Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

Nathalin Group

MarinerThai 2004 Co., Ltd. TOP Engineering Group - UAV Thailand

ภาค ข

ภาค ข

แนวทางสำหรับบทบัญญัติของบทที่ 11-2

ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศ

ว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล 1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติม

และภาค ก  ของประมวลข้อบังคับนี้

(ส่วนที่ 4)

 

 

เขตหวงห้ามภายในเขตท่าเรือ

16.1              แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดให้มีเขตหวงห้ามภายในเขตท่าเรือโดยจะต้องกำหนดขอบเขต  ระยะเวลาที่ใช้บังคับ  มาตรการรักษาความปลอดภัยที่ใช้ควบคุมการผ่านเข้าออก และมาตรการควบคุมซึ่งจะต้องรวมถึงมาตรการที่กำหนดให้มีการตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยในเขตหวงห้ามชั่วคราวทั้งก่อนและหลังการกำหนดเขตหวงห้ามดังกล่าว เขตหวงห้ามมีจุดมุ่งหมายเพื่อ

.1         คุ้มครองผู้โดยสาร คนประจำเรือ เจ้าหน้าที่ของท่าเรือ และผู้มาติดต่อรวมถึงผู้มาติดต่อที่เรือ ;

.2         ปกป้องท่าเรือ

.3         ปกป้องเรือ ทั้งที่มาใช้บริการและให้บริการในเขตท่าเรือ

.4         ปกป้องสถานที่และพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวต่อการรักษาความปลอดภัย ภายในเขตท่าเรือ

.5         ปกป้องอุปกรณ์และระบบรักษาความปลอดภัยและเตือนภัย และ

.6         ป้องกันมิให้มีการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสินค้าและของใช้ประจำเรือ โดยไม่ได้รับอนุญาต

 

16.2              แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรกำหนดให้เขตหวงห้ามทั้งหมดต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างชัดเจนเพื่อควบคุม

.1         การผ่านเข้าออกของบุคคลทั่วไป

.2         การผ่านเข้า การจอด การขนถ่ายสินค้าขึ้นลงของยานพาหนะ

.3         การเคลื่อนไหว และการเก็บรักษา สินค้าและของใช้ประจำเรือ และ

.4         ของใช้ส่วนตัวและสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัว

16.3              แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดให้เขตหวงห้ามทั้งหมดต้องมีเครื่องหมายแสดงไว้อย่างชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขตดังกล่าวเป็นเขตหวงห้าม และการล่วงล้ำเข้าไปในเขตดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นการละเมิดต่อการรักษาความปลอดภัย

16.4              กรณีที่มีการติดตั้งอุปกรณ์การตรวจหาการบุกรุกโดยอัตโนมัติ อุปกรณ์ดังกล่าวควรส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังศูนย์ควบคุมแห่งหนึ่ง ซึ่งสามารถตอบรับต่อสัญญาณดังกล่าวได้

16.5              เขตหวงห้ามอาจรวมถึง

.1         พื้นที่ทั้งบนฝั่งและในน้ำที่อยู่ติดกับตัวเรือ

.2         พื้นที่ขึ้น-ลงเรือ พื้นที่ซึ่งผู้โดยสารและคนประจำเรือจะต้องผ่านและอยู่ ซึ่งรวมถึงจุดตรวจค้นต่างๆ

.3         พื้นที่ซึ่งมีการขนถ่าย หรือเก็บรักษาสินค้าและของใช้ประจำเรือ

.4         สถานที่ซึ่งมีการเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหวต่อการรักษาความปลอดภัยรวมถึงเอกสารเกี่ยวกับสินค้า

.5         พื้นที่เก็บสินค้าอันตรายและสารอันตราย

.6         ห้องควบคุมระบบการจัดการจราจรทางน้ำ อาคารควบคุมท่าเรือและการเดินเรือ รวมถึงห้องควบคุมการรักษาความปลอดภัยและการตรวจการณ์

.7         พื้นที่เก็บอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยและเตือนภัย

.8         การติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า วิทยุ และสื่อสารตลอดจน อุปกรณ์เกี่ยวกับน้ำและสาธารณูปโภคอื่น ๆ

.9         สถานที่อื่นๆภายในเขตท่าเรือ ซึ่งควรมีการห้ามเรือ ยานพาหนะ และบุคคลเข้า

16.6              มาตรการรักษาความปลอดภัยอาจขยายไปถึงการจำกัดการเข้าไปในสิ่งปลูกสร้างที่ท่าเรือไม่สามารถสอดส่องดูแลได้โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1

16.7              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1 แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับเขตหวงห้ามซึ่งอาจรวมถึง:

.1         ข้อกำหนดให้มีสิ่งกีดขวางทางถาวรหรือชั่วคราวโดยรอบเขตหวงห้ามโดยจะต้องมีมาตรฐานซึ่งรัฐภาคีให้การยอมรับ ;

.2         ข้อกำหนดให้จุดผ่านเข้าออกจะต้องมียามรักษาความปลอดภัยควบคุมดูแล เมื่อเปิดใช้งานและจะต้องสามารถปิดล็อค หรือกั้นเมื่อไม่ได้ใช้งาน ;

.3         การจัดให้มีบัตรผ่านเข้าออก ซึ่งจะต้องให้บุคคลที่ผ่านข้าออกเขตหวงห้าม ติดแสดงไว้ตลอดเวลาเมื่ออยู่ในเขตหวงห้ามนั้น ;

.4         การทำเครื่องหมายที่เห็นได้ชัดเจนบนยานพาหนะที่อนุญาต ให้ผ่านเข้าในเขตหวงห้าม;

.5         การจัดให้มีการเฝ้ายามและการตรวจการณ์;

.6         การจัดให้มีระบบการตรวจหาการบุกรุกโดยอัตโนมัติหรืออุปกรณ์เตือนภัยหรือระบบที่สามารถตรวจหาลักลอบเข้าในเขตหวงห้าม หรือการเคลื่อนไหวภายในเขตหวงห้าม ; และ

.7         การควบคุมการเคลื่อนไหวของเรือภายในบริเวณของเรือที่มาใช้ท่าเรือ

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2

16.8              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2 แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดให้มีการเพิ่มความถี่ และความเข้มงวดในการกำกับดูแล และควบคุมการเข้าออกเขตหวงห้าม แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม ซึ่งอาจรวมถึง

.1         การเสริมสิ่งกีดขวางหรือการกั้นรั้วโดยรอบเขตหวงห้าม รวมถึงการใช้ยามตรวจการณ์ หรืออุปกรณ์ตรวจหาการบุกรุกโดยอัตโนมัติ

.2         การลดจำนวนจุดผ่านเข้าออกเขตหวงห้าม และเพิ่มการควบคุมในจุดผ่านเข้าออก ที่ยังคงเปิดใช้งาน

.3         การห้ามจอดรถใกล้กับเรือที่กำลังเทียบท่า

.4         การเพิ่มความเข้มงวดในการเข้าออกเขตหวงห้าม และการเคลื่อนไหว และการเก็บรักษาสิ่งของในเขตหวงห้าม

.5         การใช้อุปกรณ์เตือนภัยเพื่อกำกับดูแลและบันทึกเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง

.6         การเพิ่มจำนวนและความถี่ของการตรวจการณ์ รวมถึงการตรวจการณ์ทางน้ำตามแนวโดยรอบเขตหวงห้าม และในพื้นที่เขตหวงห้าม

.7         การกำหนดและควบคุมการเข้าออกพื้นที่ซึ่งอยู่ติดกับเขตหวงห้าม

.8         การห้ามเรือที่ไม่ได้รับอนุญาตไม่ให้เข้าสู่พื้นน้ำที่อยู่ติดกับเรือที่กำลังใช้ท่าเรือ

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3

16.9              ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3 ท่าเรือจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือภัยคุกคามจากเหตุการณ์ดังกล่าว  แผนการรักษาความปลอดภัยควรมีรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งท่าเรือสามารถนำมาใช้โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ที่รับผิดชอบต่อการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวและเรือภายในเขตท่าเรือ ซึ่งอาจรวมถึง

.1         การจัดตั้งเขตหวงห้ามเพิ่มเติมภายในท่าเรือ ในบริเวณที่มีแนวโน้มจะเกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือสถานที่ซึ่งเชื่อว่ามีภัยคุกคาม ซึ่งห้ามผ่านเข้า-ออก

.2         การเตรียมการตรวจค้นพื้นที่เขตหวงห้ามโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจค้นท่าเรือทั้งหมดหรือบางส่วน

 

การขนถ่ายสินค้า

 

16.10           มาตรการรักษาความปลอดภัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายสินค้าจะต้อง :

.1         ป้องกันไม่ให้มีการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

.2         ป้องกันไม่ให้มีการรับหรือเก็บรักษาสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าที่จะทำการขนส่งไว้ในเขตท่าเรือ

16.11            มาตรการรักษาความปลอดภัยจะต้องรวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติในการควบคุมรายการสินค้าที่จุดผ่านเข้า-ออกเขตท่าเรือ  และเมื่อสินค้าเข้ามาในเขตท่าเรือแล้ว จะต้องสามารถแสดงหลักฐานว่าสินค้าดังกล่าวได้รับการตรวจสอบและยอมรับให้มีการบรรทุกลงเรือ หรือจัดเก็บเป็นการชั่วคราวในเขตหวงห้าม ขณะที่ยังไม่ถึงเวลาขนถ่ายลงเรือ ทั้งนี้ จะต้องห้ามไม่ให้นำสินค้าที่ยังไม่มีกำหนดที่แน่นอนในการบรรทุกลงเรือเข้ามาในเขตท่าเรือ

 

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1

 

16.12           ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1 แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดให้มีมาตรการสำหรับใช้ระหว่างการขนถ่ายสินค้า ซึ่งอาจรวมถึง :

.1         การตรวจสอบสินค้า หน่วยการขนส่งสินค้า และพื้นที่เก็บสินค้าเป็นประจำภายในเขตท่าเรือ ทั้งก่อนและระหว่างการปฏิบัติการขนถ่ายสินค้า ;

.2         การตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่ผ่านเข้ามาในเขตท่าเรือ ตรงกับใบส่งสินค้าหรือเอกสารเกี่ยวกับสินค้าอื่นๆที่ใช้แทนกันได้;

.3         การตรวจค้นยานพาหนะ  และ

.4         การตรวจสอบการปิดผนึก และวิธีการอื่น ๆที่ใช้เพื่อป้องกันการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตระหว่างการนำสินค้าเข้าสู่เขตท่าเรือ และการเก็บรักษาสินค้าในเขตท่าเรือ

16.13           การตรวจสอบสินค้าอาจกระทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้ :

.1    การตรวจสอบด้วยสายตาหรือทางกายภาพ

.2     การใช้อุปกรณ์ตรวจจับ/ค้นหา  อุปกรณ์เครื่องกล หรือสุนัขดมกลิ่น

16.14           เมื่อมีการขนย้ายสินค้าตามปกติหรือขนย้ายบ่อยๆ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัท หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของประจำอาจปรึกษาหารือกับท่าเรือและเห็นชอบให้มีการจัดการให้ผู้ส่งสินค้า ผู้ที่รับผิดชอบในสินค้า ดำเนินการตรวจสอบนอกสถานที่  ปิดผนึก  จัดทำตารางการขนส่ง  จัดเตรียมเอกสารที่ใช้ในการขนส่ง  เป็นต้น การจัดการต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือที่เกี่ยวข้องทราบและให้ความเห็นชอบด้วย

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2

 

16.15           ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2 แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมเพื่อใช้ระหว่างการขนถ่ายสินค้าซึ่งอาจรวมถึง

.1         การตรวจสอบในรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า หน่วยของการขนส่งสินค้าและพื้นที่วางสินค้า     

.2         การตรวจสอบอย่างเข้มงวดตามความเหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่ามีเฉพาะสินค้าที่มีเอกสารกำกับเท่านั้นที่สามารถผ่านเข้ามาในเขตท่าเรือ  การเก็บรักษาชั่วคราว และบรรทุกลงเรือ

.3         การตรวจค้นยานพาหนะอย่างเข้มงวด และ

.4         การเพิ่มความถี่และรายละเอียดในการตรวจสอบผนึกหรือวิธีอื่น ๆ ที่ใช้ เพื่อป้องกันการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

16.16           การตรวจสอบสินค้าโดยละเอียดอาจกระทำโดยใช้วิธีการทั้งหมด หรือ บางส่วน ดังต่อไปนี้

.1         การเพิ่มความถี่และรายละเอียดของการตรวจสอบสินค้า หน่วยการขนส่งสินค้า และพื้นที่เก็บสินค้าภายในเขตท่าเรือ (ด้วยการตรวจสอบด้วยสายตาหรือทางกายภาพ)

.2         การเพิ่มความถี่ในการใช้อุปกรณ์ตรวจจับ/ตรวจค้น อุปกรณ์เครื่องกล หรือ สุนัขดมกลิ่นและ

.3         การประสานงานกับผู้ส่งสินค้าหรือผู้รับผิดชอบอื่นๆเพื่อแจ้งให้ทราบมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นจากข้อตกลงหรือขั้นตอนการปฏิบัติที่มีอยู่แล้ว

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3

 

16.17           ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3 ท่าเรือจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือภัยคุกคามจากเหตุการณ์ดังกล่าว แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรมีรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยซึ่งท่าเรือสามารถนำมาใช้โดยประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้รับผิดชอบต่อการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวและเรือภายในเขตท่าเรือ ซึ่งอาจรวมถึง:

.1         การจำกัดหรือระงับการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือการปฏิบัติการภายในเขตท่าเรือทั้งหมดหรือบางส่วน   หรือบนเรือบางลำ ; และ

.2         การตรวจสอบรายการสินค้าอันตราย และวัตถุอันตรายที่เก็บรักษาไว้ในเขตท่าเรือ และสถานที่เก็บรักษา

 

การจัดส่งของใช้ประจำเรือ

 

16.18           มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวกับการจัดส่งของใช้ประจำเรือจะต้อง:

.1         มีดำเนินการตรวจสอบของใช้ประจำเรือ และความสมบูรณ์ของหีบห่อ

.2         ป้องกันไม่ให้มีการรับของใช้ประจำเรือโดยไม่มีการตรวจสอบ

.3         ป้องกันการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

.4         ป้องกันไม่ให้มีการรับของใช้ประจำเรือโดยที่ไม่มีการสั่งซื้อ

.5         กำหนดให้มีการตรวจค้นยานพาหนะที่ส่งของใช้ประจำเรือ

.6         กำหนดให้มีการคุ้มกันยานพาหนะส่งของ ภายในเขตท่าเรือ

16.19           สำหรับเรือที่เข้าเทียบท่าเรืออย่างสม่ำเสมออาจกำหนดให้มีขั้นตอนการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเรือ   ผู้จัดหาสินค้าและท่าเรือโดยให้ครอบคลุมถึงการแจ้งเวลาส่งมอบตลอดจนการออกเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องมีวิธีการเพื่อยืนยันว่าของใช้ประจำเรือที่ส่งมามีหลักฐานการสั่งซื้อแนบมาด้วย

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1

 

16.20           ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1 แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ใช้ควบคุมการจัดส่งของใช้ประจำเรือ ซึ่งอาจรวมถึง :

.1         การตรวจสอบของใช้ประจำเรือ:

.2         การแจ้งรายละเอียดของสินค้าที่บรรทุก รายละเอียดเกี่ยวกับพนักงานขับรถ และเลขทะเบียนรถให้ทราบล่วงหน้า ; และ

.3         การตรวจค้นยานพาหนะที่มาส่งของ

16.21           การตรวจสอบของใช้ประจำเรืออาจกระทำได้โดยวิธีการทั้งหมด หรือบางส่วน ดังต่อไปนี้ :

.1         การตรวจสอบด้วยสายตา และทางกายภาพ;

.2         การใช้อุปกรณ์ตรวจจับ/ตรวจหา อุปกรณ์เครื่องกล หรือ สุนัขดมกลิ่น

 

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2

 

16.22           ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2 แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มการควบคุมการจัดส่งของใช้ประจำเรือ ซึ่งอาจรวมถึง :

.1         การตรวจสอบของใช้ประจำเรือในรายละเอียด;

.2         การตรวจค้นยานพาหนะที่มาส่งของในรายละเอียด ;

.3         การประสานงานกับคนประจำเรือเพื่อตรวจสอบการสั่งของโดยเปรียบเทียบกับเอกสารการส่งของก่อนอนุญาตให้นำของเข้ามาในเขตท่าเรือ  และ

.4         การคุ้มกันยานพาหนะส่งของภายในเขตท่าเรือ

16.23           การตรวจสอบของใช้ประจำเรือในรายละเอียดอาจกระทำโดยใช้วิธีการทั้งหมดหรือบางส่วน ดังต่อไปนี้

.1         การเพิ่มความถี่ และรายละเอียดของการตรวจค้นยานพาหนะส่งของ;

.2         การเพิ่มการใช้อุปกรณ์ตรวจจับ/ ตรวจหา อุปกรณ์เครื่องกล หรือ สุนัขดมกลิ่น  และ

.3         การจำกัดหรือห้ามนำของใช้ประจำเรือที่จะไม่นำออกจากเขตท่าเรือภายในเวลาที่กำหนด เข้ามาในเขตท่าเรือ

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3

 

16.24           ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3 ท่าเรือควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือภัยคุกคามจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรแสดงรายละเอียดของมาตรการรักษาความปลอดภัยซึ่งท่าเรืออาจนำมาใช้โดยประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้รับผิดชอบต่อการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวและเรือในเขตท่าเรือ  ซึ่งอาจรวมถึงการเตรียมการเพื่อจำกัดหรือระงับการจัดส่งของใช้ประจำเรือภายในเขตท่าเรือทั้งหมดหรือบางส่วน

 

การขนถ่ายสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัว

16.25           แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยที่จะนำมาใช้เพื่อให้แน่ใจว่าสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัว (ได้แก่ สัมภาระใดๆ รวมถึงของใช้ส่วนตัวซึ่งไม่ได้อยู่กับผู้โดยสาร หรือคนประจำเรือ ณ. จุดที่มีการตรวจสอบ หรือตรวจค้น) มีการระบุเจ้าของและมีการตรวจตามความเหมาะสมซึ่งรวมถึงการตรวจค้นก่อนที่จะยอมให้เข้าไปในท่าเรือและก่อนการขนถ่ายระหว่างท่าเรือกับเรือ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการจัดการในการเก็บรักษา ทั้งนี้ สัมภาระดังกล่าวไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจโดยท่าเรือ และเรือ  และในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายมีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจที่เหมาะสม ความรับผิดชอบในการตรวจควรเป็นของท่าเรือ ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเรือเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรมีขั้นตอนการดำเนินการที่ทำให้แน่ใจได้ว่า สัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัวได้รับการขนถ่ายอย่างปลอดภัยหลังจากผ่านการตรวจแล้ว

 

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1

16.26           ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1 แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยที่จะนำมาใช้กับสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัวเพื่อให้แน่ใจว่าสัมภาระดังกล่าว ได้รับการตรวจหรือตรวจค้น ซึ่งอาจรวมถึงการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ 100%

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2

16.27           ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2 แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมที่จะนำมาใช้กับสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัวซึ่งควรจะรวมถึงการตรวจสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัวทั้งหมดด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ 100 %

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3

16.28           ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3 ท่าเรือควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือภัยคุกคามจากเหตุการณ์ดังกล่าว แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรกำหนดรายละเอียดของมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ท่าเรือจะนำมาใช้ โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้รับผิดชอบต่อการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวและเรือในเขตท่าเรือ ซึ่งอาจรวมถึง:

.1         การกำหนดให้มีการตรวจสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัวอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การใช้เครื่องเอ็กซเรย์ตรวจสัมภาระนั้นอย่างน้อยสองมุม

.2         การจัดเตรียมเพื่อจำกัดหรือห้ามการขนถ่ายสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัว และ

.3         การปฏิเสธไม่รับสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัวเข้าไปในเขตท่าเรือ

 

การกำกับดูแลการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ

16.29           องค์กรรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องมีความสามารถในการกำกับดูแลท่าเรือและทางเข้าสู่ท่าเรือในบริเวณใกล้เคียงทั้งทางบกและทางน้ำตลอดเวลา รวมทั้งในเวลากลางคืนและช่วงเวลาที่มีข้อจำกัดด้านการมองเห็น เขตหวงห้ามภายในท่าเรือ เรือที่อยู่ในเขตท่าเรือ และพื้นที่โดยรอบตัวเรือ การกำกับดูแลอาจกระทำได้โดยใช้วิธีดังต่อไปนี้:

.1         ไฟแสงสว่าง;

.2         ยามรักษาความปลอดภัย รวมถึง การเดินตรวจการณ์ การใช้รถ และเรือตรวจการณ์  และ

.3         อุปกรณ์ตรวจหาการบุกรุกโดยอัตโนมัติ และอุปกรณ์เตือนภัยต่าง ๆ

 

16.30           เมื่อมีการนำอุปกรณ์ตรวจหาการบุกรุกโดยอัตโนมัติมาใช้ ควรใช้สัญญาณเตือนภัยที่เป็นสัญญาณเสียงและ/หรือสามารถมองเห็นได้ที่บริเวณที่มีการสอดส่องดูแลอย่างต่อเนื่อง

16.31           แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือต้องกำหนดให้มีขั้นตอนการปฏิบัติและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการรักษาความปลอดภัยแต่ละระดับ ตลอดจนวิธีการที่ทำให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพิจารณาผลกระทบของสภาพอากาศหรือการตัดระบบไฟฟ้าด้วย

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1

16.32           ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1 แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่จะนำมาใช้  ซึ่งอาจประกอบด้วยไฟแสงสว่าง ยามรักษาการณ์ หรืออุปกรณ์รักษาความปลอดภัย และอุปกรณ์เตือนภัยร่วมกันเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของท่าเรือสามารถ:

.1         สังเกตการณ์พื้นที่ของท่าเรือโดยรวม รวมถึงทางเข้าสู่ท่าเรือทั้งบกและทางน้ำ;

.2         สังเกตการณ์จุดผ่านเข้าออก สิ่งกีดขวางและเขตหวงห้าม; และ

.3         ควบคุมดูแลพื้นที่ และการเคลื่อนไหวต่าง ๆ รอบตัวเรือที่อยู่ภายในเขตท่าเรือรวมถึงการเพิ่มกำลังไฟแสงสว่างของเรือเอง

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2

16.33           ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2 แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมดูแลและเฝ้าระวัง ซึ่งอาจรวมถึง ;

.1         การเพิ่มรัศมีและความเข้มของไฟแสงสว่าง และอุปกรณ์เตือนภัยซึ่งรวมถึงการจัดให้มีไฟแสงสว่าง และพื้นที่ตรวจการณ์มากขึ้น

.2         การเพิ่มความถี่ของการเดินตรวจการณ์ และการตรวจการณ์ด้วยรถและเรือ

.3         การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมเพื่อควบคุมดูแลและตรวจการณ์

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3

16.34           ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3 ท่าเรือควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือภัยคุกคามจากเหตุการณ์ดังกล่าว   แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรแสดงรายละเอียดมาตรการรักษาความปลอดภัยซึ่งท่าเรืออาจนำมาใช้ โดยประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้รับผิดชอบต่อการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวและเรือในเขตท่าเรือ ซึ่งอาจรวมถึง :

.1         การเปิดไฟแสงสว่างทั้งหมดภายในหรือการจัดให้มีไฟแสงสว่างภายในอาณาบริเวณของท่าเรือทั้งหมด ;

.2         การเปิดอุปกรณ์เตือนภัยทั้งหมดที่ช่วยให้สามารถบันทึกกิจกรรม/เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในหรือใกล้กับเขตท่าเรือ ; และ

.3         การจัดให้อุปกรณ์เตือนภัยมีช่วงเวลาในการบันทึกอย่างต่อเนื่องนานที่สุด

 

ระดับการรักษาความปลอดภัยที่แตกต่างกัน

16.35           แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดรายละเอียดของขั้นตอนการปฏิบัติและมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ท่าเรือสามารถนำมาใช้ได้ หากท่าเรือกำหนดระดับการรักษาความปลอดภัยที่ต่ำกว่าระดับการรักษาความปลอดภัยที่ใช้กับเรือ

 

กิจกรรมที่ไม่อยู่ในบังคับของประมวลข้อบังคับนี้

16.36           แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดรายละเอียดของขั้นตอนการปฏิบัติและมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งท่าเรือควรนำมาใช้เมื่อ :

.1         ต้องปฏิบัติการกับเรือ ซึ่งเคยเดินทางไปยังท่าเรือของรัฐอื่นซึ่งไม่ใช่รัฐภาคี ;

.2         ต้องปฏิบัติการกับเรือ ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของประมวลข้อบังคับนี้ ;

.3         ต้องปฏิบัติการกับแท่นขุดเจาะที่ตรึงอยู่กับที่หรือลอยน้ำหรือเคลื่อนที่

 

ปฏิญญาว่าด้วยการรักษาความปลอดภัย

16.37           แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดให้มีขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของท่าเรือร้องขอให้ออกปฏิญญาว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยตามคำสั่งของรัฐภาคี

 

การตรวจสอบ การทบทวน และการแก้ไข

16.38           แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดวิธีการที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะใช้ตรวจสอบประสิทธิผลของแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรืออย่างต่อเนื่อง และขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อทบทวน ปรับปรุง หรือแก้ไขแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือให้ทันสมัย

16.39           แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องได้รับการทบทวนตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือ  นอกจากนี้ควรมีการทบทวน :

.1         หากมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายงานการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของท่าเรือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือ ;

.2         หากการตรวจสอบโดยอิสระหรือ การทดสอบองค์กรรักษาความปลอดภัยของท่าเรือของรัฐแสดงถึงความล้มเหลวในองค์กรหรือปัญหาที่สำคัญขององค์ประกอบของแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือที่ได้รับอนุมัติแล้ว ;

.3         หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือ และ

.4         หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงในกรรมสิทธิ์หรือการควบคุมการปฏิบัติงานของท่าเรือ

16.40           เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรืออาจเสนอแนะข้อแก้ไขตามความเหมาะสมต่อแผนฯ ที่ได้รับอนุมัติแล้วหลังจากมีการทบทวนแผนดังกล่าว   ข้อแก้ไขแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือที่เกี่ยวกับ:

.1         การเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจก่อให้เกิดการแก้ไขแนวทางที่นำมาใช้ในการรักษาความปลอดภัยในท่าเรือ ; และ

.2         การยกเลิก การเปลี่ยนแปลง หรือการสับเปลี่ยนสิ่งกีดขวางถาวร และระบบและอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยและเตือนภัย ฯลฯ ซึ่งแต่เดิมถือว่ามีความสำคัญต่อการรักษาความปลอดภัยในท่าเรือ

 

ต้องนำเสนอต่อรัฐภาคีที่อนุมัติแผนการรักษาความปลอดภัยฉบับเดิมเพื่อพิจารณาและอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง ข้อแก้ไขดังกล่าวอาจกระทำโดย หรือกระทำในนามของรัฐภาคี และอาจยอมรับหรือไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงตามที่เสนอมาก็ได้  ในการอนุมัติแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือนั้น รัฐภาคีควรกำหนดว่าการแก้ไขในขั้นตอนการปฏิบัติหรือการแก้ไขทางกายภาพใดที่จำเป็นต้องนำเสนอเพื่อขออนุมัติ

 

การอนุมัติแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ

16.41           แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องกำหนดให้มีขั้นตอนการปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับ:

.1         การนำเสนอแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือต่อรัฐภาคี ;

.2         การพิจารณาแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ

.3         การอนุมัติแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือโดยมีหรือไม่มีข้อแก้ไข ;

.4         การพิจารณาข้อแก้ไขที่นำเสนอหลังจากแผนได้รับอนุมัติแล้ว ; และ

.5         ขั้นตอนการปฏิบัติในการตรวจสอบความเหมาะสมอย่างต่อเนื่องของแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือที่ได้รับอนุมัติแล้ว

 

ในทุกขั้นตอนควรมีขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้มีการเก็บเนื้อหาของแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือไว้เป็นความลับ

 

เอกสารแสดงการยินยอมปฏิบัติของท่าเรือ

16.42           รัฐภาคีผู้ปกครองอาณาเขตอันเป็นที่ตั้งของท่าเรืออาจออกเอกสารแสดงการยินยอมปฏิบัติของท่าเรือ (Statement of Compliance a Port Facility: SoCPF) อันแสดงถึง :

.1         ท่าเรือนั้น ;

.2         ว่าท่าเรือนั้น ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของบทที่ 11-2  และภาค ก. ของ ประมวลข้อบังคับนี้ ;

.3         อายุของเอกสาร SoCPF ซึ่งรัฐภาคีควรเป็นผู้กำหนด แต่ไม่ควรเกิน 5 ปี, และ

.4         การดำเนินการตรวจสอบเอกสารฯในภายหลัง ซึ่งกำหนดโดยรัฐภาคี และการแจ้งยืนยันเมื่อมีการดำเนินการดังกล่าว

16.43           เอกสารการยินยอมปฏิบัติของท่าเรือ (SoCPF) ควรมีรูปแบบตามที่แสดงไว้ในภาคผนวกของภาคนี้ของประมวลข้อบังคับนี้  หากภาษาที่ใช้มิใช่ภาษาสเปน ฝรั่งเศส หรืออังกฤษ รัฐภาคีอาจให้มีการแปลเป็นภาษาใดภาษาหนึ่งดังกล่าวข้างต้น หากเห็นสมควร

 

17   เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือ

 

บททั่วไป

 

17.1              เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือจะต้องให้ความช่วยเหลือ ในกรณีเฉพาะบางกรณีที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำเรือ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของเอกสารแสดงตัวของผู้ที่ขออนุญาตขึ้นเรือโดยมีจุดมุ่งหมายที่เป็นทางการ

17.2              เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือไม่ควรต้องรับผิดชอบในการยืนยันการแสดงตัวของผู้ขออนุญาตขึ้นเรือนอกจากนี้ แนวทางปฏิบัติอื่นๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 15,16 และ 18

 

 

18   การฝึกอบรม การฝึกปฏิบัติ และการฝึกซ้อม การรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ

การฝึกอบรม

18.1              เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือควรมีความรู้และได้รับการฝึกอบรมในบางส่วนหรือทั้งหมดในเรื่องดังต่อไปนี้ตามความเหมาะสม

.1         การบริหารงานด้านการรักษาความปลอดภัย

.2          อนุสัญญา ประมวลข้อบังคับ และข้อเสนอแนะระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

.3          การออกกฎหมายและข้อบังคับของรัฐที่เกี่ยวข้อง

.4         ความรับผิดชอบและหน้าที่ขององค์กรรักษาความปลอดภัยอื่นๆ

.5         วิธีการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของท่าเรือ

.6         วิธีการสำรวจและตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยของเรือและท่าเรือ

.7         การปฏิบัติงานและสภาพของเรือและท่าเรือ

.8         มาตรการรักษาความปลอดภัยของเรือและท่าเรือ

.9         การเตรียมความพร้อมและการจัดการกับเหตุฉุกเฉิน และการวางแผนป้องกันเหตุร้าย

.10       เทคนิคในการสอนสำหรับใช้จัดฝึกอบรมและการศึกษาด้านการรักษาความปลอดภัย ซึ่งรวมถึงมาตรการและขั้นตอนการปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัย;

.11       การจัดการดูแลข้อมูลซึ่งมีความอ่อนไหวและเกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยและการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย;

.12       ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบและภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัยในปัจจุบัน;

.13       การทำความรู้จักและการตรวจหาอาวุธ วัตถุ และอุปกรณ์อันเป็นอันตราย;

.14       การทำความรู้จักลักษณะและรูปแบบพฤติกรรมของบุคคลที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ;

.15       เทคนิคที่ใช้เพื่อทำลายหรือหลีกเลี่ยงมาตรการรักษาความปลอดภัย

.16       อุปกรณ์และระบบรักษาความปลอดภัย และข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน;

.17       วิธีการในการดำเนินการตรวจสอบ การตรวจ การควบคุม และการกำกับดูแล;

.18       วิธีการในการตรวจค้นทางกายภาพ และการตรวจโดยสุภาพ;

.19       การฝึกปฏิบัติ และการฝึกซ้อมการรักษาความปลอดภัย รวมถึงการฝึกปฏิบัติและการฝึกซ้อมร่วมกับเรือ;

.20       การประเมิน การฝึกปฏิบัติ และการฝึกซ้อมการรักษาความปลอดภัย

 

18.2              เจ้าหน้าที่ของท่าเรือที่มีหน้าที่เฉพาะในการรักษาความปลอดภัยจะต้องมีความรู้และไดัรับการฝึกอบรมในบางส่วนหรือทั้งหมดในเรื่องต่อไปนี้ตามความเหมาะสม:

.1         ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบและภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัยในปัจจุบัน;

.2         การทำความรู้จักและการตรวจหาอาวุธ วัตถุ และอุปกรณ์อันเป็นอันตราย;

.3         การทำความรู้จักกับลักษณะและรูปแบบพฤติกรรมของบุคคลที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัย;

.4         เทคนิคที่ใช้เพื่อทำลายหรือหลีกเลี่ยงมาตรการรักษาความปลอดภัย;

.5         เทคนิคการจัดการและควบคุมฝูงชน;

.6         การสื่อสารที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย;

.7         การปฏิบัติงานของอุปกรณ์และระบบรักษาความปลอดภัย;

.8         การทดสอบ การปรับแต่ง และการบำรุงรักษาอุปกรณ์ และระบบรักษาความปลอดภัย;

.9         เทคนิคการตรวจ ควบคุม และกำกับดูแล

.10       วิธีการตรวจค้นบุคคล ของใช้ประจำตัว สัมภาระ สินค้า และของใช้ประจำเรือทางกายภาพ

 

18.3              เจ้าหน้าที่อื่นๆของท่าเรือจะต้องมีความรู้และคุ้นเคยกับบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องของแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือในบางส่วนหรือทั้งหมดในเรื่องต่อไปนี้ตามความเหมาะสม

.1         ความหมายและข้อกำหนดอันเป็นผลสืบเนื่องของระดับการรักษาความปลอดภัยที่แตกต่างกัน;

.2         การทำความรู้จักและการตรวจอาวุธ วัตถุ และอุปกรณ์อันเป็นอันตราย;

.3         การทำความรู้จักลักษณะรูปแบบพฤติกรรมของบุคคลที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ ;

.4         เทคนิคที่ใช้เพื่อทำลายหรือหลีกเลี่ยงมาตรการรักษาความปลอดภัย

 

 

การฝึกปฏิบัติและการฝึกซ้อม

18.4              วัตถุประสงค์ของการฝึกปฏิบัติและการฝึกซ้อมคือเพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ของท่าเรือมีความชำนาญในหน้าที่การรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมอบหมายที่ระดับการรักษาความปลอดภัยทุกระดับ และเพื่อให้ทราบถึงข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย

18.5              เพื่อให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติตามบทบัญญัติของแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรืออย่างมีประสิทธิผล จึงควรมีการฝึกปฏิบัติเป็นประจำอย่างน้อยทุก 3 เดือน ยกเว้นในกรณีเฉพาะที่ไม่สามารถทำได้  การฝึกปฏิบัติเหล่านี้ควรมีการทดสอบแต่ละองค์ประกอบของแผน  อาทิเช่น ภัยคุกคามต่อความปลอดภัยตามรายการที่แสดงไว้ในวรรคที่ 15.11

18.6              จะต้องจัดให้มีการฝึกซ้อมต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐภาคี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเรือ (ถ้ามี) อย่างน้อย 1 ครั้ง ตามปีปฏิทินและแต่ละครั้งไม่ควรมีระยะห่างกันเกินกว่า 18 เดือน โดยอาจมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของท่าเรือเข้าร่วมฝึกซ้อมด้วย  นอกจากนี้ ควรร้องขอให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำเรือให้เข้าร่วมในการฝึกซ้อมด้วยโดยคำนึงถึงการรักษาความปลอดภัยและงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของเรือ  การฝึกซ้อมเหล่านี้ควรมีการทดสอบการสื่อสาร การประสานงาน ความพร้อมของทรัพยากรและการจัดการ การฝึกซ้อมอาจจะดำเนินการโดย

.1         เต็มรูปแบบหรือเหมือนจริง ;

.2         จำลองสถานการณ์บนโต๊ะ หรือจัดสัมมนา ; หรือ

.3         จัดร่วมกับการฝึกซ้อมอื่นๆ เช่น การฝึกการจัดการเหตุฉุกเฉิน หรือ การฝึกซ้อมของหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐเมืองท่า

 

19        การตรวจสอบและการออกใบสำคัญรับรองสำหรับเรือ

ไม่มีแนวทางกำหนดเพิ่มเติม

 


§         ข้อกำหนดภาคบังคับเกี่ยวกับบทบัญญัติ ISPS Code ของบทที่ 11-2 ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ.1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติม

§         แนวทางสำหรับบทบัญญัติ ISPS Code ของบทที่ 11-2 ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล 1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมและภาค ก ของประมวลข้อบังคับนี้ (ส่วนที่ 1)

§         แนวทางสำหรับบทบัญญัติ ISPS Code ของบทที่ 11-2 ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล 1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมและภาค ก ของประมวลข้อบังคับนี้ (ส่วนที่ 2)

§         แนวทางสำหรับบทบัญญัติ ISPS Code ของบทที่ 11-2 ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล 1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมและภาค ก ของประมวลข้อบังคับนี้ (ส่วนที่ 3)

§         แนวทางสำหรับบทบัญญัติ ISPS Code ของบทที่ 11-2 ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล 1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมและภาค ก ของประมวลข้อบังคับนี้ (ส่วนที่ 4)

มารีนเนอร์ไทย | MarinerThai.Net | MarinerThai.Com

 

 

 

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   6274

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Photos from Mariner IT knowhow for Mariner

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network