ

                

9.26              มาตรการรักษาความปลอดภัยซึ่งมีมาตรการบางอย่างที่อาจนำมาใช้โดยประสานงานกับท่าเรือจะต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อควบคุมสินค้าที่เก็บอยู่ในคลังของเรือที่จุดทางเข้าของเรือ เมื่อยกขนสินค้าขึ้นมาบนเรือแล้ว ต้องสามารถระบุได้ว่าสินค้าดังกล่าวได้รับการอนุมัติให้บรรทุกลงเรือ อีกทั้งจะต้องจัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัย ในทางที่ให้เกิดความแน่ใจว่าสินค้าที่บรรทุกลงเรือแล้วนั้นไม่มีผู้เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่  1

9.27              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1  แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ใช้ระหว่างการขนถ่ายสินค้า ซึ่งอาจรวมถึง

.1         การตรวจสอบสินค้า หน่วยการขนส่งสินค้า และพื้นที่วางสินค้าทั้งก่อนและระหว่างการปฏิบัติการขนถ่ายสินค้าเป็นประจำ

.2         การตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่บรรทุกลงเรือนั้นมีรายละเอียดตรงกับเอกสารกำกับสินค้า

.3         การดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าในการประสานงานกับท่าเรือ ยานพาหนะที่บรรทุกลงเรือบรรทุกรถ เรือโรโรและเรือโดยสารจะต้องถูกตรวจค้นก่อนบรรทุกลงเรือตามความถี่ของเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผนการรักษาความปลอดภัยของเรือ

.4         การตรวจสอบการปิดผนึกหรือวิธีการอื่น ๆ เพื่อป้องกันการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

9.28              การตรวจสอบสินค้าอาจจะกระทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

.1         การตรวจสอบด้วยสายตาหรือการตรวจสอบทางกายภาพ

.2         การใช้อุปกรณ์ตรวจหาหรือตรวจจับ อุปกรณ์เครื่องกล หรือสุนัขดมกลิ่น              

9.29              เมื่อมีการขนย้ายสินค้าตามปกติหรือขนย้ายบ่อยๆ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัท หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำเรืออาจปรึกษาหารือกับท่าเรือและเห็นชอบให้มีการจัดการให้ผู้ส่งสินค้า ผู้ที่รับผิดชอบในสินค้า ดำเนินการตรวจสอบนอกสถานที่  ปิดผนึก  จัดทำตารางการขนส่ง  จัดเตรียมเอกสารที่ใช้ในการขนส่ง  เป็นต้น การจัดการต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือที่เกี่ยวข้องทราบและให้ความเห็นชอบด้วย

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่  2

9.30              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2 แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือจะต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมเพื่อใช้ระหว่างการขนถ่ายสินค้าซึ่งอาจรวมถึง

.1         การตรวจสอบในรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า หน่วยของการขนส่งสินค้าและพื้นที่วางสินค้า     

.2         การตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อให้แน่ใจว่ามีเฉพาะสินค้าที่จะทำการขนส่งทางน้ำเท่านั้นที่บรรทุกลงเรือ                            

.3         การตรวจค้นยานพาหนะที่จะบรรทุกบนเรือบรรทุกรถ เรือโรโร และเรือโดยสารอย่างเข้มงวด

.4         การเพิ่มความถี่และรายละเอียดในการตรวจสอบผนึกหรือวิธีอื่น ๆ ที่ใช้ เพื่อป้องกันการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

9.31              การตรวจสอบสินค้าในรายละเอียดอาจดำเนินการด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

.1         การเพิ่มความถี่และรายละเอียดของการตรวจสอบด้วยสายตาและทางกายภาพ                          

.2         การเพิ่มความถี่ของการใช้อุปกรณ์ตรวจหา หรือตรวจจับ อุปกรณ์เครื่องกลหรือสุนัขดมกลิ่น                            

.3         การประสานมาตรการรักษาความปลอดภัยกับผู้ส่งสินค้า หรือฝ่ายที่รับผิดชอบอื่น ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงและขั้นตอนการปฏิบัติที่กำหนดไว้

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่  3

9.32              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3  เรือจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือภัยคุกคามจากเหตุการณ์ดังกล่าว แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยซึ่งเรือสามารถนำมาใช้ โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้รับผิดชอบต่อการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวและท่าเรือ ซึ่งอาจรวมถึง

.1         การระงับการบรรทุกสินค้าลงเรือหรือการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือ

.2         การตรวจสอบปริมาณสินค้าอันตราย และวัตถุอันตรายที่บรรทุกอยู่บนเรือและสถานที่ตั้งของสินค้าหรือสารอันตรายดังกล่าว  

 

 

การจัดส่งของใช้ประจำเรือ

9.33              มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งของใช้ประจำเรือจะต้อง

.1         มีดำเนินการตรวจสอบของใช้ประจำเรือ และความสมบูรณ์ของหีบห่อ

.2         ป้องกันไม่ให้มีการรับของใช้ประจำเรือโดยไม่มีการตรวจสอบ

.3         ป้องกันการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

.4         ป้องกันไม่ให้มีการรับของใช้ประจำเรือโดยที่ไม่มีการสั่งซื้อ

 

9.34              สำหรับเรือที่เข้าเทียบท่าเรืออย่างสม่ำเสมออาจกำหนดให้มีขั้นตอนการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเรือผู้จัดหาสินค้าและท่าเรือโดยให้ครอบคลุมถึงการแจ้งเวลาส่งมอบตลอดจนการออกเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องมีวิธีการเพื่อยืนยันว่าของใช้ประจำเรือที่ส่งมามีหลักฐานการสั่งซื้อแนบมาด้วย

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่  1

9.35              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1  แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือจะต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อนำมาใช้ระหว่างการส่งมอบของใช้ประจำเรือ ซึ่งอาจรวมถึง

.1         การตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าของใช้ประจำเรือที่ส่งมาตรงกับคำสั่งซื้อ ก่อนที่จะมีการบรรทุกลงเรือ

.2         การดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่ามีการจัดเก็บของใช้ประจำเรือไว้ในพื้นที่ ที่มีการรักษาความปลอดภัยของเรือทันที

                            

การรักษาความปลอดภัยระดับที่  2

9.36              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่  2 แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือจะต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้ระหว่างการจัดส่งของใช้ประจำเรือโดยมีการตรวจสอบก่อนที่จะรับของใช้ประจำเรือขึ้นบนเรือและมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่  3

9.37              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3 เรือจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและภัยคุกคามจากเหตุการณ์ดังกล่าว แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยซึ่งเรือสามารถนำมาใช้ โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ที่รับผิดชอบต่อการรักษาความปลอดภัยและท่าเรือ ซึ่งอาจรวมถึง

.1         การกำหนดให้มีการตรวจสอบของใช้ประจำเรือมากกว่าเดิม

.2         การเตรียมการเพื่อจำกัดหรือระงับการขนถ่ายของใช้ประจำเรือ

.3         การปฏิเสธไม่รับของใช้ประจำเรือขึ้นบนเรือ

 

การขนถ่ายสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัว

9.38              แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือจะต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่จะนำมาใช้เพื่อให้แน่ใจว่าสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัว( เช่น กระเป๋าเดินทาง รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวของบุคคล ซึ่งไม่ได้อยู่กับผู้โดยสารหรือลูกเรือที่จุดตรวจสอบหรือตรวจค้น) มีการระบุเจ้าของและมีการตรวจตามความเหมาะสมซึ่งรวมถึงการตรวจค้น ก่อนที่จะมีการยอมรับให้บรรทุกบนเรือ แต่ไม่ได้หมายความว่าสัมภาระดังกล่าวจะได้ต้องรับการตรวจทั้งจากเรือและท่าเรือและในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายมีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจที่เหมาะสม ความรับผิดชอบในการตรวจควรเป็นของท่าเรือ ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับท่าเรือเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรมีการนำขั้นตอนต่าง ๆ มาใช้เพื่อให้แน่ใจว่า สัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัวมีการขนถ่ายขึ้นเรืออย่างปลอดภัยหลังจากการตรวจแล้ว

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่  1

9.39              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1 แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือจะต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อนำมาใช้เมื่อมีการขนย้ายสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัวเพื่อให้แน่ใจว่าสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัวถูกตรวจหรือค้นซึ่งอาจรวมทั้งมีการตรวจสัมภาระดังกล่าวทั้งหมดโดยใช้เครื่องเอ็กซเรย์ 100 %

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่  2

9.40              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2  แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือ จะต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อนำมาใช้เมื่อมีการขนถ่ายสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัวซึ่งอาจรวมถึงการตรวจสัมภาระดังกล่าวทั้งหมดโดยใช้เครื่องเอ็กซเรย์ 100%

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่  3

9.41              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3  เรือต้องจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและภัยคุกคามจากเหตุการณ์ดังกล่าว แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยซึ่งเรือสามารถนำมาใช้โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ที่รับผิดชอบต่อการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวและท่าเรือ ซึ่งอาจรวมถึง

.1         การกำหนดให้มีการตรวจสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัวมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การใช้เครื่องเอ็กซเรย์ตรวจสัมภาระนั้น อย่างน้อยสองมุม

.2         การเตรียมการเพื่อจำกัดหรือระงับการขนถ่ายสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัว

.3         การปฏิเสธที่ไม่รับสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัวบรรทุกบนเรือ

 

การกำกับดูแลการรักษาความปลอดภัยของเรือ

9.42              เรือต้องมีความสามารถในการกำกับดูแล เขตหวงห้ามบนเรือและพื้นที่รอบตัวเรือ  ความสามารถในการกำกับดูแลเช่นว่านี้อาจรวมถึงการใช้

.1         ไฟแสงสว่าง

.2         ผู้เข้าเวรยาม ยามรักษาความปลอดภัยและยามฝ่ายเดินเรือ รวมถึงยามตรวจการณ์

.3         เครื่องมือตรวจหาการบุกรุกโดยอัตโนมัติและอุปกรณ์เตือนภัยต่างๆ

9.43              เมื่อมีการใช้เครื่องมือตรวจหาการบุกรุกโดยอัตโนมัติควรใช้สัญญาณเตือนภัยที่ส่งเสียงเตือนและ/หรือสามารถมองเห็นได้กับบริเวณที่มีการสอดส่องดูแลอย่างต่อเนื่อง

9.44              แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องกำหนดให้มีขั้นตอนการปฏิบัติและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการรักษาความปลอดภัยแต่ละระดับตลอดจนวิธีการที่ทำให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพิจารณาผลกระทบของสภาพอากาศหรือการตัดระบบไฟฟ้า

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่  1

9.45              ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1  แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือจะต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยซึ่งอาจประกอบด้วยไฟแสงสว่าง  ผู้เข้าเวรยาม ยามรักษาความปลอดภัยหรืออุปกรณ์เตือนภัยร่วมกัน เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเรือสามารถสังเกตการณ์สภาพทั่วไปของเรือโดยเฉพาะสิ่งกีดขวางและเขตหวงห้าม

9.46              จะต้องมีการเปิดไฟแสงสว่างบนดาดฟ้าและจุดทางเข้าต่าง ๆ ของเรือในยามวิกาล และในช่วงที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ ขณะที่มีการปฏิบัติการระหว่างเรือและท่าเรือ หรือเมื่ออยู่ในท่าเรือหรือขณะกำลังจอดทอดสมอเมื่อมีความจำเป็น   ขณะที่อยู่ระหว่างการเดินทางหากจำเป็นเรือจะต้องใช้ไฟแสงสว่างเท่าที่มีอยู่ให้มากที่สุดเพื่อให้สามารถเดินเรือได้อย่างปลอดภัย ตามข้อกำหนดของกฎข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกัน  การกำหนดระดับและสถานที่ตั้งของไฟแสงสว่างที่เหมาะสมควรมีข้อพิจารณาดังต่อไปนี้

.1         คนประจำเรือต้องสามารถตรวจพบกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นนอกตัวเรือได้ทั้งบนฝั่งและในน้ำ

.2         รัศมีของไฟแสงสว่างต้องครอบคลุมพื้นที่บนเรือและรอบตัวเรือ

.3         รัศมีของไฟแสงสว่างจะต้องอำนวยความสะดวกในการแสดงตัวที่จุดทางเข้าต่าง ๆ                             

.4         การจัดให้มีแสงไฟสว่างที่เพียงพออาจกระทำได้โดยการประสานงานกับท่าเรือ

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่  2

9.47              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2  แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการกำกับดูแลและการเฝ้าระวัง ซึ่งอาจรวมถึง

.1         การเพิ่มความถี่และรายละเอียดของการตรวจการณ์ในการรักษาความปลอดภัย                            

.2         การเพิ่มรัศมีและความเข้มของไฟแสงสว่างหรือการใช้อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยและอุปกรณ์เตือนภัย                        

.3         การมอบหมายให้มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นยามรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม                                  

.4         การดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่ามีการประสานงานกับเรือตรวจการณ์ในน้ำและการตรวจการณ์ โดยเจ้าหน้าที่หรือยานพาหนะตรวจการณ์บนฝั่ง

                                

9.48              ไฟแสงสว่างเพิ่มเติมอาจเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ช่วยป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการรักษาความปลอดภัยสูงขึ้น เมื่อมีความจำเป็นการกำหนดให้มีไฟแสงสว่างเพิ่มขึ้นอาจกระทำได้โดยการประสานงานกับท่าเรือเพื่อให้จัดไฟแสงสว่างบนฝั่งเพิ่มเติม

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่  3

9.49              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3  เรือต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือภัยคุกคามจากเหตุการณ์ดังกล่าว  แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยซึ่งเรือสามารถนำมาใช้ โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ที่รับผิดชอบต่อการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวและท่าเรือ  ซึ่งอาจรวมถึง

.1         การเปิดไฟแสงสว่างทั้งหมดหรือการจัดให้มีไฟแสงสว่างบนเรือตลอดทั้งลำ

.2         การเปิดอุปกรณ์เตือนภัย บนเรือทั้งหมดที่ช่วยให้สามารถบันทึกกิจกรรม/เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นบนเรือได้

.3         การจัดให้อุปกรณ์เตือนภัยมีช่วงเวลาในการบันทึกต่อเนื่องนานที่สุด

.4         การเตรียมการสำหรับการตรวจสอบตัวเรือใต้แนวน้ำ

.5         การริเริ่มนำมาตรการต่างๆมาใช้ซึ่ง รวมถึงการลดรอบการหมุนของใบจักรให้ช้าลงหากสามารถปฏิบัติได้เพื่อขัดขวางการเข้าใกล้ตัวเรือใต้แนวน้ำ

 

ระดับการรักษาความปลอดภัยที่แตกต่างกัน

9.50              แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือจะต้องกำหนดรายละเอียดของขั้นตอนการปฏิบัติและมาตรการรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ ที่เรือสามารถนำมาใช้ได้ หากเรือกำหนดระดับการรักษาความปลอดภัยที่สูงกว่าระดับการรักษาความปลอดภัยที่ใช้ในท่าเรือ

 

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่อยู่ในบังคับของประมวลข้อบังคับนี้

9.51              แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือจะต้องกำหนดรายละเอียดของขั้นตอนการปฏิบัติและมาตรการรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ ที่เรือจะต้องปฏิบัติเมื่อ

.1         เรืออยู่ในเมืองท่าของรัฐที่ไม่ใช่รัฐภาคี

.2         เรือกำลังจอดเทียบและปฏิบัติการกับเรือลำอื่นซึ่งไม่อยู่ในบังคับของประมวลข้อบังคับนี้

.3         เรือกำลังจอดเทียบและปฏิบัติการกับแท่นขุดเจาะอยู่กับที่หรือลอยน้ำหรือแท่นขุดเจาะแบบเคลื่อนที่ได้

.4         เรือกำลังจอดเทียบและปฏิบัติการกับท่าเรือหรือท่าเทียบเรือ ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดให้ปฏิบัติ ตามบทที่ 11-2  และภาค ก. ของประมวลข้อบังคับนี้

 

ปฏิญญาว่าด้วยการรักษาความปลอดภัย

แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับการร้องขอให้ออกปฏิญญาว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยจากท่าเรือและสถานการณ์ ที่เรือควรจะร้องขอให้ออกปฏิญญาดังกล่าว

 

9.52              แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือจะต้องกำหนดวิธีการที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำเรือสามารถดำเนินการตรวจสอบประสิทธิผลของแผนการรักษาความปลอดภัยของเรืออย่างต่อเนื่องตลอดจนปฏิบัติตามขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อทบทวน ปรับปรุงหรือแก้ไขแผนการรักษาความปลอดภัยของเรือให้ทันสมัย

 


§         ข้อกำหนดภาคบังคับเกี่ยวกับบทบัญญัติ ISPS Code ของบทที่ 11-2 ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ.1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติม

§         แนวทางสำหรับบทบัญญัติ ISPS Code ของบทที่ 11-2 ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล 1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมและภาค ก ของประมวลข้อบังคับนี้ (ส่วนที่ 1)

§         แนวทางสำหรับบทบัญญัติ ISPS Code ของบทที่ 11-2 ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล 1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมและภาค ก ของประมวลข้อบังคับนี้ (ส่วนที่ 2)

§         แนวทางสำหรับบทบัญญัติ ISPS Code ของบทที่ 11-2 ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล 1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมและภาค ก ของประมวลข้อบังคับนี้ (ส่วนที่ 3)

§         แนวทางสำหรับบทบัญญัติ ISPS Code ของบทที่ 11-2 ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล 1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมและภาค ก ของประมวลข้อบังคับนี้ (ส่วนที่ 4)

มารีนเนอร์ไทย | MarinerThai.Net | MarinerThai.Com

 

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   9517

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Nathalin Group MarinerThai 2004 Co., Ltd.

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network