Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

MarinerThai 2004 Co., Ltd.

Nathalin Group FB MarinerThai News

ภาค ข

ภาค ข

แนวทางสำหรับบทบัญญัติของบทที่ 11-2

ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศ

ว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล 1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติม

และภาค ก  ของประมวลข้อบังคับนี้

(ส่วนที่ 3)

 

 

10        บันทึกการรักษาความปลอดภัย

 

บททั่วไป

10.1            ควรมีการจัดเตรียมบันทึกการรักษาความปลอดภัยไว้ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐภาคีที่ได้รับมอบอำนาจ ตรวจสอบว่าได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดของแผนการรักษาความปลอดภัยของเรือ

10.2            บันทึกการรักษาความปลอดภัยอาจจัดเก็บไว้ในรูปแบบใดก็ได้ แต่ควรป้องกันไม่ให้มีการเข้าถึงหรือเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต   

 

11        เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัท

แนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 8, 9, และ 13

 

12        เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำเรือ

แนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 8, 9, และ 13

 

13        การฝึกอบรม การฝึกปฏิบัติ และการฝึกซ้อมในการรักษาความปลอดภัยของเรือ

 

การฝึกอบรม

 

13.1              เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทและฝ่ายบุคคลบนฝั่งของบริษัทตลอดจนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำเรือควรมีความรู้และได้รับการฝึกอบรมในหัวข้อดังต่อไปนี้บางส่วนหรือทั้งหมด ตามความเหมาะสม 

.1         การบริหารงานด้านการรักษาความปลอดภัย

.2          อนุสัญญา ประมวลข้อบังคับ และข้อเสนอแนะระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

.3         การออกกฎหมายและข้อบังคับของรัฐที่เกี่ยวข้อง

.4         ความรับผิดชอบและหน้าที่ขององค์กรรักษาความปลอดภัยอื่นๆ

.5         วิธีการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของเรือ

.6         วิธีการสำรวจและตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยของเรือ

.7         การปฏิบัติงานและสภาพของเรือและท่าเรือ

.8         มาตรการรักษาความปลอดภัยของเรือและท่าเรือ

.9         การเตรียมความพร้อมและการจัดการกับเหตุฉุกเฉิน และการวางแผนป้องกันเหตุร้าย

.10       เทคนิคในการสอนสำหรับการจัดฝึกอบรมและการศึกษาด้านการรักษาความปลอดภัย ซึ่งรวมถึงมาตรการและขั้นตอนการปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัย;

.11       การจัดการดูแลข้อมูลซึ่งมีความอ่อนไหวและเกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยและการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย;

.12       ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบและภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัยในปัจจุบัน;

.13       การทำความรู้จักและการตรวจหา อาวุธ วัตถุ และอุปกรณ์อันเป็นอันตราย;

.14       การทำความรู้จักลักษณะและรูปแบบพฤติกรรมของบุคคลที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ;

.15       เทคนิคที่ใช้เพื่อทำลายหรือหลีกเลี่ยงมาตรการรักษาความปลอดภัย

.16       อุปกรณ์และระบบรักษาความปลอดภัย และข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน;

.17       วิธีการในการดำเนินการตรวจสอบ การตรวจ การควบคุม และการกำกับดูแล;

.18       วิธีการในการตรวจค้นทางกายภาพ และการตรวจโดยสุภาพ;

.19       การฝึกปฏิบัติ และการฝึกซ้อมการรักษาความปลอดภัย รวมถึงการฝึกปฏิบัติและการฝึกซ้อมร่วมกับเรือ;

.20       การประเมิน การฝึกปฏิบัติ และการฝึกซ้อมการรักษาความปลอดภัย

 

13.2              นอกจากนี้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำเรือควรมีความรู้อย่างเพียงพอ และได้รับการฝึกอบรมในหัวข้อดังต่อไปนี้บางส่วนหรือทั้งหมดตามความเหมาะสม

.1         แบบแปลนของเรือ

.2         แผนการรักษาความปลอดภัยของเรือและขั้นตอนการปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง (รวมทั้งการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับสถานการณ์ความปลอดภัยต่างๆ)

.3         เทคนิคการจัดการและควบคุมฝูงชน

.4         การปฏิบัติงานของอุปกรณ์และระบบรักษาความปลอดภัย

.5         การทดสอบ การปรับแต่ง และการบำรุงรักษาอุปกรณ์และระบบรักษาความปลอดภัยขณะเรือเดินทะเล        

 

13.3              เจ้าหน้าที่บนเรือที่มีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยโดยเฉพาะควรมีความรู้และความสามารถอย่างเพียงพอเพื่อปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในหัวข้อดังต่อไปนี้ตามความเหมาะสม  

.1         ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบและภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัยในปัจจุบัน;

.2         การทำความรู้จักและการตรวจหาอาวุธ วัตถุ และอุปกรณ์อันเป็นอันตราย;

.3         การทำความรู้จักกับลักษณะและรูปแบบพฤติกรรมของบุคคลที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัย;

.4         เทคนิคที่ใช้เพื่อทำลายหรือหลีกเลี่ยงมาตรการรักษาความปลอดภัย;

.5         เทคนิคการจัดการและควบคุมฝูงชน;

.6         การสื่อสารที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย;

.7         ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน และแผนป้องกันเหตุร้าย

.8         การปฏิบัติงานของอุปกรณ์และระบบรักษาความปลอดภัย;

.9         การทดสอบ การปรับแต่ง และการบำรุงรักษาอุปกรณ์ และระบบรักษาความปลอดภัย;

.10       เทคนิคการตรวจ ควบคุม และกำกับดูแล

.11       วิธีการตรวจค้นบุคคล ของใช้ประจำตัว สัมภาระ สินค้า และของใช้ประจำเรือทางกายภาพ

 

 

13.4              คนประจำเรือทั้งหมดควรมีความรู้อย่างเพียงพอและมีความคุ้นเคยกับข้อกำหนดของแผนการรักษาความปลอดภัย รวมทั้ง

.1         ความหมายและข้อกำหนดอันเป็นผลสืบเนื่องของระดับการรักษาความปลอดภัยที่แตกต่างกัน;

.2         ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน และแผนป้องกันเหตุร้าย

.3         การทำความรู้จักและการตรวจอาวุธ วัตถุ และอุปกรณ์อันเป็นอันตราย;

.4         การทำความรู้จักลักษณะรูปแบบพฤติกรรมของบุคคลที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ ;

.5         เทคนิคที่ใช้เพื่อทำลายหรือหลีกเลี่ยงมาตรการรักษาความปลอดภัย

 

การฝึกปฏิบัติและการฝึกซ้อม

 

13.5              วัตถุประสงค์ของการฝึกปฏิบัติและการฝึกซ้อมคือเพื่อให้แน่ใจว่าคนประจำเรือมีความชำนาญในหน้าที่การรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมอบหมายที่ระดับการรักษาความปลอดภัยทุกระดับ และเพื่อให้ทราบถึงข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย

13.6              เพื่อให้มีการปฏิบัติตามบทบัญญัติของแผนการรักษาความปลอดภัยของเรืออย่างมีประสิทธิผล จึงควรมีการฝึกปฏิบัติเป็นประจำอย่างน้อยทุก 3 เดือน นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนคนประจำเรือมากกว่าร้อยละ 25 ในครั้งใดครั้งหนึ่ง  โดยมีคนประจำเรือที่ไม่เคยมีส่วนร่วมในการฝึกปฏิบัติบนเรือนั้นมาก่อนในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา จะต้องจัดให้มีการฝึกปฏิบัติภายใน 1 สัปดาห์หลังจากที่มีการเปลี่ยนคนประจำเรือ  การฝึกปฏิบัติเหล่านี้ควรมีการทดสอบแต่ละองค์ประกอบของแผน  อาทิเช่น ภัยคุกคามต่อความปลอดภัยตามรายการที่แสดงไว้ในย่อหน้า 8.9

13.7              ควรจัดให้มีการฝึกซ้อมต่าง ๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัท เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐภาคี ตลอดจนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำเรือ (ถ้ามี) อย่างน้อย 1 ครั้งตามปีปฏิทินและแต่ละครั้งไม่ควรมีระยะห่างกันเกินกว่า 18 เดือน การฝึกซ้อมเหล่านี้ควรมีการทดสอบการสื่อสาร การประสานงาน ความพร้อมของทรัพยากร และการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย การฝึกซ้อมอาจจะดำเนินการโดย

.1         เต็มรูปแบบหรือเหมือนจริง ;

.2         จำลองสถานการณ์บนโต๊ะ หรือจัดสัมมนา ; หรือ

.3         จัดร่วมกับการฝึกซ้อมอื่นๆ เช่น การฝึกการจัดการเหตุฉุกเฉิน หรือ การฝึกซ้อมของหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐเมืองท่า

13.8              ทางการควรยอมรับการมีส่วนร่วมของบริษัทในการฝึกซ้อมร่วมกับรัฐภาคีอื่น

 

14        การรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ

แนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 15, 16, และ 18

 

15        การประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของท่าเรือ

 

บททั่วไป

 

15.1              การประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของท่าเรืออาจดำเนินการโดยองค์กรรักษาความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับ อย่างไรก็ตาม รัฐภาคีควรเป็นผู้อนุมัติรายงานการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของท่าเรือที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว

15.2              ถ้ารัฐภาคีมอบหมายให้องค์กรรักษาความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับดำเนินการทบทวนหรือตรวจสอบการปฏิบัติตามในการจัดทำการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของท่าเรือ แล้วองค์กรรักษาความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับนั้นไม่ควรมีความเกี่ยวข้องกับองค์กรรักษาความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับอื่นที่จัดทำหรือช่วยในการจัดทำการประเมินนั้น

15.3              รายงานการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของท่าเรือควรระบุถึงองค์ประกอบภายในท่าเรือดังต่อไปนี้

.1         การรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ

.2         โครงสร้างโดยรวม

.3         ระบบการคุ้มครองบุคคล

.4         นโยบายเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติ

.5         ระบบวิทยุและการสื่อสาร รวมทั้งระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย

.6         โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งที่เกี่ยวข้อง

.7         สาธารณูปโภค และ

.8         พื้นที่อื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อบุคคล หรือทรัพย์สิน หรือการปฏิบัติการภายในท่าเรือ หากถูกทำลายหรือใช้เป็นที่หลบซ่อนการตรวจ     

 

15.4              ผู้ที่เกี่ยวข้องในการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของท่าเรือควรจะสามารถขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเกี่ยวกับ

.1          ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบและภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัยในปัจจุบัน;

.2         การทำความรู้จักและการตรวจหา อาวุธ วัตถุ และอุปกรณ์อันเป็นอันตราย;

.3         การทำความรู้จักลักษณะและรูปแบบพฤติกรรมของบุคคลที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ;

.4         เทคนิคที่ใช้เพื่อทำลายหรือหลีกเลี่ยงมาตรการรักษาความปลอดภัย

.5         วิธีการที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย

.6         ผลกระทบของวัตถุระเบิดต่อโครงสร้างและบริการของท่าเรือ

.7         การรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ

.8         วิธีปฏิบัติทางด้านธุรกิจของท่าเรือ

.9         การวางแผนฉุกเฉิน การเตรียมความพร้อมและการจัดการในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

.10       มาตรการรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ เช่น รั้ว

.11       ระบบวิทยุและการสื่อสาร รวมทั้งระบบคอมพิวเตอร์ และเครือข่าย

.12       การขนส่งและวิศวกรรมโยธา และ

.13       การปฏิบัติการของเรือและท่าเรือ

 

 

การระบุและการประเมินค่าทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการป้องกัน

 

15.5              การระบุและการประเมินค่าทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเป็นกระบวนการที่กำหนดความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งติดตั้งต่างๆที่มีต่อการปฏิบัติงานของท่าเรือ   กระบวนการระบุและประเมินค่านี้มีความสำคัญเพราะจะใช้เป็นพื้นฐานในการจัดทำมาตรการบรรเทาเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐานซึ่งการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า กระบวนการนี้ควรคำนึงถึงการสูญเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้น ความสำคัญทางเศรษฐกิจ ของท่าเรือ คุณค่าในเชิงสัญลักษณ์ และสิ่งติดตั้งต่างๆของรัฐบาล

15.6              การระบุและการประเมินค่าเกี่ยวกับทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐานใช้เพื่อกำหนดลำดับความสำคัญในการป้องกันทรัพย์สินหรือโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ข้อพิจารณาหลักคือควรหลีกเลี่ยงมิให้เกิดการสูญเสียชีวิตหรือการบาดเจ็บ นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือท่าเรือ  โครงสร้างพื้นฐาน หรือสิ่งติดตั้งเหล่านั้นสามารถทำงานต่อไปได้โดยปราศจากทรัพย์สินดังกล่าวหรือไม่ และจะใช้เวลานานเท่าใดจึงจะจัดหาทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติโดยเร็วเท่าที่จะเป็นไปได้

15.7              ทรัพย์สิน และโครงสร้างพื้นฐานที่ควรพิจารณาว่ามีความสำคัญในการป้องกัน อาจรวมถึง

.1         ทางเข้าออก ประตูเข้า ช่องทางและที่ทอดสมอ พื้นที่ที่เรือใช้กลับลำและเทียบท่า

.2         สิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับสินค้า สถานี พื้นที่จัดเก็บ และอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า

.3         ระบบต่างๆ เช่น ระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้า ระบบวิทยุและการสื่อสาร ระบบคอมพิวเตอร์ และเครือข่าย 

.4         ระบบการจัดการจราจรของเรือในท่าเรือ และเครื่องช่วยในการเดินเรือ             

.5         โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า ท่อทางสำหรับเคลื่อนย้ายสินค้า และน้ำประปา

.6         สะพาน ทางรถไฟ และถนน

.7         เรือบริการของท่าเรือ รวมทั้งเรือนำร่อง เรือลากจูง และเรือลำเลียง

.8         อุปกรณ์และระบบรักษาความปลอดภัย และเตือนภัย

.9         บริเวณพื้นน้ำที่อยู่ติดกับท่าเรือ

 

15.8              การระบุทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างชัดเจนนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการประเมินความต้องการในการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ การจัดลำดับความสำคัญของมาตรการป้องกัน และการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรในการป้องกันท่าเรือให้ดีขึ้น กระบวนการนี้อาจมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับท่าเรือ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายภายในท่าเรือ หรือถูกใช้เพื่อจุดมุ่งหมายในการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ท่าเรือหรือเพื่อแอบซุ่มสังเกตการณ์ท่าเรือหรือเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ

 

การระบุภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐาน และแนวโน้มของการเกิดเหตุร้ายเพื่อกำหนดและจัดลำดับความสำคัญของมาตรการรักษาความปลอดภัย

 

15.9              ควรระบุการกระทำที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐาน และวิธีดำเนินการของการกระทำเหล่านั้น เพื่อใช้ประเมินจุดอ่อนของทรัพย์สินหรือสถานที่เกิดเหตุที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย และกำหนดตลอดจนจัดลำดับความสำคัญของความต้องการในการรักษาความปลอดภัยเพื่อช่วยให้สามารถวางแผนและจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม การระบุและการประเมินการกระทำและวิธีดำเนินการควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัจจัยหลายประการ รวมทั้งการประเมินภัยคุกคามโดยหน่วยงานของรัฐบาล  การระบุและการประเมินภัยคุกคามจะช่วยให้ผู้ที่ดำเนินการประเมินไม่ต้องใช้สถานการณ์จำลองที่เลวร้ายที่สุดในการวางแผนและการจัดสรรทรัพยากร

15.10           การประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของท่าเรือควรรวมถึงการประเมินที่จัดทำโดยการปรึกษาหารือกับองค์กรรักษาความปลอดภัยแห่งชาติที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนด

.1         ส่วนของท่าเรือรวมทั้งเรือที่เข้ามาใช้ท่าเรือซึ่งทำให้น่าจะเป็นเป้าหมายของการโจมตี

.2         ผลที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตีท่าเรือในด้านการสูญเสียชีวิต ความเสียหายต่อทรัพย์สิน และการชะงักงันทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการทำให้ระบบการขนส่งหยุดชะงัก 

.3         ความสามารถและความตั้งใจของผู้ที่มีแนวโน้มจะโจมตี

.4         ประเภทหรือรูปแบบของการโจมตี เพื่อนำมาใช้ในการประเมินระดับของความเสี่ยง ซึ่งใช้จัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัย

15.11           การประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของท่าเรือควรพิจารณาภัยคุกคามที่อาจเป็นไปได้ทั้งหมด ซึ่งอาจรวมถึงเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยประเภทต่างๆ ดังนี้

.1         ความเสียหายต่อ หรือการถูกทำลายของท่าเรือ หรือเรือโดยวิธีต่างๆ เช่น การลอบวางระเบิด การวางเพลิง การก่อวินาศกรรม หรือ การทำลายทรัพย์สิน

.2         การปล้นหรือยึดเรือ หรือบุคคลบนเรือ

.3         การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสินค้า อุปกรณ์หรือระบบของเรือ หรือของใช้ประจำเรือที่สำคัญโดยไม่ได้รับอนุญาต

.4         การเข้าไปหรือใช้สิ่งของโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งกรณีของผู้ที่แอบขึ้นเพื่อเดินทางไปกับเรือ 

.5         การลักลอบนำอาวุธหรืออุปกรณ์ รวมทั้งอาวุธที่มีฤทธิ์ทำลายล้างสูงขึ้นไปบนเรือ

.6         การใช้เรือเพื่อบรรทุกหรือขนผู้ที่ตั้งใจก่อเหตุการณ์ที่อาจส่งกระทบต่อความปลอดภัย และอุปกรณ์ของบุคคลเหล่านั้น

.7         การใช้เรือเป็นอาวุธหรือเป็นเครื่องมือก่อเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายหรือการทำลาย

.8         การปิดทางเข้าท่าเรือ ประตูกั้นน้ำ ช่องทางเดินเรือ เป็นต้น 

.9         การโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ และสารเคมี 

 

15.12           กระบวนการดังกล่าวควรจะมีการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ใกล้เคียงกับท่าเรือซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อท่าเรือ หรือถูกใช้เป็นที่แอบซุ่มสังเกตุการณ์หรือเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ

 

การระบุ การเลือก และการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการต่อต้าน และการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการปฏิบัติ และระดับของประสิทธิผลในการลดจุดอ่อน

 

15.13           ควรมีการระบุและการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการต่อต้านเพื่อให้แน่ใจว่ามีการนำมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิผลมากที่สุดมาใช้ในการลดจุดอ่อนของท่าเรือ หรือการปฏิบัติการระหว่างเรือและท่าเรือต่อภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น

15.14           ควรเลือกมาตรการรักษาความปลอดภัยบนพื้นฐานของปัจจัยต่างๆ เช่น ปัจจัยที่ช่วยลดโอกาสของการถูกโจมตีและควรประเมินมาตรการดังกล่าวโดยใช้ข้อมูลดังต่อไปนี้

.1         การสำรวจ การตรวจ  และการตรวจสอบการรักษาความปลอดภัย 

.2         การปรึกษาหารือกับเจ้าของ และผู้ประกอบการท่าเรือ และเจ้าของ/ผู้ประกอบการของสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บริเวณใกล้เคียงหากเห็นสมควร

.3         ข้อมูลในอดีตเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการรักษาความปลอดภัย

.4         การปฏิบัติการภายในท่าเรือ

 

การระบุจุดอ่อนของท่าเรือ

 

15.15           การระบุจุดอ่อนในโครงสร้างทางกายภาพ ระบบการคุ้มครองบุคคล กระบวนการต่างๆ หรือพื้นที่อื่นๆที่อาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยที่สามารถนำไปใช้ในการกำหนดทางเลือกเพื่อกำจัดหรือลดจุดอ่อนเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น  การวิเคราะห์แสดงถึงจุดอ่อนในระบบรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่มีการป้องกัน เช่น ระบบน้ำประปา สะพาน เป็นต้น ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการทางกายภาพ สิ่งกีดขวางถาวร สัญญาณเตือน อุปกรณ์เตือนภัยฯลฯ

15.16           การระบุจุดอ่อนของท่าเรือควรมีการพิจารณาถึงปัจจัยดังต่อไปนี้

.1         ทางเข้าสู่ท่าเรือและเรือที่จอดเทียบท่าที่ท่าเรือทั้งทางน้ำและบนฝั่ง

.2         โครงสร้างโดยรวมของสะพานเทียบเรือ สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

.3         มาตรการรักษาความปลอดภัยและขั้นตอนการปฏิบัติที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งระบบการแสดงตัว

.4         มาตรการรักษาความปลอดภัยและขั้นตอนการปฏิบัติที่มีอยู่ในปัจจุบันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริการและสาธารณูปโภคต่างๆของท่าเรือ

.5         มาตรการป้องกันอุปกรณ์วิทยุและการสื่อสาร การบริการและสาธารณูปโภคต่างๆของรวมทั้งระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย              

.6         พื้นที่ใกล้เคียงที่อาจถูกใช้ระหว่างหรือเพื่อการโจมตี

.7         ความตกลงกับบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชนที่ให้บริการรักษาความปลอดภัยทางน้ำและบนฝั่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน

.8         นโยบายใดๆที่ขัดหรือแย้งกันระหว่างมาตรการและขั้นตอนการปฏิบัติที่เกี่ยวกับความ และมาตรการและขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย

.9         ท่าเรือและการมอบหมายหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยที่ขัดแย้งกัน

.10       การใช้บังคับ และข้อจำกัดของบุคลากร

.11       ข้อบกพร่องที่ค้นพบระหว่างการฝึกอบรมและการฝึกปฏิบัติ และ

.12       ข้อบกพร่องที่ค้นพบระหว่างการปฏิบัติงานประจำวันหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือการเตือนภัย รายงานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การฝึกซ้อมมาตรการควบคุม การตรวจสอบฯลฯ

 

 

16        แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ

 

บททั่วไป

16.1              การจัดทำแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือ และแม้ว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือจะไม่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดด้วยตนเอง แต่ความรับผิดชอบขั้นสุดท้ายในการดูแลให้การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องยังคงเป็นของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือ

16.2              เนื้อหาของแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือแต่ละฉบับอาจมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ สภาพการณ์เฉพาะของท่าเรือที่อยู่ในบังคับของแผนนี้  การประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของท่าเรือ จะแสดงถึงลักษณะเฉพาะและความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของท่าเรือนั้น ซึ่งทำให้จำเป็นต้องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือและจัดทำแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ ในการจัดทำแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจำเป็นต้องทราบถึงลักษณะดังกล่าวและข้อพิจารณาที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยอื่นๆทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ซึ่งจะต้องระบุไว้ในแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือเพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดเหตุฝ่าฝืนการรักษาความปลอดภัยและผลอันสืบเนื่องจากความเสี่ยงต่างๆ  รัฐภาคีอาจจัดทำคำแนะนำในการจัดทำและเนื้อหาของแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือด้วย

16.3              แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือทุกฉบับควร

.1         แสดงรายละเอียดขององค์กรที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยของท่าเรือนั้น

.2         แสดงรายละเอียดความสัมพันธ์ขององค์กรที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆและระบบการสื่อสารที่จำเป็นเพื่อให้องค์กรฯ สามารถปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผลและมีความต่อเนื่อง และมีความสัมพันธ์กับฝ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมถึงเรือที่อยู่ในท่าเรือ

.3         แสดงรายละเอียดของมาตรการรักษาความปลอดภัยพื้นฐานระดับที่ 1 ทั้งในด้านการปฏิบัติการและทางกายภาพซึ่งจะนำมาใช้

.4         แสดงรายละเอียดของมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมซึ่งจะช่วยให้ท่าเรือสามารถปรับระดับการรักษาความปลอดภัยไปสู่ระดับที่ 2 และระดับที่ 3 ได้ โดยไม่ชักช้า

.5         ให้มีการทบทวนหรือตรวจสอบแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรืออย่างสม่ำเสมอและมีการปรับปรุงแก้ไขแผนฯ เพื่อให้สอดคล้องกับประสบการณ์ที่ได้รับหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และ

.6         แสดงรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติในการจัดทำรายงาน เพื่อนำเสนอผู้ประสานงานของรัฐภาคี

16.4              การจัดทำแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือที่มีประสิทธิผลจะต้องอาศัยการประเมินประเด็นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยของท่าเรืออย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในลักษณะทางกายภาพและปฏิบัติการของท่าเรือแต่ละแห่ง

16.5              รัฐภาคีจะต้องอนุมัติแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือของท่าเรือที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของตน โดยรัฐภาคีจะต้องจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อใช้ประเมินประสิทธิผลอย่างต่อเนื่องของแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ แต่ละแผน และอาจกำหนดให้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขแผน PFSP ก่อนการอนุมัติแผนในครั้งแรกหรือภายหลังการอนุมัติแผน แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องมีบทบัญญัติให้เก็บรักษาบันทึกสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและภัยคุกคาม การทบทวน การตรวจสอบ การฝึกอบรม การฝึกปฏิบัติ และการฝึกซ้อมด้านการรักษาความปลอดภัยไว้เป็นหลักฐานเพื่อแสดงว่าได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนด ดังกล่าวจริง

16.6              มาตรการรักษาความปลอดภัยที่บรรจุในแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรมีผลทางปฏิบัติภายในช่วงเวลาที่เหมาะสมหลังจากที่แผนฯ ได้รับอนุมัติ และแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรกำหนดเวลาที่มาตรการแต่ละอย่างมีผลทางปฏิบัติ หากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความล่าช้าใด ๆ ในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของแผน ฯ จะต้องมีการหารือกับรัฐภาคีผู้รับผิดชอบในการอนุมัติแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือนั้น และต้องจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยชั่วคราวที่มีระดับการรักษาความปลอดภัยเทียบเท่ากับมาตรการปกติ ซึ่งมาตรการชั่วคราวนี้ควรกำหนดให้ใช้ได้ในช่วงเวลาหนึ่งตามที่ตกลงกันเท่านั้น

16.7              การใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ บนหรือใกล้เรือและในเขตท่าเรืออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายบางชนิด จึงควรต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเป็นพิเศษ ในกรณีที่รัฐภาคีเห็นว่ามีความจำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธในพื้นที่ดังกล่าว รัฐภาคีนั้นควรกำหนดให้มีการมอบอำนาจและการฝึกอบรมที่เหมาะสมแก่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ในการใช้อาวุธ และเจ้าหน้าที่เหล่านี้ควรตระหนักถึงความเสี่ยงต่อความปลอดภัยซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ หากรัฐภาคีให้อำนาจในการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ก็ควรจัดทำคู่มือความปลอดภัยในการใช้อาวุธนี้ด้วย ซึ่งแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องมีข้อกำหนดโดยเฉพาะในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้มาตรการดังกล่าวกับเรือที่บรรทุกสินค้าอันตรายหรือวัตถุอันตราย

 

การจัดองค์กรและการปฏิบัติหน้าที่การรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ

16.8              นอกเหนือจากแนวทางที่กล่าวถึงในวรรคที่ 16.3 แล้ว แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรกำหนดรายละเอียดที่เกี่ยวกับระดับของการรักษาความปลอดภัยทุกระดับ ดังต่อไปนี้

.1         บทบาทและโครงสร้างขององค์รักษาความปลอดภัยของท่าเรือ

.2         หน้าที่ ความรับผิดชอบ และข้อกำหนดด้านการฝึกอบรม สำหรับเจ้าหน้าที่ของท่าเรือทั้งหมด ซึ่งมีบทบาทในการรักษาความปลอดภัย และมาตรการปฏิบัติ เพื่อให้สามารถประเมินประสิทธิผลของเจ้าหน้าที่แต่ละคนได้

.3         ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรรักษาความปลอดภัยของท่าเรือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในด้านการรักษาความปลอดภัยทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

.4         ระบบการสื่อสารเพื่อให้มีการสื่อสารที่มีประสิทธิผลและมีความต่อเนื่อง ระหว่างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือ เรือภายในเขตท่าเรือ และกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านการรักษาความปลอดภัยทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นตามความเหมาะสม

.5         ขั้นตอนการปฏิบัติหรือมาตรการรักษาความปลอดภัยที่จำเป็น เพื่อให้มีการสื่อสารดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

.6         ขั้นตอนการปฏิบัติและวิธีปฏิบัติในการเก็บรักษาข้อมูลที่มีความอ่อนไหวต่อการรักษาความปลอดภัย   ทั้งที่อยู่ในรูปเอกสารและในรูปอิเล็กทรอนิกส์

.7         ขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อใช้ประเมินความมีประสิทธิผลอย่างต่อเนื่องของมาตรการ ขั้นตอนการปฏิบัติ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาความปลอดภัย รวมถึงการตรวจหาและการจัดการกับอุปกรณ์ที่ไม่ทำงานหรือทำงานผิดปกติ

.8         ขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้มีการนำเสนอและการประเมินรายงานที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนความปลอดภัยหรือเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับความปลอดภัย

.9         ขั้นตอนการปฏิบัติที่เกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้า

.10       ขั้นตอนการปฏิบัติที่เกี่ยวกับการจัดส่งของใช้ประจำเรือ

.11       ขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อดูแลรักษาและปรับปรุงบันทึกรายการสินค้าอันตรายและวัตถุอันตราย และสถานที่จัดเก็บภายในเขตท่าเรือ

.12       วิธีการเตือนภัยและเรียกใช้บริการตรวจการณ์ทางน้ำ และหน่วยค้นหาพิเศษซึ่งรวมถึงการค้นหาวัตถุระเบิดและการค้นหาใต้น้ำ

.13       ขั้นตอนการปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำเรือในการยืนยันสถานภาพของผู้ที่จะประสงค์จะขึ้นเรือ เมื่อมีการร้องขอ

.14       ขั้นการปฏิบัติในการอำนวยความสะดวกในการขึ้นฝั่งของคนประจำเรือ หรือการเปลี่ยนคนประจำเรือ     ตลอดจนการขึ้นไปบนเรือของผู้มาติดต่อซึ่งรวมถึงผู้แทนองค์กรด้านแรงงาน และสวัสดิการของคนประจำเรือ

 

16.9              ส่วนที่เหลือของส่วนที่ 16 จะกล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยที่สามารถนำมาใช้กับระดับการรักษาความปลอดภัยแต่ละระดับ ซึ่งครอบคลุมถึง

.1         การเข้าไปในเขตท่าเรือ

.2         เขตหวงห้ามภายในท่าเรือ

.3         การขนถ่ายสินค้า

.4         การจัดส่งของใช้ประจำเรือ

.5         การขนถ่ายสัมภาระที่บุคคลไม่ได้ถือไปกับตัว

.6         การกำกับดูแลการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ

 

การผ่านเข้าไปในเขตท่าเรือ

16.10           แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยซึ่งครอบคลุมถึงวิธีการผ่านเข้าไปในเขตท่าเรือในทุกรูปแบบตามที่ได้ระบุไว้ในการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของท่าเรือ

16.11           ในแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือแต่ละแผนควรมีการกำหนดเขตหวงห้าม หรือห้ามเข้า ตามความเหมาะสมซึ่งจะใช้กับการรักษาความปลอดภัยแต่ละระดับ และในการรักษาความปลอดภัยแต่ละระดับก็ควรมีการกำหนดประเภทของการจำกัดหรือห้ามเข้าที่จะนำมาใช้ และวิธีการใช้บังคับ

16.12           แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรกำหนดวิธีการแสดงตัวเพื่อเข้าไปในเขตท่าเรือ และสำหรับบุคคลที่จะอยู่ในเขตท่าเรือโดยไม่ก่อเหตุอันตรายใดๆสำหรับการรักษาความปลอดภัยแต่ละระดับโดยอาจจัดทำระบบการแสดงตัวที่เหมาะสมเพื่อให้มีการแสดงตัวทั้งชนิดชั่วคราวและถาวรสำหรับเจ้าหน้าที่ของท่าเรือ และสำหรับผู้มาติดต่อตามลำดับ หากสามารถกระทำได้ระบบการแสดงตัวใด ๆ ของท่าเรือควรมีการประสานงานกับระบบการแสดงตัวของเรือที่มาเข้าเทียบท่าเป็นประจำ ผู้โดยสารควรจะสามารถใช้หลักฐานการแสดงตัว เช่น บัตรผ่านขึ้นเรือ ตั๋วโดยสาร ฯลฯ ได้ แต่ไม่ควรได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตหวงห้ามโดยไม่มีการควบคุมดูแล แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรกำหนดบทบัญญัติที่ให้มีการปรับปรุงระบบการแสดงตัวให้ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ และการฝ่าฝืนต่อขั้นตอนการปฏิบัติดังกล่าวควรจะต้องมีการลงโทษทางวินัยอย่างเคร่งครัด

16.13           ไม่ควรอนุญาตให้ผู้ที่ไม่ประสงค์หรือไม่สามารถแสดงตัวและ/หรือ ยืนยันจุดมุ่งหมายในการมาติดต่อท่าเรือเมื่อถูกร้องขอเข้าไปเขตท่าเรือ และควรรายงานการติดต่อขอเข้าไปในเขตท่าเรือดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือและต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัย ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

16.14           แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือจะต้องกำหนดสถานที่สำหรับตรวจค้นบุคคล ของใช้ส่วนตัวและยานพาหนะซึ่งควรจะอยู่ภายในอาคารเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในทุกสภาพอากาศตามความถี่ที่กำหนดไว้ในแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ เมื่อต้องมีการตรวจค้นควรแยก บุคคล ของใช้ส่วนตัว และยานพาหนะไปยังเขตกักกัน เขตขึ้นลงเรือหรือพื้นที่จอดรถโดยทันที

16.15           แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรกำหนดให้แยกพื้นที่สำหรับบุคคล และของใช้ส่วนตัวที่ได้ผ่านการตรวจสอบแล้วออกจากส่วนที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ และหากเป็นไปได้ ควรมีการแยกพื้นที่เฉพาะสำหรับผู้โดยสารขาเข้าและขาออก คนประจำเรือ และของใช้ส่วนตัว เพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบจะไม่สามารถไปติดต่อบุคคลที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบได้

16.16           แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรกำหนดความถี่ของการใช้ระบบควบคุมทางเข้าออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการใช้ระบบควบคุมดังกล่าวแบบสุ่มตรวจหรือเป็นครั้งคราว

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1

16.17           ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1 แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรกำหนดควบคุมขึ้นโดยอาจใช้มาตรการรักษาความปลอดภัย ดังต่อไปนี้

.1         เขตหวงห้าม ซึ่งควรมีการกำหนดขอบเขตโดยการกั้นรั้วหรือสิ่งกีดขวางตามมาตรฐานซึ่งได้รับการยอมรับโดยรัฐภาคี

.2         การตรวจสอบหลักฐานการแสดงตัวของทุกคนที่ประสงค์จะเข้าไปภายในเขตท่าเรือ   ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรือ ซึ่งรวมถึงผู้โดยสาร คนประจำเรือและผู้มาติดต่ออื่น ๆ และต้องมีการยืนยันขอทราบเหตุผลในการขอเข้าไปภายในเขตท่าเรือ โดยการตรวจสอบต่าง ๆ เช่น เอกสารแนะนำตัว ตั๋วโดยสาร  บัตรผ่านขึ้นเรือ ใบสั่งงาน ฯลฯ

.3         การตรวจสอบยานพาหนะของผู้ที่ประสงค์จะเข้าไปภายในเขตท่าเรือ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรือ

.4         การตรวจสอบหลักฐานการแสดงตัวของเจ้าหน้าที่ของท่าเรือ และผู้รับจ้างที่เข้ามาทำงานภายในเขตท่าเรือ และยานพาหนะ

.5         การจำกัดการเข้าออกเพื่อไม่ให้ผู้ที่ท่าเรือไม่ได้จ้าง หรือผู้ที่ไม่ได้ทำงานในท่าเรือ และไม่สามารถแสดงหลักฐานการแสดงตัว เข้าไปในเขตท่าเรือโดยเด็ดขาด

.6         การดำเนินการตรวจค้นบุคคล ของใช้ส่วนตัว ยานพาหนะ และส่วนประกอบอื่น ๆ

.7         การระบุจุดผ่านเข้าออกที่ไม่ได้ใช้เป็นประจำซึ่งควรจะปิดและล็อกอย่างถาวร

 

16.18           ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 1 ผู้ที่ประสงค์จะเข้าไปภายในเขตท่าเรือจะต้องยอมให้ตรวจค้น ความถี่ของการตรวจค้นดังกล่าวรวมถึงการตรวจค้นแบบสุ่มตรวจจะต้องกำหนดไว้ในแผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือที่ได้รับอนุมัติแล้ว และต้องได้รับอนุมัติจากรัฐภาคีนั้นเป็นการเฉพาะ  หากไม่มีเหตุผลด้านการรักษาความปลอดภัยที่ชัดเจนไม่ควรให้คนประจำเรือตรวจค้นคนประจำเรือและของใช้ส่วนตัวด้วยกันเอง การตรวจค้นในทุกรูปแบบควรกระทำในลักษณะที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ขั้นพื้นฐาน

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2

 

16.19           ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 2 แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม ซึ่งอาจรวมถึง

.1         การจัดให้มีเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมประจำที่จุดผ่านเข้าออกและตรวจการณ์โดยรอบเขตท่าเรือ;

.2         การจำกัดจำนวนจุดผ่านเข้าออกเขตท่าเรือ และกำหนดจุดผ่านเข้าออกที่ต้องปิดและวิธีการรักษาความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ;

.3         การจัดให้มีสิ่งกีดขวางการเข้าออกที่จุดผ่านเข้าออกที่ยังคงเปิดใช้งาน เช่น การจัดให้มีไม้กั้นรักษาความปลอดภัย ;

.4         การเพิ่มความถี่ในการตรวจค้น บุคคล ของใช้ประจำตัว และยานพาหนะ ;

.5         การไม่อนุญาตให้ผู้มาติดต่อซึ่งไม่สามารถแสดงหลักฐานการแสดงตัวที่เหมาะสมเข้าไปในเขตท่าเรือ

.6         การใช้เรือตรวจการณ์ เพื่อเพิ่มการรักษาความปลอดภัยทางน้ำ

 

การรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3

16.20           ที่ระดับการรักษาความปลอดภัยระดับที่ 3 ท่าเรือควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือภัยคุกคามจากเหตุการณ์ดังกล่าว แผนการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือควรมีรายละเอียดมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งท่าเรือสามารถนำมาใช้ โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้รับผิดชอบต่อการรักษาความปลอดภัยดังกล่าว และเรือที่จอดอยู่ภายในเขตท่าเรือ ซึ่งอาจรวมถึง

.1         การห้ามเข้าในเขตท่าเรือทั้งหมด หรือบางส่วน

.2         การอนุญาตให้ผ่านเข้าออกได้เฉพาะผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือภัยคุกคาม

.3         การห้ามคนเดินเท้าหรือยานพาหนะ สัญจรภายในเขตท่าเรือทั้งหมดหรือบางส่วน

.4         การเพิ่มการตรวจการณ์รักษาความปลอดภัยภายในท่าเรือตามความเหมาะสม

.5         การสั่งระงับการปฏิบัติการท่าเรือภายในเขตท่าเรือทั้งหมดหรือบางส่วน

.6         การควบคุมทิศทางการเดินเรือภายในเขตท่าเรือทั้งหมดหรือบางส่วน

.7         การอพยพบุคคลออกจากท่าเรือทั้งหมดหรือบางส่วน

 


§         ข้อกำหนดภาคบังคับเกี่ยวกับบทบัญญัติ ISPS Code ของบทที่ 11-2 ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ.1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติม

§         แนวทางสำหรับบทบัญญัติ ISPS Code ของบทที่ 11-2 ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล 1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมและภาค ก ของประมวลข้อบังคับนี้ (ส่วนที่ 1)

§         แนวทางสำหรับบทบัญญัติ ISPS Code ของบทที่ 11-2 ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล 1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมและภาค ก ของประมวลข้อบังคับนี้ (ส่วนที่ 2)

§         แนวทางสำหรับบทบัญญัติ ISPS Code ของบทที่ 11-2 ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล 1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมและภาค ก ของประมวลข้อบังคับนี้ (ส่วนที่ 3)

§         แนวทางสำหรับบทบัญญัติ ISPS Code ของบทที่ 11-2 ของภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล 1974 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมและภาค ก ของประมวลข้อบังคับนี้ (ส่วนที่ 4)

มารีนเนอร์ไทย | MarinerThai.Net | MarinerThai.Com

 

 

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   5991

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

MarinerThai Laws Advertising in marinerthai.net

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network